นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลซ้ำเติมต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เพิ่มขึ้น ธปท. จึงได้ทบทวนแนวนโยบายในการส่งผ่านความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้
1.ขยายมาตรการชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้เอสเอ็มอี ที่จะครบกำหนดวันที่ 30 มิ.ย.2564 นี้ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดระลอกใหม่ เช่น กิจการที่ยังไม่เปิดทำการตามปกติ ไม่สามารถประเมินกระแสเงินสดเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ได้ ซึ่งไม่ใช่การชะลอชำระหนี้เป็นวงกว้าง นอกจากนี้ ยังขยายขอบเขตถึงลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตามนิยามเดิม ให้ครอบคลุมมากกว่าเอสเอ็มอีที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ทำให้มีลูกหนี้ที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น โดยระหว่างนี้ ให้หาแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้โดยเร็วต่อไป
2.จูงใจให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น โดยพิจารณา 1. ความสามารถการชำระคืนหนี้ และ 2. ระยะเวลาการจ่ายคืนหนี้ ให้สอดคล้องกับประมาณการรายได้ที่ลูกหนี้จะได้รับในอนาคต โดย ธปท.จะยังคงความยืดหยุ่นการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง 3.ให้สถาบันการเงินสามารถจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ไม่เกินอัตราจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio) ในปี 2563 และไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิครึ่งแรกปี 2564 รวมถึงให้งดซื้อหุ้นคืน และห้ามไถ่ถอนหรือซื้อคืนตราสารเงินกองทุนก่อนครบกำหนด เว้นแต่มีแผนการออกทดแทน เพื่อดูแลความมั่นคงและรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอน
ทั้งนี้ ธปท. จะประเมินสถานการณ์การระบาดและแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 ในช่วงไตรมาส 4 ต่อไป ส่วนการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือ 0.23% จาก 0.46% ต่อปี ที่จะสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2564 ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณาความจำเป็นในการขยายอายุ โดยคำนึงถึงการส่งผ่านไปช่วยเหลือลูกหนี้เป็นสำคัญ.