รัฐเคาะมาตรการสินเชื่ออิ่มใจ ต่อลมหายใจร้านอาหาร ยื่นกู้ได้รายละแสน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รัฐเคาะมาตรการสินเชื่ออิ่มใจ ต่อลมหายใจร้านอาหาร ยื่นกู้ได้รายละแสน

Date Time: 7 ก.ค. 2564 06:50 น.

Summary

  • ครม.เห็นชอบมาตรการสินเชื่ออิ่มใจ 2,000 ล้านบาท ช่วยร้านอาหารกู้เสริมสภาพคล่อง สูงสุดรายละ 100,000 บาท ดอกเบี้ย 3.99% ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้


ครม.เห็นชอบมาตรการสินเชื่ออิ่มใจ 2,000 ล้านบาท ช่วยร้านอาหารกู้เสริมสภาพคล่อง สูงสุดรายละ 100,000 บาท ดอกเบี้ย 3.99% ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก รัฐกันงบประมาณไว้ให้ 1,000 ล้านบาทใช้คืน “ออมสิน” กรณีเกิดหนี้สูญ พร้อมอนุมัติเงินกู้เพิ่มอีก 8,621 ล้านบาท แบ่งซื้อวัคซีน 6,111 ล้านบาท และเยียวยานายจ้าง ลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 2,519 ล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอการจัดทำมาตรการสินเชื่ออิ่มใจ วงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้า เครื่องดื่ม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยธนาคารออมสินจะจัดสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นร้านจำหน่ายแบบถาวร เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารที่เปิดในห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์ ภัตตาคาร ร้านที่มีลักษณะเป็นบูธ ไม่ใช่ร้านแบบหาบเร่ แผงรอย รถเข็น ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ วงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุด 100,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี (Effective Rate) ระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก โดยรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564

ทั้งนี้ รัฐบาลจะชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 100% สำหรับเอ็นพีแอลที่ไม่เกิน 50% ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 2,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นร้านแบบเคลื่อนที่ได้ เช่น หาบเร่ แผงลอย รถเข็น เป็นต้น สามารถเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนของรัฐบาลที่มีอยู่ ได้แก่ มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 10,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564 หรือโครงการอื่นๆที่ธนาคารออมสินดำเนินการเอง เช่น สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน สินเชื่อสตรีท ฟู้ด เป็นต้น

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า ที่ประชุม ครม.คาดว่าจะมีร้านอาหารกู้ผ่านสินเชื่ออิ่มใจ 40,000 ราย เฉลี่ยรายละ 50,000 บาท ขณะเดียวกัน ครม. ได้อนุมัติตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้โควิด-19 เพิ่มเติมอีก 8,621 ล้านบาท ทำให้วงเงินกู้ก้อนแรก 1 ล้านล้านบาท คงเหลือ 7,197 ล้านบาท โดยการอนุมัติครั้งนี้แบ่งออกเป็นโครงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่ม 10.9 ล้านโดส วงเงิน 6,111 ล้านบาท โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนของ จ.ตราด จ.นครสวรรค์ และ จ.มหาสารคาม รวม 9.11 ล้านบาท

ส่วนอีก 2,519 ล้านบาท อนุมัติให้โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ นายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 4 ประเภทกิจการได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจการศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจการกิจกรรมการบริการด้านอื่นๆที่ได้รับผลกระทบ

โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1.นายจ้างที่อยู่ในฐานข้อมูลประกันสังคม ณ วันที่ 28 มิ.ย.2564 หรือนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.-30 ก.ค.2564 จำนวน 41,940 ราย โดยจะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน สูงสุดไม่เกิน 200 คนต่อแห่ง 2.ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 663,916 ราย จะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ประกันตนทำงานกับนายจ้างมากกว่า 1 ราย ให้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาเพียงครั้งเดียวในอัตรา 2,000 บาท

สำหรับวิธีการจ่ายเงินเยียวยานั้น กรณีบุคคลธรรมดาและผู้ประกันตนมาตรา 33 จะโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (PromptPay) เฉพาะการผูกบัญชี พร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชน กรณีนายจ้างที่เป็นนิติบุคคล สำนักงานประกันสังคมจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากตามที่นายจ้างแจ้ง หรือตามวิธีการอื่นๆที่กระทรวงแรงงานกำหนด โดยเริ่มโอนเงินเยียวยาครั้งแรกภายในวันที่ 23 ก.ค.2564

นอกจากนี้ ครม. ยังมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมเร่งลงทะเบียนนายจ้างและให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบนิติสัมพันธ์ความเป็นนายจ้างลูกจ้างของนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ในช่วงวันที่ 29 มิ.ย.-30 ก.ค.2564 เพื่อยืนยันว่ามีการประกอบธุรกิจและมีการจ้างงานตามจำนวนที่แจ้งขึ้นทะเบียนประกันสังคมไว้จริง เมื่อทราบจำนวนชัดเจนทางคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้จะอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมให้ต่อไป.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ