เอกชนสุดระทมโควิดซ้ำ 3 ระลอก สภานายจ้างฯชี้เศรษฐกิจเสียหาย 11 ล้านล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เอกชนสุดระทมโควิดซ้ำ 3 ระลอก สภานายจ้างฯชี้เศรษฐกิจเสียหาย 11 ล้านล้าน

Date Time: 14 ก.ค. 2564 07:21 น.

Summary

  • สภาองค์การนายจ้างฯประเมินผลกระทบต่อโควิด–19 ตั้งแต่ระบาดรอบแรก เดือน ก.พ. 63 ลากยาวถึงขณะนี้ สร้างความเสียหาย ทำให้มูลค่าเศรษฐกิจไทยหายไปกว่า 11 ล้านล้านบาท

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

สภาองค์การนายจ้างฯประเมินผลกระทบต่อโควิด–19 ตั้งแต่ระบาดรอบแรก เดือน ก.พ. 63 ลากยาวถึงขณะนี้ สร้างความเสียหาย ทำให้มูลค่าเศรษฐกิจไทยหายไปกว่า 11 ล้านล้านบาท วอนรัฐเยียวยาเต็มที่ลดผลกระทบล็อกดาวน์รอบนี้ที่คาดจะลากยาวเกิน 14 วัน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ด้านแรงงาน และผู้ประกอบการ หลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ออกมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว 10 จังหวัด เป็นระยะเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-25 ก.ค. ว่า จะส่งผลกระทบต่อการว่างงานให้เพิ่มขึ้นแต่จะมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับมาตรการเยียวยาของรัฐบาลในทางปฏิบัติว่าจะสามารถแก้ไขได้ตรงจุดหรือไม่

สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดในขณะนี้ คือ ผู้ประกอบการภาคธุรกิจในกลุ่มผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศที่มีความบอบช้ำจากวิกฤติที่เกิดขึ้นตั้งแต่การระบาดระลอกแรกจนถึงการระบาดในระลอกที่ 3 ซึ่งทำให้กำลังซื้อของคนไทยอ่อนแอลงต่อเนื่อง และแม้การล็อกดาวน์ครั้งนี้จำกัดวงแค่ 10 จังหวัด แต่เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนต่ออัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และการจ้างงานรวมกันสูงถึง 60-70% ของจีดีพีรวม

ดังนั้น หากพิจารณาภาพรวมความเสียหายทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวมาตั้งแต่เดือน ก.พ.2563 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ความเสียหายที่มีต่อเศรษฐกิจไทยอาจสูงกว่า 11 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 65.3% ของจีดีพี เมื่อเทียบจากฐานปี 2562 คิดจากมูลค่าของจีดีพีที่หดตัวลง โดยได้รับผลกระทบทั้งด้านการส่งออก และรายได้จากการท่องเที่ยวที่สูญหายไปจำนวนมหาศาล โดยแม้ว่าส่งออก 5 เดือนแรกของ ปีนี้จะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจในประเทศก็ยังทรุดตัวต่อเนื่อง

“การล็อกดาวน์รอบนี้ จะทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ผู้ค้ารายย่อย แผงลอย พ่อค้าแม่ค้าตลาดนัด, ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว, การก่อสร้าง ฯลฯ มีแนวโน้มที่จะยังทรุดตัวต่อเนื่อง และยังเป็นแรงกดดันต่อภาวะความเปราะบางของตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น เพราะธุรกิจเหล่านี้มีการจ้างแรงงานสูงมาก คิดเป็น 2 ใน 3 ของการว่าจ้างแรงงานทั้งหมด”

นายธนิตกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากพิจารณาตัวเลขแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวน 11.07 ล้านคนเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีจำนวน 11.54 ล้านคน ชี้ให้เห็นว่าวิกฤติเศรษฐกิจทำให้แรงงานในระบบหายไปถึง 463,275 คน ลดลง 4.01% และเมื่อพิจารณาจากแรงงานต่างด้าวพบว่า เดือน พ.ค.2562 แรงงานต่างด้าวทุกประเภทมีจำนวน 3.189 ล้านคนเทียบกับเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนลดลงเหลือ 2.307 ล้านคน หรือหายไปถึง 27.6% ต่ำสุดในรอบ 2 ปี

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาการล็อกดาวน์ครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย. 2563 จำนวนแรงงานในระบบประกันสังคมลดลงอย่างมากและต่อเนื่องตลอดทั้งปี แม้ว่ารัฐบาลจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผ่านโครงการต่างๆของรัฐใช้เงินไป 513,000 ล้านบาท ยังไม่รวมเงินจากประกันสังคมและเงินกู้เสริมสภาพคล่องเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งใช้เงินไปแล้ว 300,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่ช่วยให้การจ้างงานกลับมา โดยสะท้อนจากเดือน ม.ค.-พ.ค.แรงงานในระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นเพียง 22,157 คน ขณะที่แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายเพิ่มขึ้นอย่างเป็นนัยถึง 126,468 คน

“การล็อกดาวน์ครั้งนี้เอกชนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้จบภายใน 14 วัน เพราะประชาชนใน 10 จังหวัดก็ยังคงเดินทางกันตามปกติ ขณะที่กิจกรรมบางอย่างก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ แม้รัฐบาลจะประกาศเคอร์ฟิวในบางช่วงเวลา แต่ก็เป็นเวลาที่คนก็ไม่ได้เดินทางไปห้างสรรพสินค้าหรือมีกิจกรรมกลางคืนแต่อย่างใด”

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกเหนือจากการอนุมัติวงเงินเยียวยาผลกระทบกว่า 42,000 ล้านบาทแล้ว น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปี โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปีแก่ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการสปาและกิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงามออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.64 - 17 มี.ค.65 และยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการแก่การดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงแก่ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง 2 ปี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ