จับตา ครม.เคาะร่วม "ซีพีทีพีพี" ชี้หายนะเกิดไทยยังไม่พร้อมแข่งหลายด้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตา ครม.เคาะร่วม "ซีพีทีพีพี" ชี้หายนะเกิดไทยยังไม่พร้อมแข่งหลายด้าน

Date Time: 6 ก.ค. 2564 07:01 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • “กนศ.” ชง “ครม.” ไฟเขียวไทยเข้าร่วมสมาชิก “ซีพีทีพีพี” เร็วๆนี้ ย้ำได้ประโยชน์มาก ถ้าไม่เข้าร่วมสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจแน่ แต่หลายเสียงรุมค้าน ถ้าไทยเข้าร่วม หายนะเกิด

Latest



“กนศ.” ชง “ครม.” ไฟเขียวไทยเข้าร่วมสมาชิก “ซีพีทีพีพี” เร็วๆนี้ ย้ำได้ประโยชน์มาก ถ้าไม่เข้าร่วมสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจแน่ แต่หลายเสียงรุมค้าน ถ้าไทยเข้าร่วม หายนะเกิด เหตุยังมีประเด็นอ่อนไหว ที่ยังไม่พร้อมแข่งขันและยังไม่ได้ปิดจุดอ่อน แนะศึกษาให้รอบคอบ และทำเอฟทีเอกับประเทศใหม่ๆดีกว่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ เป็นประธาน ได้นำข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) มาศึกษาเพิ่มเติมถึงผลดี ผลเสีย และข้อห่วงใยกรณีที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีเสร็จสิ้นแล้ว และได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่าไทยควรเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่แล้ว คาด ครม.จะพิจารณาเร็วๆนี้ โดยกนศ.เห็นว่าไทยควรเข้าเป็นสมาชิก เพราะจะได้รับประโยชน์มาก แต่หากไม่เข้าจะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาสังคมตั้งข้อสังเกตว่าไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมซีพีทีพีพีจริงหรือไม่ และประโยชน์ที่จะได้รับ จะคุ้มค่ากับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ รวมถึงประชาชน และประเทศหรือไม่ เพราะปัจจุบันไทยมีเอฟทีเอกับสมาชิกซีพีทีพีพีแล้วถึง 9 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ บรูไน ชิลี มาเลเซีย เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม จากทั้งหมด 11 ประเทศ เว้นเพียงแคนาดา และเม็กซิโก แต่ในเดือน ก.ย.นี้ อาเซียนเตรียมประกาศจัดทำเอฟทีเอกับแคนาดา เหลือเพียงเม็กซิโกเท่านั้น ดังนั้น สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดทั้ง 10 ประเทศได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิก เพื่อขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดสมาชิกซีพีทีพีพี

นอกจากนี้ กมธ.ตั้งข้อสังเกตว่าก่อนไทยเข้าเป็นสมาชิกต้องปรับปรุงจุดอ่อน หรือเตรียมความพร้อมด้านความสามารถในการแข่งขันในทุกมิติของการค้า แต่ขณะนี้ไทยปรับปรุงและเตรียมความพร้อมแล้วหรือไม่ หากรัฐบาลยังไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ ก็ไม่ควรเข้าเป็นสมาชิก ขณะเดียวกัน กนศ.ได้ศึกษาถึงผลดี ผลเสียที่มีต่อไทย กรณีที่สหราชอาณาจักร เตรียมเข้าเป็นสมาชิกแล้วหรือไม่ รวมถึงกรณีที่สหรัฐฯอาจเข้าเป็นสมาชิกในอนาคต เพราะคาดว่า จะกระทบต่อไทยมาก เพราะทั้ง 2 ประเทศมีศักยภาพการแข่งขันในทุกด้าน โดยเฉพาะภาคบริการ และอำนาจต่อรองสูงอาจทำให้ซีพีทีพีพีกลายเป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูงยิ่งขึ้น (ซีพีทีพีพี พลัส)

สำหรับประเด็นอ่อนไหวที่ไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน เช่น การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร, ภาคบริการ จะเสียเปรียบมาก เพราะสมาชิกจะเข้ามาประกอบธุรกิจบริการในไทยมากกว่าที่ธุรกิจไทยจะไปลงทุนในประเทศสมาชิก, จัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ จะทำให้ธุรกิจของสมาชิก เข้ามาประมูลงานภาครัฐของไทยได้ ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ถูกต่างชาติแย่งงาน ส่วนภาคเกษตรยิ่งเสียเปรียบ เพราะขาดเทคโนโลยี นวัตกรรมและจะทำให้สินค้าเกษตรจากทั้งแคนาดา และเม็กซิโก เข้ามาตีตลาดได้ และเกษตรกรไทยเสียหาย เป็นต้น

ทั้งนี้ จากประเด็นอ่อนไหวต่างๆทำให้เห็นว่า ไทยยังไม่ได้เตรียมความพร้อมใดๆเลย ดังนั้น การเข้าร่วมจะทำให้เสียประโยชน์มากกว่าได้ แม้กระทรวงพาณิชย์ เตรียมจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบ แต่ไม่น่าจะเพียงพอ ขณะนี้ไทยควรเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆให้พร้อมรับการแข่งขันดีกว่า และการที่ไทยเข้าเป็นสมาชิกช้ากว่าสหราชอาณาจักร น่าจะทำให้ไทยได้รับทราบข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสมาชิกมากขึ้น และทำให้ไทยกำหนดแนวทางการเจรจาต่อรองได้ดีขึ้น อีกทั้งควรทำเอฟทีเอกับกลุ่มประเทศใหม่ๆ ดีกว่า.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ