นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.64 ที่สำรวจประชาชนตัวอย่างทั่วประเทศ 2,238 คนว่า ดัชนีเชื่อมั่นปรับลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 นับจากเดือน มี.ค.64 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.64 อยู่ที่ 40.9 ลดจาก 43.1 ในเดือน มิ.ย.64 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มสำรวจในเดือน ต.ค.41 หรือต่ำสุดในรอบ 274 เดือน (22 ปี 10 เดือน) ส่วนดัชนีเชื่อมั่นในปัจจุบันอยู่ที่ 26.6 ลดจาก 28.1 ต่ำสุดในรอบ 269 เดือน หรือ 22 ปี 5 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค.42, ดัชนีเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ที่ 47.6 ลดจาก 50.1 ต่ำสุดรอบ 274 เดือน หรือ 22 ปี 10 เดือน ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 35.3 ลดจาก 37.3, ดัชนีเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานอยู่ที่ 38.0 ลดจาก 40.0 และดัชนีเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 49.6 ลดจาก 52
นายธนวรรธน์กล่าวต่อว่า ล็อกดาวน์ 13 จังหวัด คาดเศรษฐกิจเสียหายเดือนละ 200,000-300,000 ล้านบาท แต่เดือน ส.ค.เพิ่มเป็น 29 จังหวัด เศรษฐกิจเสียหายเพิ่มเป็น 300,000-400,000 ล้านบาท รวม 2 เดือนเสียหาย 500,000-700,000 ล้านบาท ทำให้จีดีพีติดลบ 3% แต่ถ้ารัฐคุมโควิดได้เดือน ก.ย.-ต.ค.เป็นต้นไป จากนั้นก็เข้าสู่การฟื้นฟู ซึ่งเงินกู้ 500,000 ล้านบาทไม่พอแน่นอน ต้องกู้เพิ่มอีก 500,000 ล้านบาท อย่างน้อย เพื่อใช้เงิน 1 ล้านล้านบาทมากระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องเตรียมขยายเพดานเงินกู้อีก 5-10% ของจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ 60% และใกล้เต็มเพดานแล้ว “คาดว่า เศรษฐกิจปีนี้อาจติดลบ 2-0% จากเดิมที่คาดโตได้ไม่ต่ำกว่า 1% แต่ถ้าเดือน ก.ย.โควิดคลายตัวและรัฐอัดฉีดเงินเข้าไป ทั้งปีก็อาจโตได้ 1% ด้วยซ้ำ แต่ถ้าโควิดเอาไม่อยู่และล็อกดาวน์ต่ออีก 1 เดือน ทั้งปีก็อาจติดลบ 2-4% ตอนนี้ยังไม่ชัดว่ารัฐบาลจะคุมได้หรือไม่และจะอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน”.