โควิดทำคนไทยไร้สุขไม่ใช้จ่าย ดัชนีเชื่อมั่นต่ำสุด-หนี้ครัวเรือนจ่อพุ่ง 90% จีดีพี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

โควิดทำคนไทยไร้สุขไม่ใช้จ่าย ดัชนีเชื่อมั่นต่ำสุด-หนี้ครัวเรือนจ่อพุ่ง 90% จีดีพี

Date Time: 11 มิ.ย. 2564 05:50 น.

Summary

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.64 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือต่ำสุดในรอบ 22 ปี 8 เดือน คนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้ความอยากซื้อรถใหม่ บ้านใหม่ลดวูบ

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.64 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือต่ำสุดในรอบ 22 ปี 8 เดือน คนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้ความอยากซื้อรถใหม่ บ้านใหม่ลดวูบ ขณะที่ดัชนีความสุขคนไทยเดือน พ.ค. ต่ำสุดเช่นกัน หลังกังวลโควิด-19 รอบ 3-การเมือง-วัคซีนล่าช้า ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย กังวลคนจมหนี้ใช้รายได้เกิน 50% ผ่อนต้น-ดอก ฟันธง “หนี้ครัวเรือน” ปีนี้พุ่งแตะ 90% จีดีพี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.64 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวลดลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.อยู่ที่ 44.7 ลดจาก 46.0 ในเดือน เม.ย.64 เป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือรอบ 22 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่เริ่มสำรวจเมื่อเดือน ต.ค.41 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันอยู่ที่ 29.2 ลดจาก 31.2 ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ที่ 52.0 ลดจาก 52.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 38.9 ลดจาก 40.3 ดัชนีความเชื่อมั่นโอกาสการหางาน อยู่ที่ 41.3 ลดจาก 42.9 ดัชนีความเชื่อมั่นรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 53.9 ลดจาก 54.7

สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงทุกรายการมาจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่ 3 ประกอบกับ ความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก และขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล โดยเฉพาะ “เราชนะ” และโครงการต่างๆ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ดีขึ้นในระดับหนึ่งก็ตาม

นอกจากนี้ ศูนย์ฯยังได้สำรวจดัชนีความสุขในการดำรงชีวิตด้วย โดยปัจจุบันค่าดัชนีอยู่ที่ 27.7 ลดลงจาก 30.6 ในเดือน เม.ย.64 ต่ำที่สุดในประวัติการณ์นับตั้งแต่สำรวจมาเมื่อเดือน พ.ค.49 หรือต่ำสุดในรอบ 193 เดือน หรือ 16 ปี 1 เดือน สอดคล้องกับความคาดหวังความสุขในการดำเนินชีวิตในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เดือน มิ.ย.-ส.ค.) ต่ำเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคกังวลถึงความไม่แน่นอนในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยแย่ลง เสี่ยงต่อการว่างงาน และการหารายได้ขณะที่ค่าครองชีพในปัจจุบันอยู่ในระดับสูง

ด้านดัชนีความเหมาะสมซื้อรถยนต์คันใหม่ อยู่ที่ 39.8 ลดลงจาก 42.5 ต่ำสุดในรอบ 12 เดือน ส่วนดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านใหม่อยู่ที่ 23.7 ลดจาก 27.1 ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวอยู่ที่ 31.5 ลดจาก 35.8 ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน เพราะความกังวลรายได้ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต รวมถึงผลกระทบจากโควิด -19 ทำให้ไม่มีอารมณ์จับจ่ายใช้สอย

“ตอนนี้คนกังวลเงินในกระเป๋าและได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบโควิด คาดว่าในเดือน มิ.ย.นี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากการปูพรมฉีดวัคซีนต้านโควิดทั่วประเทศในเดือนนี้ แม้ปริมาณวัคซีนอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน แต่การฉีดวัคซีนก็ดำเนินการเป็นวงกว้าง และมีแผนการฉีดวัคซีนที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งยัง มีวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมมากขึ้น”

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่าการฉีดวัคซีนที่ทำได้มากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 3 นี้ ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท รวมถึงการดำเนินการตามแผน ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ และการส่งออกไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโต 2% เป็นอย่างน้อย ด้านนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัย-สุรพล รองกรรมการผู้จัดการบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นหนี้ภาคครัวเรือนหลังมีโควิด-19 รอบ 3 ว่า สถานการณ์หนี้รายย่อยถดถอยลง โดยกลุ่มเปราะบางเผชิญทั้งปัญหารายได้ลด แต่ค่าใช้จ่ายไม่ลด และมีภาระหนี้สูงเกินกว่า 50% ต่อรายได้ เพิ่มขึ้นจาก 10.8% ในโควิดรอบ 2 มาที่ 22.1% โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นจะแตะระดับ 90% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภายในปีนี้ ซึ่งจะมีผลให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง หลังผ่านโควิดรอบนี้

“ผลกระทบที่รุนแรงมากจากโควิด-19 ทำให้ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ เพื่อบรรเทาสถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งผลจากการสำรวจแพร่ระบาดในระลอก 3 เมื่อเทียบกับระลอก 2 พบว่า 1.ขอให้ช่วยเรื่องของรายได้ เพิ่มขึ้นเป็น 317% จาก 26.2% 2. ขอให้เงินช่วยเหลือ เพิ่มขึ้นเป็น 46.6% จาก 38.7% 3.ขอความช่วยเหลือมาตรการสถาบันการเงิน ลดลงเหลือ 19.4% จาก 23.9% และ 4. ขอให้แก้หนี้ลดลงเหลือ 2.3%จาก 11.2%”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ