ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่งต่ำสุดในรอบ 22 ปี 8 เดือน หลังกังวลสารพัดปัจจัยลบ โควิดหนัก-หวั่นสายพันธุ์เดลตาครองเมือง ฉีดวัคซีนช้า การเมืองเริ่มง่อนแง่น ผลสำรวจก้ำกึ่ง 38.4% ต่อ 35.7% ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ หนุนล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่เสี่ยงมากกว่า หวั่นปิดกิจการเพิ่ม คนตกงานเพียบ หนี้ครัวเรือนพุ่ง เศรษฐกิจพัง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.64 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงทุกรายการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นเดือน มิ.ย.64 อยู่ที่ 43.1 ลดจาก 44.7 ในเดือน พ.ค.64 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือในรอบ 272 เดือน หรือ 22 ปี 8 เดือน หรือตั้งแต่เริ่มสำรวจในเดือน ต.ค.41 ส่วนดัชนีเชื่อมั่นในปัจจุบันอยู่ที่ 28.1 ลดจาก 29.2 และดัชนีเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ที่ 50.1 ลดจาก 52.0 ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นโดยรวม อยู่ที่ 37.3 ลดจาก 38.9, ดัชนีเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางาน อยู่ที่ 40.4 ลดจาก 41.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 52.1 ลดจาก 53.9
“สาเหตุที่ดัชนีลดลงทุกรายการ เป็นเพราะความกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อ ภาคการท่องเที่ยว ส่งออก ธุรกิจ และการจ้างงาน ประกอบกับความกังวลเรื่องการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนล่าช้า ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่า เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมากนัก และขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ดีขึ้นระดับหนึ่งแล้วก็ตาม”
ทั้งนี้ ต้องติดตามการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ การแพร่กระจายของโควิดรอบที่ 4 และรัฐบาลจะประกาศล็อกดาวน์หรือไม่ และอย่างไร รวมถึงจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวใกล้เคียง 0-2% ได้
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือน มิ.ย.64 ที่สำรวจจากสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศว่า ดัชนีลดลงทุกรายการเช่นกัน โดยดัชนีเชื่อมั่นเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 22.5 ลดจาก 24.7, ดัชนีเชื่อมั่นในปัจจุบัน อยู่ที่ 11.9 ลดจาก 14.3 และดัชนีเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ที่ 33.1 ลดจาก 35.0 เพราะความวิตกกังวลต่อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา, การปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง, การสั่งปิดหลายกิจการชั่วคราว, ธุรกิจขาดสภาพคล่องและทยอยปิดกิจการ เป็นต้น จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งควบคุมการระบาด โดย เฉพาะสายพันธุ์เดลตา, เร่งจัดหาและฉีดวัคซีน, ออกมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจ และเร่งหาแนวทางให้ธุรกิจกลับมาดำเนินธุรกิจได้
ส่วนเมื่อถามว่าภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ควรขยายพื้นที่หรือไม่ ผู้ตอบมากถึง 46.3% ตอบไม่ควรขยาย, 22.8% ไม่แน่ใจ และ 30.9% ควรขยาย และขยายภายใน 3 เดือน ขณะที่เมื่อถามว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมาเพียงพอหรือไม่ 43.3% ตอบไม่เพียงพอ, 36.2% ไม่แน่ใจ และอีก 20.5% เพียงพอ โดยมาตรการที่ผู้ประกอบการได้ประโยชน์มากสุดคือ คนละครึ่ง 3.9 คะแนน ตามด้วยเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ถือบัตรคนจน 3.8 คะแนน, เพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ 3.7 คะแนน, สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ 3.3 คะแนน, พักทรัพย์พักหนี้ 3.3 คะแนน และยิ่งใช้ยิ่งได้ 2.9 คะแนน ส่วนประชาชนได้ประโยชน์มากสุด คือ คนละครึ่ง เพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ถือบัตรคนจน และเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เท่ากันที่ 3.5 คะแนน และยิ่งใช้ยิ่งได้ 2.4 คะแนน
ส่วนเมื่อถามว่าเห็นด้วยกับการล็อกดาวน์หรือไม่ ส่วนใหญ่ 38.4% ไม่เห็นด้วย เพราะเศรษฐกิจแย่อยู่แล้ว จังหวัดที่ตนอาศัยอยู่เพิ่งได้รับการผ่อนปรน ธุรกิจเพิ่งกลับมาดำเนินธุรกิจได้อาจ ปิดกิจการเพิ่ม เป็นต้น ส่วนอีก 35.7% เห็นด้วย เพราะจะได้ควบคุมการระบาดได้ หลังคลายล็อกดาวน์จะได้กลับมาทำธุรกิจตามปกติ ธุรกิจแย่อยู่แล้ว ถ้าล็อกดาวน์ก็ไม่น่าส่งผลกระทบมากกว่าเดิม เป็นต้น และอีก 25.9% ไม่แน่ใจ
“ถ้ามีการล็อกดาวน์ ผู้ประกอบการกังวลปัญหาธุรกิจต้องหยุดกิจการทั้งแบบชั่วคราวและถาวรมากที่สุด ตามด้วยกำลังซื้อลดลง เศรษฐกิจหดตัว สภาพคล่องธุรกิจแย่ลง คนตกงาน หนี้นอกระบบ-หนี้ครัวเรือนเพิ่ม หากรัฐบาลจะล็อกดาวน์จริง ส่วนใหญ่ 45.8% เสนอให้ล็อกดาวน์เฉพาะจังหวัดเสี่ยง, 22.7% เฉพาะพื้นที่ อำเภอ หมู่บ้านเสี่ยง, 15.2% เฉพาะภูมิภาค, 9.6% ทั้งประเทศ และ 6.7% อื่นๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ อยากให้เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเร็ว และคาดว่าน่าจะฟื้นได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 64 เป็นต้นไป”.