นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า โครงการ “คนละครึ่ง” และ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ยังคงเริ่มใช้จ่ายวันแรกวันที่ 1 ก.ค.64 ตามเดิม ขณะที่ “เราชนะ” ที่สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ยังไม่ได้พิจารณาขยายระยะเวลาโครงการ “ตอนนี้ทุกคนยังใช้จ่ายปกติ ตลาดก็ยังเปิด ทุกคนต้องกินต้องใช้ เพียงแต่ว่าคิดว่ามาตรการที่ออกมายังเดินได้อยู่เพราะประชาชนเรียกร้องมานาน ส่วนการขยายวงเงิน ยังไม่มี ต้องรอดูสถานการณ์ เพราะยังมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอื่นด้วย ทั้งมาตรการของผู้ประกันตน และเงินสมทบจากรัฐ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ”
ส่วนการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง กรมบัญชีกลางส่งหนังสือเวียนให้หน่วยงานต่างๆ พิจารณาตามความจำเป็น และมีเหตุอ้างอิงได้จาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และประกาศต่างๆ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ก็ใช้แนวทางตามที่ได้เวียนออกไป ทั้งการส่งมอบงาน การชำระเบี้ยปรับ และการขยายระยะเวลาสัญญา
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อต่างๆ จำเป็นต้องเดินหน้าต่อ และรัฐควรเพิ่มเงินโครงการคนละครึ่งจาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท โดยควรเร่งออกมาภายในไตรมาส 3 เพื่อให้เงินถึงประชาชนโดยเร็ว เพราะการระบาดรอบ 3 ตั้งแต่เดือน เม.ย.64 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลเสียหายทางเศรษฐกิจ 300,000-500,000 ล้านบาท แต่หากรวมผลกระทบจากการประกาศยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดใน 10 จังหวัด จะทำให้เศรษฐกิจตั้งแต่เดือน ก.ค.64 เสียหายเพิ่มจากเดิมอีกเดือนละ 30,000-60,000 ล้านบาท เป็น 330,000-560,000 ล้านบาท
ขณะที่นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล โฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า
เศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค.64 ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย. แต่ยังคงขยายตัวได้เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในอัตราที่สูง “เสถียรภาพเศรษฐกิจยังดี แม้ราคาสินค้าสูงขึ้น สะท้อนจากเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.4% ขณะที่หนี้สาธารณะ สิ้นเดือน เม.ย.64 อยู่ที่ 54.9% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (จีดีพี) ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังมั่นคง รองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ สิ้นเดือน พ.ค.64 สูงถึง 251,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ”.