สภาพัฒน์ คาดเศรษฐกิจไทยปี 64 ยังมีความเสี่ยง ปรับเป้า GDP เหลือโต 0.7-1.2% ขณะที่ไตรมาส 2/64 ขยายตัว 7.5% ได้แรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชน
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 64 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 2/64 ขยายตัว 7.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 และขยายตัว 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/64 โดยแรงหนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน ที่ขยายตัว 4.6% และการลงทุนรวมขยายตัว 8.1% โดยการลงทุนจากภาคเอกชนขยายตัว 9.2% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 5.6% ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 36.2%
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2564 นั้น คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 0.7% - 1.2% หรือฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากการลดลง 6.1% ในปี 63 แต่เป็นการปรับลดจาก 1.5% - 2.5% ในการประมาณการครั้งก่อน โดยการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปี 64 ยังมีข้อจำกัด และปัจจัยเสี่ยงสำคัญๆ ดังนี้
1. การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงและยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง
2. ข้อจำกัดด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ท่ามกลางการว่างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่
3. ภาคการส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดในพื้นที่การผลิต รวมทั้ง ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ
4. ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก
ส่วนปัยจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 ยังมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ได้แก่
1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก
2. แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายลงทุน และมาตรการเศรษฐกิจของภาครัฐ
3. การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของรายได้ภาคเกษตร และ
4. ฐานการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออก สินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ จะขยายตัว 16.3% การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 1.1% และ 4.7% ตามลำดับ และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 8.7% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.0% - 1.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลอยู่ที่ 2.0% ของ GDP
นอกจากนี้ สภาพัฒน์ ยังให้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2564 ดังนี้
1. ควรให้ความสำคัญการควบคุมสถานการณ์การระบาดให้อยู่ในวงจำกัด
2. ควรให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจในช่วงที่การระบาดของโรคมีความรุนแรง และมีการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด
3. ควรรดำเนินมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เมื่อสถานการณ์การระบาดผ่อนคลายลง
4. ควรขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า
5. ควรรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
6. ควรส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน
7. ควรรักษาบรรยากาศทางการเมืองและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ.