โลกในศตวรรษที่ 21 กำลังมุ่งสู่ความเป็น Smart มากขึ้น อย่างหนึ่ง คือ สมาร์ท แฟคตอรี่ (Smart Factory) หรือโรงงานอัจฉริยะ โดยเน้นระบบอัตโนมัติ (Automation) มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาประมวลผลการทำงานร่วมกับเครื่องจักร ที่เมื่อเกิดความผิดพลาดก็สามารถตรวจสอบจากชุดข้อมูลเหล่านี้ได้ ถือเป็นการยกระดับทางเทคโนโลยี
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก่อนจะไปถึงความเป็น Smart Factory สิ่งสำคัญที่สุด คือ “ความปลอดภัย” ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการในการควบคุมที่เป็นระบบ โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เราจะเห็นว่า ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าเทคโนโลยี โดยเฉพาะเมื่อ “โรงงาน” กลายเป็นส่วนหนึ่งในคลัสเตอร์ของการระบาดด้วย
“GOOD FACTORY PRACTICE” หนึ่งในมาตรฐานที่กรมอนามัย เป็นผู้กำหนด และขอให้โรงงานทุกโรงงานต้องเข้าสู่ระบบการประเมิน Thai Stop COVID Plus เพื่อความปลอดภัย ร่วมกับการประเมินพนักงานโรงงานผ่านระบบ “ไทยเซฟไทย” เพื่อคัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าทำงาน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากในโรงงานยังคงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อนกระจายในหลายพื้นที่ ในสถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ยาวนานมาเกือบ 2 ปี และขณะนี้เป็นระลอกที่ 3 ของการระบาดใหญ่ ที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง กำกับ ติดตาม ควบคุม อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ข้อมูลการแพร่ระบาดในโรงงานขนาดใหญ่ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงปัจจุบัน พบว่า 5 จังหวัดอันดับที่มีรายงานติดเชื้อภายในโรงงานมากที่สุด คือ สมุทรสาคร 91 โรงงาน สมุทรปราการ 41 โรงงาน ปทุมธานี 32 โรงงาน ชลบุรี 30 โรงงาน และพระนครศรีอยุธยา 29 โรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
กรมอนามัย จึงได้ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข กำหนดมาตรการหลักๆ 4 มาตรการ สำหรับสถานประกอบกิจการประเภทโรงงาน ประกอบด้วย
1) มาตรการด้านการป้องกันโรค มีการคัดกรองวัดอุณหภูมิ สวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการ ลดความแออัด การเว้นระยะห่าง ติดตามข้อมูลของผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงการให้ผู้ที่อยู่ในโรงงานปฏิบัติตามมาตรการ
2) มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส การจัดการขยะมูลฝอย จัดให้มีการระบายอากาศที่เหมาะสม หอพักสำหรับผู้ปฏิบัติงานต้องสะอาด ไม่แออัด และหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม หากมีรถรับ-ส่ง ต้องมีการทำความสะอาด สำหรับการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในโรงอาหาร โดยกำหนดเส้นทางการเดิน จุดนั่ง เดิน ยืนหรือที่พักรอให้ชัดเจน แยกสำรับอาหาร และไม่ใช้แก้วน้ำ จาน ชาม ร่วมกัน
3) มาตรการเสริมสำหรับโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ ต้องมีกลไกการจัดการและแผนเมื่อเกิดเหตุ กรณีพบพนักงานติดเชื้อต้องมีการซักซ้อมแผน หากมีแรงงานต่างด้าวต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และสำหรับโรงงานขนาดใหญ่ต้องเข้มเรื่องการคัดกรองผู้ปฏิบัติงานและผู้มาติดต่อ โดยใช้ระบบประเมินตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย”
ก่อนเข้าปฏิบัติงาน เพื่อประเมินความเสี่ยงรายบุคคล
กรณีมีรถรับ-ส่ง ให้พนักงานสวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง วัดอุณหภูมิก่อนขึ้นรถ และเช็ดฆ่าเชื้อรถหลังใช้งาน ทำความสะอาดฆ่าเชื้อในพื้นที่ส่วนกลาง และจุดสัมผัสร่วมให้เปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติ เช่น ประตู ก๊อกน้ำ เป็นต้น
4) มาตรการเมื่อพบผู้ติดเชื้อ ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สั่งการและคำแนะนำ หลังจากนั้นให้พิจารณาปิดพื้นที่หรือสถานที่และทำความสะอาดพื้นผิวทันที ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้ส่งตรวจเชื้อและกักตนเองทันที ส่วนผู้เสี่ยงต่ำให้มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ถ้ามีผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 10 ให้ใช้ Bub ble and seal เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และให้กระบวนการผลิตสามารถดำเนินการต่อไปได้
อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า ทั้ง 4 มาตรการ ถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ตามกรอบ GOOD FACTORY PRACTICE ซึ่งเป็นข้อแนะนำทางด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยผู้ประกอบการต้องประเมินตนเองอย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์ ส่วนพนักงานทุกคน ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็น Social Distancing เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ จัดให้มีจุดบริการเจลล้างมืออย่างทั่วถึง เพียงพอ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และลงทะเบียนไทยชนะ หมอชนะ
ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิด Safety Factory หรือโรงงานปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการสกัดต้นตอคลัสเตอร์การแพร่ระบาดของโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีคนอยู่เป็นจำนวนมาก สำคัญที่สุด คือ ในอนาคตถ้าโรงงานให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่แค่ Smart Factory ที่จะไปถึง แต่ยังรวมถึงเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดอีกด้วย.