ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างต้องการให้ภาครัฐทบทวนแนวทางการกำหนดค่าตัวเลขดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างาน (ค่าเค) ของงานก่อสร้างภาครัฐ เพื่อลดผลกระทบจากราคาเหล็กที่ปรับสูงขึ้นในขณะนี้ว่าผู้รับเหมารายกลาง รายเล็ก ได้รับผลกระทบมาก เพราะไม่สามารถซื้อเหล็กราคาถูกจากผู้ผลิตได้ ดังนั้น จึงเรียกร้องให้รัฐจ่ายค่าเคให้ โดยไม่ต้องให้ค่าเค ณ วันที่หน่วยงานภาครัฐจ่ายให้สูงเกิน 4% ตามกำหนดก็ได้ แค่ขึ้น 2% หรือ 3% ก็อยากให้จ่ายชดเชยให้แล้ว สำหรับค่าเค มี 2 อย่างคือ
ค่าเค ณ วันเปิดซอง และค่าเค ณ วันที่หน่วยงานภาครัฐต้องจ่ายให้ผู้รับเหมา ถ้าราคาเหล็ก และวัสดุก่อสร้าง ณ วันที่รัฐจ่ายค่าเคให้สูงกว่าราคา ณ วันที่นำมาคำนวณในช่วงเปิดซอง รัฐก็จะจ่ายให้ผู้รับเหมา แต่ได้กำหนดว่า ถ้าเกิน 4% ของค่าเค ณ วันเปิดซอง จึงจะจ่ายชดเชยให้ เพราะถือว่าต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจริง
“ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าวกรมได้หารือร่วมกับสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันในหลักการและเหตุผลของการกำหนดค่าเค ที่เป็นการสร้างความเป็นธรรมต่อทั้งหน่วยงานภาครัฐและผู้รับเหมาที่รับงานจากภาครัฐ ที่จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเกินสมควรหากราคาเหล็ก และวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นมาก ตลอดจนรับทราบถึงวิธีการคำนวณและปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อค่าเค”
รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องการกำหนดราคากลางของงานก่อสร้างภาครัฐด้วย ส่วนหน่วยงานภาครัฐจะทบทวนสูตรการคำนวณค่าเค หรือกำหนดราคากลางใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่นั้น สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยจะจัดทำรายละเอียดข้อมูลแนวทางการกำหนดค่าเค และการคำนวณราคากลางของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเสนอให้สำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางพิจารณาต่อไป ซึ่งในการแก้ไขปัญหา
เร่งด่วนขณะนี้ คือ กรมได้ขอให้ผู้ผลิตเหล็กตรึงราคาจำหน่าย ไม่ให้ปรับราคาสูงขึ้นเกินกว่าต้นทุนที่แท้จริง ขณะเดียวกัน ได้เชื่อมโยงให้กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างสั่งซื้อเหล็กจากผู้ผลิตเหล็กโดยตรงเพื่อลดต้นทุนด้านราคาลงส่วนหนึ่ง ทั้งนี้จากการส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ พบว่า ผู้ค้าเหล็กให้ความร่วมมือตรึงราคา หรือปรับขึ้นราคาไม่เกินต้นทุนที่แท้จริง.