สรุป พ.ร.ก.กู้เงินสู้โควิดฉบับที่ 2 ลดเหลือ กู้ 5 แสนล้านบาทจากเดิม 7 แสน ล้าน “อาคม” ชี้จะช่วยพยุงให้เศรษฐกิจดีขึ้น 1.5% เลขาสภาพัฒน์ ชี้เงินกู้ก้อนใหม่มุ่งช่วยผู้ประกอบการร้านอาหาร และที่เข้าไม่ถึงมาตรการสินเชื่อซอฟต์โลน ขณะที่ สบน.คาดกู้ทั้งปีนี้และปีหน้า หนี้สาธารณะยังแค่ใกล้แตะเป้าหมาย 60%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2564 พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 (พ.ร.ก.เงินกู้ โควิด-19 ฉบับที่ 2) ได้ลงในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อย มีผลบังคับใช้แล้ว เนื้อหาสำคัญให้กระทรวง การคลังโดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศหรือออกตราสารหนี้มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 500,000 ล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 ก.ย.2565
ทั้งนี้ แผนงานหรือโครงการใช้จ่ายเงินกู้ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ตามบัญชีท้าย พ.ร.ก.ประกอบด้วย 1 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงสถานพยาบาล และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 30,000 ล้านบาท 2.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพ หรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง 300,000 ล้านบาท และ 3.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงานหรือโครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ 170,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กรณีจำเป็น ครม.สามารถมีมติให้ปรับวงเงินกู้ที่กำหนดไว้ตามบัญชีท้ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้
“พ.ร.ก.กู้เงินโควิด ฉบับที่ 2 จะเข้าไปเสริม พ.ร.ก.เงินกู้โควิด ฉบับแรกวงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพราะตั้งแต่เดือน ม.ค.เป็นต้นมา สถานการณ์ติดเชื้อได้ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้สภาพัฒน์ปรับเป้าหมายเศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวที่ 1.5-2.5% รัฐบาลจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนเตรียมงบเพื่อเสริม พ.ร.ก.เงินกู้โควิดฉบับแรก เพราะเหลือเงินไม่เพียงพอ ซึ่งการกู้เงินเพิ่มอีก 500,000 ล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจปี 2564-2565 โตเพิ่ม 1.5% เช่นเดียวกับในปี 2563 ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจจะติดลบ 8% แต่เมื่อมีการกู้เงินมาช่วยทำให้ติดลบแค่ 6%”
รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า การกู้เงิน 500,000 ล้านบาท จะส่งผลให้หนี้สาธารณะ ณ เดือน ก.ย. 2564 อยู่ที่ 58.56% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งต้องเข้าใจว่าเวลากู้เงินจะไม่ได้กู้ทีเดียวทั้งก้อน จะทยอยกู้ตามความจำเป็นและจากการที่ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด ฉบับ 2 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ต้องนำเรื่องส่งไปยังรัฐสภาเพื่อกำหนดว่าจะบรรจุวาระเมื่อใด ซึ่งในข้อกฎหมายต้องทำโดยไม่ชักช้า
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. หรือสภาพัฒน์) กล่าวเพิ่มเติมว่า ตาม พ.ร.ก.เงินกู้โควิด ฉบับแรก 1 ล้านล้านบาท อนุมัติวงเงินไปแล้ว 817,000 ล้านบาท ช่วยส่งผลพยุงเศรษฐกิจดีขึ้น 2% ส่วนวงเงินที่เหลือได้อนุมัติโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 4 โครงการไปแล้ว รวมวงเงิน 140,000 ล้านบาท เช่น โครงการคนละครึ่ง ยิ่งใช้ ยิ่งได้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ฉบับใหม่ ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่วางกรอบไว้ 170,000 ล้านบาท จะนำไปใช้บริหารจัดการน้ำในโครงสร้างพื้นฐานขนาดไม่ใหญ่ รวมทั้งช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเวิร์ก ฟรอม โฮม การจำกัดที่นั่งในร้านอาหาร และกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงวงเงินสินเชื่อซอฟต์โลน ตลอดจนการรักษาการจ้างงาน และการดูแลนักศึกษาจบใหม่ด้วย
ด้านนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 500,000 ล้านบาทนั้น ในปีงบประมาณ 2564 นี้จะกู้ราว 100,000 ล้านบาทก่อน โดย สบน.จะบริหารหนี้สาธารณะด้วยความรอบคอบ และช่วงเวลานี้เป็นวิกฤติโควิดเงินกู้เป็นเม็ดเงินที่สำคัญที่สุดในการช่วยเหลือดูแลเศรษฐกิจเช่นเดียวกันกับต่างประเทศ โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปีหน้าจะเป็นเท่าไรนั้น สบน.กำลังทบทวนแผนอยู่ โดยเชื่อว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีน่าจะใกล้แตะ 60%.