ฟังเสียงสะอื้นจากพนักงานสายการบิน วอนรัฐให้เงินกู้ Soft Loan ต่อลมหายใจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ฟังเสียงสะอื้นจากพนักงานสายการบิน วอนรัฐให้เงินกู้ Soft Loan ต่อลมหายใจ

Date Time: 21 ก.ค. 2564 17:16 น.

Video

แก้เกมหุ้นไทยตกต่ำ ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดแผนฟื้นความเชื่อมั่น | Money Issue

Summary

  • ฟังเสียงพนักงานสายการบิน ในวันที่รู้ว่าสิ้นเดือนนี้บริษัทจะไม่มีเงินจ่ายเงินเดือน ขณะที่ 7 สายการบิน ขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ปลอดหลักทรัพย์ค้ำประกัน 5 พันล้านบาท ประคองจ่ายพนักงานเกือบ 2 หมื่นค

Latest


ฟังเสียงพนักงานสายการบิน ในวันที่รู้ว่าสิ้นเดือนนี้บริษัทจะไม่มีเงินจ่ายเงินเดือน ขณะที่ 7 สายการบิน ขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ปลอดหลักทรัพย์ค้ำประกัน 5 พันล้านบาท ขอแค่ประคองจ่ายพนักงาน 2 หมื่นคนถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น หลังยื่นพิจารณามาเเล้วกว่า 478 วัน หยุดบินกว่า 17 เดือน

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 64 กิ๊ฟ ตัวแทนจากพนักงานของสายการบินแห่งหนึ่ง เปิดเผยกับ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" นับตั้งโควิดระบาดรอบใหม่นี้ เราไม่ได้ทำงานเข้าเดือนที่ 3 แล้ว หากย้อนไทม์ไลน์ไปตอนปี 63 ช่วงเดือน เม.ย. สายการบินได้ทำการหยุดบินตามที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ จากนั้นไม่นานก็กลับมาบินภายในประเทศได้อีกครั้ง โดยรอบนั้น มีลูกเรือ นักบิน และพนักงานส่วนหนึ่งต้องหยุดงาน

โดยใช้สิทธิลาไม่รับเงินเดือน หรือ Leave Without Pay กับอีกหนึ่งกลุ่มที่สลับกันบิน โดยได้ค่าจ้างตามวันที่ทำงาน หรือ ได้เป็นเงินเดือนแต่จะใช้สิทธ์ Leave Without Pay 7 วันบ้าง 15 บ้าง ซึ่งช่วงปลายปี 63 สถานการณ์ก็เริ่มกลับมาดี แต่ปรากฏว่าโควิดระบาดอีกรอบ สายการบินหลายแห่งก็ต้องปรับลดเที่ยวบินอีกครั้ง

ช่วงที่พนักงานไม่ได้ทำงานก็จะได้รับเงินเดือนเพียง 25% ปกติฐานเงินเดือนของพวกเราน้อยอยู่แล้ว ส่วนที่ได้มากที่สุดคือค่าเที่ยวบิน แต่พอทุกอย่างถูกลดลงก็ทำให้รายได้หายไป จากหลักหมื่นเหลือแค่หลักพัน เช่นตัวเองที่เป็นลูกเรือสายการบินหนึ่ง ได้เงินเดือนประมาณ หมื่นกว่าบาท ทุกวันนี้บริษัทจ่ายเงินเดือน 25% ก็เท่ากับ 3,000 บาท

"แม้พวกเราจะได้รับเงินเดือนแค่ 3 พัน แต่ก็ต้องจ่ายประกันสังคม เงินเยียวยาที่กำลังจะได้ก็คือ 2,500 บาท เพราะอยู่ใน ม.33 และอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบแต่เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เราแทบจะไม่ได้รับการเยียวยาอะไรเลย ไม่ใช่ว่าพวกเราไม่ปรับตัวนะ ลูกเรือหลายคนไปเปิดร้านอาหาร ทำอาหารเดลิเวอรี ขายของออนไลน์ ไปสมัครงานบริษัท สายการบินก็ใจดี ใคร Leave Without Pay นานๆ ก็ให้ไปหางานทำได้ แต่พอไปขายก็ได้รับผลกระทบอีก ร้านอาหารโดนปิดบ้าง ร้านขายของก็โดนปิดอีก"

กิ๊ฟ บอกอีกว่า ในต่างประเทศ ธุรกิจสายการบินหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นของตะวันออกกลางหรือของยุโรป ก็เรียกพนักงานกลับไปบินเหมือนเดิมแล้ว เพราะรัฐบาลเขาระดมฉีดวัคซีน พร้อมมาตรการรองรับเป็นจุดๆ ทำให้น่านฟ้าหลายแห่งทำการบินเป็นปกติ แต่ของไทย คือ หยุดบิน อย่างเช่น ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ที่เราเห็นกัน มีแค่การบินไทยเจ้าเดียว นอกนั้นเป็นสายการบินต่างประเทศทั้งหมด

"พวกเราปรับตัวมาโดยตลอด แต่เมื่อสภาพคล่องไม่มี สิ้นเดือนนี้บริษัทจะไม่มีเงินจ่ายพนักงานแล้ว คุณคิดดูสิเงินแค่ 3 พันบาท บริษัทก็จะไม่มีจ่ายเราแล้ว ในฐานะที่เป็นลูกจ้างคนหนึ่ง เป็นคนหนึ่งที่จ่ายภาษีทุกบาท ทุกสตางค์ อยากให้รัฐบาลหันมามองพนักงาน ลูกจ้างสายการบินบ้าง ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยเห็นความสำคัญเราเลย ไม่เคยมีมาตรการรองรับ ทุกวันนี้เพื่อนร่วมอาชีพต้องขายบ้าน ขายรถ เพราะอยู่ไม่ไหว จะไปกู้เงินที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะโดนขึ้นแบล็กลิสต์ไว้หมดแล้ว พวกเราพยายามดิ้นทุกทางเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง สิ่งที่อยากให้รัฐบาลทำมากที่สุดคือ ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด และให้ความสำคัญกับสายการบินไทย เพราะถ้าล้มไป 1 เจ้าก็ล้มกันเป็นโดมิโนหมด เราอยากได้รับการเยียวยา มาต่อลมหายใจ ทุกคนไม่ได้งอมืองอเท้า พยายามหาเงินทุกวิธีทาง ให้บริษัทพวกเราได้กู้เงินซอฟต์โลนเถอะ ไม่ได้ช่วยแค่สายการบิน แต่มันช่วยให้คนที่อยู่ในระบบนี้ได้ทำงาน เราทำงานแลกเงิน เราไม่ได้ขอ แม้คนเคยมองว่าอาชีพนี้เงินเยอะ แต่อย่าลืมว่า วิกฤติที่เกิดขึ้น ผ่านมาจะ 2 ปีแล้วไม่แค่ 2 เดือน เห็นใจเราเถอะ"

7 สายการบิน ร้องรัฐบาลช่วยเหลือปล่อยกู้ Soft Loan  

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในฐานะนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ว่า ขณะนี้ สมาชิก 7 สายการบินในประเทศไม่สามารถทนแบกรับต้นทุนที่เกิดขึ้นได้แล้ว จึงออกมารวมตัวกันเพื่อติดตามความช่วยเหลือจากรัฐบาลจากที่ได้เคยเสนอขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท ไปตั้งแต่ มี.ค. 63

โดยติดตามต่อเนื่องจนมาได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเมื่อ 28 ส.ค. 63 และอีกครั้งในปี 64 แต่ก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ล่าสุดสมาคมฯ จึงได้ปรับลดวงเงินการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเหลือเพียง 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการรักษาการจ้างงานพนักงานสายการบินทั้ง 7 สาย รวมเกือบ 20,000 คน จนถึงสิ้นปี 64

นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนด้านการปฏิบัติการบินและการบำรุงรักษาเครื่องบิน ซึ่งทางสมาคมฯ ประเมินว่าจะเเบกรับภาระไม่ไหว หากไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐเร่งด่วน อาจส่งผลต่อการกลับมาให้บริการในอนาคตของสายการบิน ดังนั้นเพื่อช่วยประคองธุรกิจรวมทั้งช่วยลดผลกระทบความเสียหายต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจเเละท่องเที่ยวภาพรวม เนื่องจากสายการบินคือธุรกิจด่านหน้า ที่เชื่อมต่อให้เกิดการกระจายเเละสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ จึงหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเร่งดำเนินการอนุมัติซอฟต์โลนโดยเร็วที่สุด เพราะนี่คือลมหายใจเฮือกสุดท้ายของสายการบินแล้ว

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ธุรกิจการบินได้รับผลกระทบเร็วรุนแรงและยืดเยื้อจนถึงวันนี้หยุดให้บริการรวมกว่า 17 เดือน ที่ผ่านมาทำการบินได้แค่ 4-5 เดือนในเส้นทางบินในประเทศเท่านั้น

โดยเส้นทางบินต่างประเทศทำการบินไม่ได้เลย ต้องทนแบกต้นทุนมากว่าปีครึ่ง และวันนี้ (21 ก.ค 64) เป็นวันแรกที่ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประกาศงดการบินในพื้นที่สีแดงหมายถึง กทม. และ สมุทรปราการ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสิ้นสุดเมื่อไหร่หากสถานการณ์ไม่ดีก็หยุดบินอีก

ปัจจุบัน 7 สายการบิน มีเครื่องบินที่ต้องจอดนิ่งรวมกว่า 170 ลำ และมีค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนพนักงานทั้งสิ้นรวมกว่า 900-1,000 ล้านบาทต่อเดือน และทั้ง 7 สายการบินมีพนักงานรวมกว่า 20,000 คน

นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวว่า การขอความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้ง 7 สายการบิน มาตั้งแต่ปลายมีนาปี 63 วงเงินจากทั้งหมด 24,000 ล้านบาท จนต้นปี 64 ได้ปรับเหลือ 15,000 ล้านบาท และได้ปรับรอบ 3 เหลือที่ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมรักษาสภาพการจ้างพนักงาน 26,000 คน

ทั้งนี้ ต้องบอกว่าสายการบินเป็นธุรกิจต้นน้ำ และพนักงานสายการบินต้องใช้เวลาฝึกที่จะทำงานได้ ดังนั้นจึงอยากขอความช่วยเหลือเพราะวงเงินนี้เป็นวงเงินที่ต่อลมหายใจให้กับสายการบิน และหากสถานการณ์เลวร้ายลงไปจนต้องหยุดบินไปอีก 3 เดือน มั่นใจว่าคงไม่มีเหลือสายการบินในประเทศไทยแน่นอน

สำหรับวงเงินที่ขอช่วยเหลือ 5,000 ล้านบาทเพื่อรักษาการจ้างงาน จะไม่เกี่ยวค่าเช่าเครื่องบิน ค่าน้ำมันเลย สายการบินไม่มีหลักทรัพย์ที่จะไปค้ำประกันเงินกู้ เดิมสายการบินมีสิทธิการบิน เที่ยวบิน (สลอต) ถ้ารัฐบาลมองว่าการเอาสลอต สิทธิการบินมาเป็นประกันค้ำเงินกู้ได้ก็จะทำให้การปล่อยกู้ได้ง่ายขั้น ซึ่งก็จะเหมือนกับโครงการก่อสร้างกับภาครัฐเมื่อได้งานก็สามารถเอาสัญญาไปค้ำประกันกับสถาบันการเงินได้

นายนัตดา บุรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเซีย เอ็กซ์ กล่าวว่า จากปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก และก่อนหน้าสายการบินก็ปรับเที่ยวบินลดลง จนปัจจุบันรัฐบาลก็ประกาศห้ามทำการบิน อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าหากมีการกระจายวัคซีนได้มากขึ้นและหลายๆ ประเทศเริ่มเปิดประเทศ ธุรกิจการบินน่าจะเริ่มกลับมาบินได้ ในไตรมาส 4 ปีนี้ หรือไตรมาส 1 ปี 65 แต่ถ้าให้ชัดๆ มั่นใจว่ากลางปี 65 ธุรกิจการบินในเส้นทางบินระหว่างประเทศจะเริ่มกลับมาทำการบินเบื้องต้นที่ 40-50% ก่อน

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ กล่าวว่า ต้นทุนสายการบินหนีไม่พ้นค่าน้ำมัน ค่าเช่าเครื่องบิน ซ่อมบำรุง แต่ยังมีต้นทุนอื่นที่สายการบินต้องแบกรับ ดังนั้นจึงอยากขอให้รัฐช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ปลอดหลักประกัน

พร้อมทั้งขอยกเว้นภาษีอากาศยาน ค่าธรรมเนียมการจัดจราจรทางอากาศ และ ภาษีสรรพสามิต เนื่องจากขณะนี้สายการบินไม่ได้บิน ขณะที่ยังมีต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะส่งเสริม เพราะหากอุตสาหกรรมการบินปิดตัวลงจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ตามมา เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินมีความสัมพันธ์กับความมั่นคงของประเทศ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ