ขยายสุวรรณภูมิ รับเปิดประเทศ ทอท.เร่งแก้คอขวดสนามบินพร้อมกลับมากระหึ่ม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ขยายสุวรรณภูมิ รับเปิดประเทศ ทอท.เร่งแก้คอขวดสนามบินพร้อมกลับมากระหึ่ม

Date Time: 27 พ.ค. 2564 05:45 น.

Summary

  • หากมองย้อนกลับไปในปี 2563 ช่วงก่อนเกิดวิกฤติไวรัส “โควิด-19” ทุกคนคงทราบดีถึงปัญหาความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือสนามบินสุวรรณภูมิ

Latest

จีนเร่งกระจายฐานการผลิต "ผู้ผลิตแบตเตอรี่ - อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง" ตบเท้าลงทุนไทย พุ่ง!

หากมองย้อนกลับไปในปี 2563 ช่วงก่อนเกิดวิกฤติไวรัส “โควิด-19” ทุกคนคงทราบดีถึงปัญหาความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้สะสมค้างคามากว่า 10 ปี และทุกครั้งที่มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา ก็มักเกิดการถกเถียงกันไม่สิ้นสุดว่า ควรจะต้องสร้างอะไรก่อนอะไรหลัง กลายเป็นปัญหาคาราคาซังถึงปัจจุบัน

วันนี้ทาง “หน้าข่าวเศรษฐกิจไทยรัฐ” ขอพาไปเจาะประเด็นร้อนจากมุมมองผู้คร่ำหวอดสายตรง “นายกีรติ กิจมานะวัฒน์” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ถึงแนวทางการเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอย่างครบวงจร และให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด

ปัญหาคอขวดของท่าอากาศยาน

นายกีรติ เผยว่า อย่างที่เราทราบว่าปัญหาความแออัดของสุวรรณภูมิเกิดขึ้นมานานแล้ว โดยมีความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี แต่กลับมีการใช้งานจริงไปถึง 65 ล้านคนต่อปีทำให้ความแออัดเกิดขึ้นตั้งแต่เวลาขับรถเข้ามา รถจะติดแน่นตั้งแต่ทางเข้าก่อนถึงหน้าอาคารผู้โดยสาร ถ้าฝ่ารถติดเข้ามาได้ก็ต้องลุ้นกันต่อว่าจะหาที่จอดได้ไหม จากนั้นเมื่อเข้าไปในอาคารผู้โดยสาร ก็ต้องต่อคิวรอเช็กอิน และเข้าแถวตรวจค้นตัว ก่อนผ่านจุดตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เห็นได้ว่าความแออัดของสุวรรณภูมิเกิดขึ้นทุกจุด ไม่ได้เกิดเฉพาะปัญหาด้านเขตการบิน (แอร์ไซด์) เครื่องบินขึ้นลงเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาการรองรับผู้โดยสารด้านนอกเขตการบิน (แลนด์ไซด์) ด้วย ดังนั้น หากจะพูดถึงวิธีการแก้ปัญหาจริงๆจะต้องทำแบบครบวงจร ทั้งด้านแอร์ไซด์ควบคู่กับแลนด์ไซด์เพื่อรองรับผู้โดยสารให้เพียงพอ โดยเริ่มตั้งแต่การเพิ่มพื้นที่ถนนหน้าอาคารผู้โดยสาร ที่จอดรถ เคาน์เตอร์เช็กอิน จุดตรวจค้น จุดตรวจลงตราตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตม. หลุมจอดประชิดอาคาร และรันเวย์ เพราะถ้าพัฒนาจุดใด จุดหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ทำทั้งกระบวนการ การไหลเวียนของผู้โดยสารก็จะไปตันที่คอขวดที่ใดที่หนึ่งอยู่ดี

ที่ผ่านมา ทอท.ได้พยายามเร่งพัฒนาในด้านเขตการบินก่อน ด้วยการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังรองที่ 1 ซึ่งมีหลุมจอดประชิดอาคารเพิ่มอีก 28 หลุม จากเดิมที่มีอยู่ 51 หลุม ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2565 รวมถึงก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 ซึ่งจะเสร็จในปี 2566 สามารถช่วยเพิ่มความสามารถการรองรับปริมาณจราจรทางอากาศจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบิน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในด้านเขตการบินของสุวรรณภูมิเพิ่มไปอยู่ระดับ 80-90 ล้านคนต่อปี เพียงพอรองรับผู้โดยสารได้อีกหลายปี

แต่สิ่งที่น่ากังวลตามมาคือ ถ้าผู้โดยสารกลับมาเดินทางได้ดังปกติถึง 65 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2567 คือ ปัญหาด้านแลนด์ไซด์ รถติด ไม่มีที่จอด หรือการรอคิวเช็กอินนาน ก็จะกลับมาเหมือนเดิม เนื่องจากขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารด้านนอกเขตการบิน ไม่ได้ถูกพัฒนาเพิ่มตาม

เร่งก่อสร้างส่วนต่อขยาย 3 ทิศทาง

ดังนั้น ช่วงวิกฤติโควิดที่ผู้โดยสารเดินทางลดลงเหลือไม่ถึง 10% จึงเป็นโอกาสทองที่ ทอท.จะเร่งรัดก่อสร้างอาคารผู้โดยสารให้พร้อมรองรับผู้โดยสารที่จะกลับมาใช้บริการเต็มรูปแบบในปี 2567 โดยเริ่มจากการสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Ex–
pansion) ซึ่งจะสร้างเชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน ทำให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้น 66,000 ตร.ม. สำหรับใช้รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ รองรับการเช็กอินล่วงหน้า ซึ่งจะแก้ปัญหาการแออัดของผู้โดยสารในการเข้าแถวรอคิว ส่วนอาคารที่สอง คือสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตก (West Ex– pansion) ซึ่งมีพื้นที่อาคารผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 66,000 ตร.ม. สำหรับใช้เป็นเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร จุดตรวจค้น และตรวจคน เข้าเมือง

โดย ทอท.ประเมินว่าการก่อสร้างส่วนต่อขยายทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก จะใช้เงินลงทุน 8,000 ล้านบาทต่ออาคาร ซึ่งช่วยแก้ปัญหาความแออัด และรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มได้ถึง 30 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ดี ปัญหายังไม่ได้ถูกแก้ไขหมดทีเดียว เพราะยังไม่สามารถเพิ่มถนนหน้าอาคารผู้โดยสารหรือที่จอดรถได้ จึงอาจทำให้เกิดปัญหารถติดอยู่ดี

นายกีรติ กล่าวต่อว่า ดังนั้น ทอท.จึงปรับแผนการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือใหม่ (North Expansion) เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาความแออัดของผู้โดยสารได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยจะแยกผู้โดยสารภายในประเทศ ไปใช้บริการบริเวณส่วนต่อขยายทางทิศเหนือทั้งหมด พร้อมกับสร้างถนนหน้าอาคารเพิ่มอีก 1 กม. และปรับเส้นทางจราจรให้รับส่งผู้โดยสารในประเทศเพื่อวนกลับออกไปได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านหน้าอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ

ตลอดจนจะสร้างอาคารจอดรถสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มอีก 3,000 คัน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ทอท.ยังหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มสถานีรถไฟฟ้า Airport Link และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มาบริเวณส่วนต่อขยายทางทิศเหนืออีก 1 สถานีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางด้วย

คุ้มค่าประหยัดงบประมาณมากกว่า

ทั้งนี้ ได้มีการประเมินกันว่า ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ เมื่อปรับแผนเสร็จแล้ว จะมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 30 ล้านคนต่อปี อีกทั้งยังทำให้ ทอท. ลดต้นทุนของโครงการลง 30% จาก 42,000 ล้านบาท เหลือประมาณ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากสามารถปรับลดเนื้องานก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าไร้คนขับ ทั้งด้านแอร์ไซด์ และแลนด์ไซด์ ทำให้ระบบการให้บริการในภาพรวมเข้าใจง่ายและสะดวกต่อผู้โดยสาร

ที่สำคัญเมื่อรวมการลงทุนในการก่อสร้างส่วนต่อขยายทั้งด้านตะวันออก ตะวันตก และทิศเหนือ จะช่วยให้ ทอท.ลดงบลงทุนใน 5 ปีข้างหน้าลงเหลือเพียง 46,000 ล้านบาท
แต่รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มเป็น 120 ล้านคนต่อปี เพียงพอต่อการให้บริการไปในอนาคตได้ถึง 15 ปี อีกทั้งยังเกิดความคุ้มค่าของงบประมาณ เมื่อเทียบกับแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารทางทิศใต้ที่ใช้เงินลงทุนสูงกว่า 96,836 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถกลับมายืนหยัดเป็นประตูสู่ประเทศ และก้าวไปสู่การเป็นสนามบินชั้นนำของโลกได้อีกครั้ง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ