ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารโลกได้ออกรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย “เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” ฉบับล่าสุด โดยนางเบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจ ไทยโดยจะขยายตัวได้เพียง 2.2% ในปี 64 ปรับลดลงจาก 3.4% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มี.ค. และคาดว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 65 จะอยู่ที่ 5.1%
“ผลกระทบจากโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน รายได้ และความยากจน แต่การรับมือด้วยมาตรการความคุ้มครองทางสังคมที่ครบถ้วน ของรัฐบาลส่งผลเป็นที่น่าพอใจ และไทยยังคงมีพื้นที่การคลังเพียงพอช่วยเหลือคนยากจนและผู้ที่ลำบากมากที่สุดในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เศรษฐกิจที่ดูซึมลงเป็นผลมาจากบริโภค และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต่ำมากจนถึงสิ้นปี 64 อย่างไรก็ตาม ไทยมีการดำเนินการที่ค่อนข้างดี ทั้งในแง่ของระดับและความรวดเร็วในการรับมือด้านการคลัง ถือเป็นชุดของมาตรการให้เงินเยียวยาระดับแถวหน้าของโลก ซึ่งจากการจำลองสถานการณ์ บ่งบอกว่าจะมีคนจนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 780,000 คนในปี 63 หากรัฐไม่ได้เพิ่มความช่วยเหลือ”
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวเพิ่มเติมว่า ข่าวดีในไตรมาสแรก คือ เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณฟื้นฟู จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น และผลของมาตรการเยียวยา แต่ในไตรมาสที่ 2 เกิดการระบาดในระลอก 3 ทำให้การฟื้นฟูใช้เวลานานขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารโลกมองว่า รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการการคลังต่อเนื่อง และควรเป็นมาตรการที่เฉพาะเจาะลงไปที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยในด้านความยั่งยืนทางการคลัง ก่อนโควิดหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไทยอยู่ที่ 43% ขณะนี้ขึ้นมาอยู่ที่ 59.3% และจะอยู่ที่ 62.1% ในปีหน้า แม้ว่ามากกว่าเพดานหนี้ ที่ 60% แต่พลวัตยังอยู่ในฝั่งความยั่งยืน เพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาท และสภาพคล่องในประเทศมีพอจะรองรับ
“ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิดยังคงสูงมาก ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจยังมีโอกาสต่ำลง โดยกรณีเลวร้าย หากการล็อกดาวน์ยาวกว่าที่คิด เช่น ล็อกดาวน์ไปจนถึงไตรมาสที่ 3 การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะลดลงไปที่ 1.2% และเหลือเติบโต 2.6% ในปีหน้า และผลเสียจะมีมากขึ้น ถ้าระลอก 3 ยาวเกินกว่าที่เราจะควบคุมได้”.