จากสถานการณ์การระบาดของไวรัส "โควิด-19" ในประเทศไทย ส่งผลให้มียอดผู้ติดเชื้อทะลุหลักหมื่นต่อวัน จนรัฐบาลต้องออกประกาศมาตรการ "ล็อกดาวน์" พื้นที่เสี่ยง เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดที่กำลังลุกลามอย่างรวดเร็ว
เมื่อมีการสั่ง "ล็อกดาวน์" แน่นอนว่า ผลกระทบที่ตามมาคือ รายได้ของประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ กระทั่งวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา "คณะรัฐมนตรี" มีมาตรการเยียวยาต่างๆ ออกมาบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน หนึ่งในนั้นคือ การเห็นชอบมาตรการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ 10 จังหวัดที่มีการล็อกดาวน์ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส และสงขลา
โดยจะเยียวยา 9 ประเภทกิจการ คือ
1. ก่อสร้าง
2. ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
3. ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ
4. กิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ
5. การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์
6. การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
7. ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
8. กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ
9. กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน
ด้าน นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่สงสัยเรื่องการได้รับเงินเยียวยานั้น สามารถเข้าตรวจสอบสิทธิ์ได้ที่หน้าเว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม เพียงกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ก็สามารถตรวจสอบได้ ส่วนนายจ้างสถานประกอบการให้กรอกเลขบัญชีนายจ้าง 10 หลัก และเลขลำดับที่สาขา 6 หลัก เพื่อตรวจสอบสิทธิ์
- กรอกเลขบัตรประชาชน
- กรอกรหัสให้ตรงกับรูปภาพ
- แล้วคลิกคำว่า "ค้นหา"
จากนั้นจะขึ้นข้อความ 2 แบบ คือ "ได้รับสิทธิ์" และ "ไม่ได้รับสิทธิ์" ดังนี้
ตามเงื่อนไขโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ใน 9 ประเภทกิจการ
ขอให้ท่านดำเนินการ เปิดใช้พร้อมเพย์กับบัญชีธนาคารที่ผูกกับเลขที่บัตรประชาชนให้เรียบร้อย สปส.จะโอนเงินให้ท่านผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขที่บัตรประชาชนเท่านั้น
ตามเงื่อนไขโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 10 จังหวัด ใน 9 ประเภทกิจการ
กรณีมีข้อสงสัยขอให้ติดต่อสอบถาม สปส.รับผิดชอบของท่าน
สำหรับการช่วยเหลือเยียวยา สำนักงานประกันสังคม ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
เงื่อนไขการเยียวยา ลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการ 9 หมวด จะได้เงินเยียวยา 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) และรัฐจ่ายสมทบให้ลูกจ้างในระบบประกันสังคม สัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน รวมแล้วได้สูงสุด 10,000 บาท
ส่วนนายจ้างจะได้รับการเยียวยา ตามจำนวนลูกจ้าง หัวละ 3,000 บาท สูงสุดลูกจ้างไม่เกิน 200 คน โดยนายจ้างบุคคลธรรมดาจะได้รับเงินโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเช่นกัน นายจ้างสถานะนิติบุคคล จะโอนเข้าบัญชีธนาคารตามชื่อนิติบุคคล
ล่าสุด วันที่ 20 ก.ค. 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบวงเงิน "โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33" ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ทำให้กรอบวงเงินโครงการฯ เพิ่มขึ้นจาก 2,519.3800 ล้านบาท เป็น 13,504.6960 ล้านบาท เพื่อครอบคลุมเยียวยาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่จังหวัดชานแดนภาคใต้ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
รวมทั้งได้เห็นชอบให้ขยายพื้นที่เยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจาก 10 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา รวมเป็น 13 จังหวัด สำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบ 9 สาขา
สำหรับรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 สัญชาติไทย ตามหลักการให้ความช่วยเหลือ คือ จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในอัตรา 2,500 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม จากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างและนายจ้าง ที่กำหนดว่าในกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน
โดยมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน, ไม่ได้ทำงาน หรือ นายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการระบาดของโรค ให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่แต่ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เกิน 10,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อสำนักงานประกันสังคม ร่วมกับ กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ได้ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว ท่านจะได้รับการโอนเงินเข้าบัญชีตามที่กล่าวข้างต้น โดยจะเริ่มโอนเงินเยียวยาดังกล่าวในวันที่ 6 ส.ค. 2564 โดยท่านที่ได้รับสิทธิ์นั้นไม่ต้องมายื่นเรื่องหรือติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่/จังหวัด/สาขา แต่อย่างใด
และเมื่อตรวจสอบสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว ขอให้ตรวจสอบบัญชีธนาคารของตนเองด้วยว่าได้ผูก "บัญชีพร้อมเพย์" กับ "เลขประจำตัวประชาชน" ไว้แล้วหรือยัง หากยังขอให้เร่งดำเนินการด่วน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อสายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง.