นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการทุ่มงบประมาณ 42,000 ล้านบาท เยียวยาการล็อกดาวน์ 10 จังหวัด จะช่วยบรรเทาความเสียหายได้บางส่วน เพราะมีผลเพียงช่วยประคองประชาชน ภาคธุรกิจ กลุ่มอาชีพต่างๆ ที่ขาดรายได้จากมาตรการคุมเข้มเท่านั้น วงเงิน 42,000 ล้านบาท จะส่งผลต่ออัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 0.1-0.3% แต่ มาตรการคุมเข้มครั้งนี้ทำให้เศรษฐกิจเสียหาย 0.7-1.0% หรือ 100,000-200,000 ล้านบาท ประเมินจากผลกระทบต่อเนื่อง 1-2 เดือน โดยเห็นว่าภาครัฐควรมีมาตรการเสริมเพิ่มเติมอีก
สำหรับมาตรการเพิ่มเติม เช่น มาตรการโคเพย์เมนต์ รัฐช่วยจ่ายค่าจ้างบางส่วนให้กับพนักงานของผู้ประกอบการ, ลดค่าใช้จ่ายต่างๆเพิ่มเติม เช่น ภาษีป้าย ขยายเวลาลดการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการ, ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) โดยเฉพาะการปลดเครดิตบูโร และเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ โดยเสนอให้เพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่งจากเดิม 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท เพื่อ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 386,000 ล้านบาท รวมถึงการปรับเงื่อนไข ยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ยุ่งยากและมีผู้เข้าร่วม โครงการน้อย, นำโครงการ ช้อปดีมีคืนกลับมาใช้ใหม่ เพื่อ กระตุ้นให้คนมีฐานะใช้จ่ายในโครงการนี้มากขึ้น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการเยียวยาจากการล็อก ดาวน์ 10 จังหวัด ช่วยเหลือลดผลกระทบ สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนได้ระดับหนึ่งเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งทำคือการล็อกดาวน์ที่ให้คนอยู่บ้าน จะต้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ออกจากสมาชิกคนในบ้าน ที่ไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ เพราะขณะนี้การระบาดได้เข้าสู่คนในครอบครัวมากขึ้น
“การล็อกดาวน์ 10 จังหวัดรอบนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 60,000 ล้านบาท แต่ก็มั่นใจว่าหาก รัฐบาลควบคุมการแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อให้ลดลงได้ ไปอยู่ในระดับหลักร้อยรายต่อวัน เศรษฐกิจอาจจะเดินหน้าต่อไปได้ โดยต้องติดตามว่าเมื่อครบ 14 วันแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงหรือไม่”.