หลายคนเข้าใจคำว่า “กงสี” ผิดเพี้ยนไปมาก ยิ่งถ้าเป็นคนไทยแท้ๆ ไม่ใช่คนจีนจริงๆ ยิ่งตีโจทย์ของคำว่า กงสีผิดไปคนละทิศละทาง ความเข้าใจผิดในคำว่า กงสี ของคนในครอบครัวมหาเศรษฐีไทยอีกตระกูลหนึ่งที่มี เจ้าสัวกิตติ ดำเนินชาญวนิชย์ เป็นบิดา และเจ้าของกงสีตัวจริงนั้น เป็นบทเรียนราคาแพงให้ลูกๆ และคนในตระกูลอื่นต้องให้ความสำคัญและเข้าใจตรงกันว่า บิดา คือผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทุกอย่างที่หามาได้ และเลี้ยงดูพวกเจ้ามาตั้งแต่ยังเล็ก
เจ้าสัวกิตติเริ่มทำธุรกิจด้วยการเป็นพ่อค้าข้าว มีโรงสีเป็นของตัวเอง โดยมีนางสุรางค์ ภรรยาเป็นคู่บุญช่วยดูแลเรื่องการเงินให้ ก่อนจะมีบุตรธิดา หญิงสอง ชายสอง มาช่วยกันทำงาน
เจ้าสัวกิตติกลายเป็นพ่อค้าข้าวรายใหญ่ขึ้นมา ด้วยการซื้อเรือหลายลำที่มีอยู่จำนวนมากในเวลานั้น ขนข้าวไปลอยคออยู่ในทะเลแถบยุโรป และแอฟริกาเพื่อดักต้นทางไว้ขายก่อนเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามายังประเทศไทย เรือของเจ้าสัวกิตติจึงใช้เวลาเพียงไม่กี่วันก็ส่งข้าวถึงมือผู้ซื้อได้แล้ว ซ้ำยังเป็นพ่อค้ารายแรกๆที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นกำไรกับการค้าข้าวด้วย
แต่หลังจากที่ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) พยายามรวมนักธุรกิจรายใหญ่ๆของไทยเข้าด้วยกันเพื่อจัดตั้ง “สภาหอการค้าไทย” เจ้าสัวกิตติโดดเข้าร่วมทำกิจกรรมที่นิด้าส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสอนเรื่องการทำธุรกิจใหม่ๆที่เป็นดาวรุ่งเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจไทยมีธุรกิจหล่อเลี้ยงประเทศชาติมากขึ้น
บทเรียนที่เจ้าสัวกิตติสนใจมากที่สุดก็คือ การปลูกต้นกระดาษ หรือต้นยูคาลิปตัส ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้นำเอาหลักสูตรนี้มาสอน โดยใช้ต้นแบบจากบราซิล และขอนิสิตเกษตรรุ่นแรกที่เรียนเรื่องนี้ไปทำงานค้นคว้าวิจัยเพิ่มขึ้นในกลุ่มพืชเชิงเดี่ยว
นิสิตเกษตรที่เข้าไปทำวิจัยให้ ประสบความสำเร็จเกินกว่าบราซิล นั่นจึงเป็นที่มาของการหันไประดมพื้นที่แห้งแล้งซึ่งปลูกอะไรไม่ขึ้นเอาไปใช้ปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อผลิตกระดาษหลากรูปแบบออกมาตั้งแต่กระดาษขาว เพื่อการทำธุรกิจ-ธุรกรรมการเงิน การซื้อขาย การทำสัญญาตามกฎหมาย และส่งออกไปทั่วโลกนำมาซึ่งรายได้นับแสนล้านบาทให้กับ บริษัท ดั๊บเบิ้ลเอ 1991 จำกัด (มหาชน)
เมื่อ “กงสี” ของ “พ่อ” มั่นคง และมั่งคั่งขึ้น ขณะที่ลูกๆเติบใหญ่แล้ว เจ้าสัวกิตติจึงเห็นควรแบ่งทรัพย์สินให้ลูกทั้ง 4 คน ภายใต้สัญญาต่างตอบแทนซึ่งลูกทุกคนต้องเซ็น และส่งคืนทรัพย์บางอย่างเพื่อแลกเอาทรัพย์บางอย่างที่พ่อให้กลับไป
พร้อมประกาศชัดว่าลูกชายคนแรกซึ่งหมายถึง นายโยธิน จะเป็นทายาทสืบแทนตน เพื่อดำเนินธุรกิจของบริษัทให้มีความมั่นคงแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต
แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อลูกสาวคนที่ 2 แสดงความไม่พอใจกับทรัพย์ที่พ่อแบ่งให้ ทั้งยังฟ้องร้อง นายโยธินหลายคดีเรื่องการใช้เงินของบริษัท
สภาครอบครัว ที่มี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน จึงเกิดขึ้น โดยมีสำนักงานทนายความใหญ่ เสรี และมานิต ว่าความให้ ทั้งหมดได้ขอให้เจ้าสัวกิตติเป็นโจทก์ฟ้องลูกคนที่ 2 เพื่อให้ยอมรับกับทรัพย์ที่ได้รับการแบ่งไป โดยเฉพาะเมื่อทุกคนได้ลงนามไว้แล้ว...แต่จำเลยไม่ยอม
ตรงกันข้าม กลับแจ้งต่อศาลว่าเป็นหุ้นส่วนในธุรกิจกับพ่อมาตั้งแต่ต้น ทรัพย์ที่ได้รับการแบ่งจึงควรมีจำนวนมากกว่า 4,000 ล้านบาท ทั้งยังขอบอกเลิกสัญญาต่างตอบแทนทั้งหมดด้วย
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ศาลชั้นต้นและศาล อุทธรณ์ จึงมีความเห็นตรงกันให้โจทก์คือเจ้าสัวกิตติ เป็นผู้ชนะ
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ก่อนวันที่ศาลฎีกาจะอ่านคำพิพากษา เจ้าสัวได้เรียกลูกสาวคนดังกล่าวเข้าพบ พร้อมเสนอเงินเพิ่มให้อีก 9,000 ล้านบาท รวมเป็น 13,000 ล้านบาท เพื่อให้ยอมความ...แต่เธอปฏิเสธ
แม้ความเป็นพ่อลูกจะตัดกันไม่ขาด แต่ทรัพย์ทั้งหมดถูกศาลท่านตัดสินให้คืนพ่อพร้อมดอกเบี้ยอีก 7.5% ตลอดเวลาเกือบ 10 ปีที่ทำให้พ่อไม่เคยนอนหลับเลย!!
แสงทิพย์ ยิ้มละมัย