โควิดป่วนหนัก เนื้อไก่–ไข่ไก่ขาดตลาด กรมปศุสัตว์ขอผู้เลี้ยงยืดอายุแม่ไก่ยืนกรง หวังเพิ่มไข่เข้าระบบ 1–2 ล้านฟองต่อวัน คาดปลายเดือน ส.ค.นี้จะเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ขณะที่โรงงานชำแหละไก่ปิดชั่วคราวเพียบ “พาณิชย์” เร่งประสานหน่วยงานรัฐ–ผู้เลี้ยงไก่แก้ปัญหา เพื่อให้ผลิตไก่ส่งให้ผู้บริโภคใน–ต่างประเทศได้ทันและเพียงพอต่อความต้องการ
นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนงดการเดินทางออกนอกบ้านเป็นจำนวนมาก จึงมีการตุนอาหารเพื่อลดการออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะไข่ไก่ จึงเป็นสินค้าที่คนส่วนใหญ่ซื้อเพื่อตุนไว้บริโภคในครัวเรือนมากขึ้น เพราะเป็นโปรตีนราคาถูก และรับประทานง่าย ทำได้หลากหลายเมนู เก็บรักษาง่ายไม่จำเป็นต้องเก็บในตู้เย็น
โดยสถานการณ์หลังจากรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ครั้งล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้สำรวจตลาด พบว่าตามห้างสรรพสินค้าและร้านขายไข่สดไม่มีไข่ขาย ทำให้ราคาไข่ปรับตัวสูงขึ้น เพราะความต้องการไข่มีมากกว่าผลผลิต กรมปศุสัตว์จึงได้ขอความร่วมมือไปยังสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศ ให้ยืดอายุปลดแม่ไก่ยืนกรงเพิ่มออกไป 85-90 สัปดาห์ จากปกติจะปลดแม่ไก่ยืนกรงเมื่ออายุครบ 75 สัปดาห์ ในช่วงไข่ไก่ขาดตลาดไปก่อน เพราะมีความต้องการสูง จึงต้องยืดอายุแม่ไก่ที่ออกไข่ได้ไปเพื่อเพิ่มปริมาณไข่ในตลาดอีกประมาณ 1-2 ล้านฟองต่อวัน
ทั้งนี้ แม่ไก่ยืนกรงปกติมีประมาณ 50.6 ล้านตัว สามารถออกไข่ได้ประมาณ 41 ล้านฟอง ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณความต้องการบริโภคในแต่ละวัน แต่เมื่อมีการล็อกดาวน์ ทำให้ประชาชนแห่ซื้อไข่ตุนไว้บริโภคในบ้านเรือนมากขึ้น 2-3 เท่าจากปกติ ทำให้ไข่หายจากระบบ แต่เมื่อขอความร่วมมือยืดอายุแม่ไก่ยืนกรงที่ทั่วประเทศมีประมาณ 50.6 ล้านตัวออกไป 85-90 สัปดาห์ จะสามารถเพิ่มผลผลิตไข่ได้ประมาณ 1.5 ล้านฟอง ทำให้ช่วงสิ้นเดือนสิงหาคมหรือไม่เกินช่วงกันยายนนี้ จะมีผลผลิตไข่ออกสู่ตลาดประมาณ 42-43 ล้านฟอง/วัน และสถานการณ์ของผลผลิตไข่ไก่และความต้องการบริโภคจะเข้าสู่สมดุล
“กระทรวงพาณิชย์ยังได้ขอความร่วมมือ ให้ดูแลราคาไข่คละหน้าฟาร์มให้อยู่ที่ราคาเฉลี่ย 3 บาทต่อฟอง จากต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 2.70-2.90 บาทต่อฟอง แต่หากความต้องการยังคงสูงต่อเนื่อง ยอมรับว่าอาจมีพวกฉวยโอกาสกักตุนไข่เพื่อโก่งราคา ซึ่งระยะนี้คงต้องปล่อยให้ไข่เป็นไปตามกลไกตลาด แต่จะจับตาราคาและผลผลิตอย่างใกล้ชิดทุกวัน หากพบยังมีปัญหา ไม่ได้รับความร่วมมือจากพ่อค้าขายปลีก และล้งกักตุนไข่เพื่อโก่งราคา กรมปศุสัตว์คงต้องดำเนินการบุกตรวจตามห้องเย็นของล้งต่างๆในประเทศไทยมีประมาณ 100 กว่าแห่ง หากพบก็ต้องใช้กฎหมายการควบคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์เอาผิดทันที”
นายสรวิศ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ต้องยอมรับเกิดความต้องการไข่เทียมขึ้น ในอุตสาหกรรมไข่ เพราะเกิดการตื่นตระหนกที่รัฐบาลมีการประกาศล็อกดาวน์ ทำให้มีการซื้อไข่ตุนจำนวนมากขึ้น และยังมีเรื่องของการซื้อไข่บริจาคตามโรงพยาบาลสนาม และแคมป์คนงานจำนวนมาก แต่เชื่อว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากมีการขอความร่วมมือให้ยืดอายุไก่ยืนกรงแล้ว สถานการณ์น่าจะดีขึ้น ประกอบกับการระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานผลิตและแปรรูปไก่ ทำให้โรงงานชำแหละไก่
ต้องปิด ตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ส่งผลให้เนื้อไก่ไม่เพียงพอกับความต้องการ ประชาชนจึงหันมาซื้อไข่บริโภคแทนด้วย
“นอกจากความตระหนกจากการล็อกดาวน์แล้ว การระบาดของโควิดที่พุ่งสูงขึ้น ยังส่งผลให้โรงงานขาดแรงงาน รวมทั้งรัฐบาลสั่งปิดโรงงานที่พนักงานติดโควิด ส่งผลให้ขณะนี้ แม้ราคาไก่หน้าฟาร์มของเกษตรกรจะมีราคาถูก พ่อค้าไม่กล้าเข้าไปรับซื้อ เพราะกลัวปัญหาโรคโควิด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กำลังประสานกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเอกชนผู้เลี้ยงไก่ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา ที่ไม่สามารถผลิตไก่และส่งให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้ทัน และเพียงพอต่อความต้องการ”.