นายกฯ “บิ๊กตู่” ย้ำจุดยืนไทยในเวที “นิคเคอิ ฟอรัม” โควิด-19 ถือเป็นสัญญาณเตือนให้ต้องเร่งปรับตัวและแก้ไขจุดอ่อน ยันเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นไตรมาส 4 ปีนี้ พร้อมทะยานต่อ 4.7% ในปี 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กล่าวปาฐกถาเนื่องในการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 26 ที่ประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์นิคเคอิ ในหัวข้อหลัก “การสร้างรูปแบบของอนาคตยุคหลังโควิด-19 : บทบาทของภูมิภาคเอเชียต่อการฟื้นตัวของโลก” ผ่านระบบการประชุมทางไกลว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือป็นสัญญาณเตือนให้ต้องเร่งปรับตัวและแก้ไขจุดอ่อน เพื่อกลับมาลุกขึ้นยืนและเข้มแข็งกว่าเดิมให้ได้เร็วที่สุด เชื่อมั่นว่า เอเชียจะสามารถมีบทบาทนำในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกให้มีการเจริญเติบโตที่เข้มแข็งและยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูแบบองค์รวมได้
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีบทบาททางธุรกิจในไทยมายาวนาน ซึ่งไทยก็มีบทบาทสำคัญเป็นฐานการผลิตและศูนย์กลางกระจายสินค้าให้แก่บริษัทญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในไทยกว่า 5,800 แห่ง และเป็นฐานสำหรับการขยายการลงทุนของญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การลงทุนสะสมของญี่ปุ่น (FDI) ในไทยจนถึงปี 2563 มีมูลค่าสูงกว่า 93,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท) ขอยืนยันว่าไทยมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลงทุนจากทุกประเทศ
และดำเนินการตามข้อเสนอแนะของบริษัทญี่ปุ่นในไทย เช่น การรักษาความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจและการลงทุน รวมถึงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการระบบราง โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการการพัฒนาสมาร์ท ซิตี้ รอบสถานีกลางบางซื่อ เป็นต้น
นอกจากนี้ จะเน้นพัฒนาแรงงานทักษะ โดยเฉพาะวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมสำคัญ และปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพิธีการศุลกากรและภาษีนิติบุคคล ซึ่งไทยมีแผนเพิ่มการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการต่างชาติ
และเสริมสร้างโอกาสการค้าที่เสรี เป็นธรรมและเปิดกว้าง รวมถึงการพิจารณาเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และในปี 2565 จะริเริ่มการพูดคุยถึงเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก หรือเอฟแทป และเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมากขึ้น ให้เพิ่มเติมจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ที่มีอยู่แล้ว
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติ โดย เฉพาะการเดินทางและท่องเที่ยว ขอเรียกร้องให้วัคซีนโควิด-19 จัดเป็นสินค้าสาธารณะของโลกและผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุมซึ่งไทยมีข้อริเริ่มการกระตุ้นการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยอย่างปลอดภัย จึงหวังว่าจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นผ่านข้อริเริ่มนี้
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิคเคอิ ว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังคงมีสัญญาณบวกในบางสาขา อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ การอุปโภคบริโภค ภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว การใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก และเอสเอ็มอี ได้แก่ 1.มาตรการเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และคงการไหลเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ 2.มาตรการทางการเงินและทางภาษี 3.มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงาน ซึ่งจากมาตรการเศรษฐกิจและแผนการด้านวัคซีนของรัฐบาลตามเป้าหมาย
“เชื่อว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ที่ 2.3-2.5% ส่งออกขยายตัวที่ 4.5% การท่องเที่ยวฟื้นตัว และเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.7% ในปีหน้า ทั้งนี้ ไทยยินดีที่รัฐบาลและเอกชนญี่ปุ่นเชื่อมั่นในศักยภาพเศรษฐกิจของไทย ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสให้ไทยและญี่ปุ่นร่วมมือเพื่อเสริมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนไทยคำนึงถึงข้อแนะนำของเอกชนญี่ปุ่นและพร้อมร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ การสร้างเศรษฐกิจใหม่ การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม การเสริมสร้างอุตสาหกรรมที่ทันสมัย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า”.