ตามไปดูโครงการ “เมดอินไทยแลนด์” โอสถทิพย์อุ้มผู้ผลิตในประเทศ ทั้งรายใหญ่ ขนาดกลาง เอสเอ็มอี โอทอป มีโอกาสเข้าถึงวงเงินจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐปีละ 1.77 ล้านล้านบาท “ดีพร้อม” ชวนผู้ประกอบการมา ลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มของ ส.อ.ท.เพื่อรับสิทธิเข้าร่วมโครงการคาดปีนี้แห่ยื่นขอ 1 แสนราย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าหลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ร่วมกันจัดทำโครงการ “เมด อิน ไทยแลนด์” (Made in Thailand) หรือ MiT ขึ้นมาว่า MiT จะช่วยจุดประกายให้เกิดการสร้างความภาคภูมิใจ ความเชื่อมั่นในสินค้าไทย การรับรองมาตรฐานสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย รวมถึงการส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในประเทศหันมาให้การสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้ผู้ประกอบการ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นต่อคู่ค้าในต่างประเทศ
นายสุริยะ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการกระจายเม็ดเงินสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตจำนวน 1.77 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) 60,000 โรง รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเอสเอ็มอีในขณะนี้มีการจ้างงานอีกกว่า 5 ล้านคน
ล่าสุด กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) ได้จัดทำโครงการผลักดันผู้ประกอบการในเครือข่ายของดีพร้อม เพื่อให้สามารถได้รับการรับรองสินค้า MiT เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการในการเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ และสร้างการยอมรับในตัวผลิตภัณฑ์ โดยได้ทำการประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ประกอบการในเครือข่าย และผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าเงินทุนหมุนเวียนของดีพร้อม ให้เข้าสู่การรับรองสินค้า MiT เพื่อระดมรายชื่อสินค้าขึ้นระบบการรับรองให้มากที่สุด ให้เพียงพอต่อความต้องการของคู่ค้าทั้งภาครัฐและเอกชนในอนาคต
ขณะเดียวกัน ส.อ.ท.ก็จะคอยอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วในการพิจารณาการรับรองมาตรฐานสินค้า MiT แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน (โอทอป) ที่มาจากดีพร้อมอีกด้วย เพื่อนำผู้ประกอบการมีโอกาสขายสินค้าในวิกฤติโควิด-19
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่าสำหรับผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ ต่างๆ ประกอบด้วย 1. สิทธิประโยชน์จากการให้แต้มต่อของภาครัฐ ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศ แบ่งเป็นการจัดซื้อโดยตรง ทั้ง 100% ของพัสดุที่จะใช้ และไม่น้อยกว่า 60% ผ่านคู่สัญญาในการจัดจ้างงานก่อสร้างและบริการ 2.การเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับสินค้า โดยสินค้าที่ได้รับรอง MiT จะสร้างความน่าเชื่อถือจากคู่ค้า และกลุ่มผู้บริโภค และ 3.การเพิ่มโอกาสในตลาดต่างประเทศ เป็นการสร้างโอกาสในการขยายการค้าไปยังต่างประเทศที่นิยมสินค้าไทยได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ดีพร้อมยังได้ประกาศนำร่อง เริ่มต้นใช้เกณฑ์การคัดเลือกเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ที่มีสินค้าตรงตามเงื่อนไข โดยผู้ประกอบการต้องได้รับตราสัญลักษณ์โครงการ MiT เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังได้กระจายนโยบายดังกล่าวไปยังศูนย์ภาคทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศในการประกาศใช้จัดทำกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามประกาศ กฎกระทรวงการคลัง
“ที่สำคัญ ดีพร้อมคาดว่าหน่วยงานภาครัฐจะเริ่มจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่เข้าร่วมกับโครงการเพิ่มมากขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสให้เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการของดีพร้อม ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองหนึ่งในการผลักดัน ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตสินค้าในประเทศ ไทย เข้าร่วมการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศ ไทย MiT โดยผู้ประกอบการที่จะเข้ารับรองสินค้า MiT ต้องมีคุณสมบัติต่างๆ อาทิ เป็น ผู้ประกอบการประเภทนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา มีแหล่งผลิตอยู่ในประเทศไทย จากทั้งโรงงานหรือธุรกิจที่มีการจดทะเบียนมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ถูกต้อง โดยสินค้านั้นๆ ต้องมีสัดส่วนมูลค่าวัตถุดิบผลิตในประเทศขั้นต่ำ 40%”
นายสุริยะ ยํ้าว่าสำหรับกลุ่มสินค้า MiT ที่มีโอกาสเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ อาทิ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมวัสดุครุภัณฑ์สำนักงาน, อุตสาหกรรมสิ่งทอยูนิฟอร์ม, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ รวมถึงประเภทงานก่อสร้าง ได้แก่วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมด อาทิ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ฯลฯ
ล่าสุดการขอรับรองสินค้า MiT ได้เปิดให้ผู้ประกอบการทำการลงทะเบียนแล้ว โดยมีการพัฒนาแพลตฟอร์มการลงทะเบียนอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการของส.อ.ท.และดีพร้อม คาดว่าปีนี้จะมีผู้ขอยื่นการรับรอง MiT รวม 100,000 รายการสินค้า ซึ่งเป็นโอกาสที่สำคัญในการสร้างหรือเพิ่มยอดขายของผู้ประกอบการ และเพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสินค้าเข้าสู่ระบบการแข่งขันของตลาดมากยิ่งขึ้น.