เปิดแผนผู้ว่า กนอ.คนใหม่ วิ่งสู้ฟัดฝ่าวิกฤติโควิด-19

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดแผนผู้ว่า กนอ.คนใหม่ วิ่งสู้ฟัดฝ่าวิกฤติโควิด-19

Date Time: 18 พ.ค. 2564 05:05 น.

Summary

  • ด้วยวัยเพียง 46 ปี “วีริศ อัมระปาล” อาจถูกมองว่ายังน้อยเกินไป กับการขึ้นมารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ “การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” (กนอ.) ในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่

Latest

เตรียมพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงต้นปี 2568 กับ 4 ความผิด ที่มักถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง

ด้วยวัยเพียง 46 ปี “วีริศ อัมระปาล” อาจถูกมองว่ายังน้อยเกินไป กับการขึ้นมารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ “การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” (กนอ.) ในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่

โดยจากนี้ไปอีก 4 ปีข้างหน้าเขาจะต้องมากำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมต่างๆของ กนอ.และนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ร่วมดำเนินการ ทั้งประเทศรวมทั้งสิ้น 62 แห่งใน 16 จังหวัด ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดอย่างรุนแรงในทั่วโลกของโรคโควิด-19 ที่กำลังสร้างความปั่นป่วนไปทั่ว จนทำให้หลายๆประเทศทั่วโลกต่างต้องปรับกลยุทธ์ในการดึงดูดการลงทุนที่มีอยู่น้อยนิดในภาวะเช่นนี้ ให้เข้าสู่ประเทศตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้พลิกฟื้นกลับมาโดยเร็วที่สุด ให้เกิดการจ้างงานต่อเนื่อง เร่งการส่งออกเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ

“วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่ กล่าวกับทีมเศรษฐกิจ “ไทยรัฐ” ว่า อายุไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะตนได้ผ่านงานด้านวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ตลอดจนงานด้านการเมืองที่เป็นที่ปรึกษานายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมที่พร้อมจะดึงศักยภาพเหล่านี้มาบริหารงาน กนอ.

“จากนี้ไป โครงการสำคัญๆที่ กนอ.จะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ให้พร้อมรองรับการลงทุนในอนาคต ที่เป็นการต่อยอดจากแผนงานเดิมที่มีอยู่ให้แล้วเสร็จตามกำหนด เพราะเชื่อมั่นว่าเมื่อหลายๆประเทศทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็จะทำให้บรรยากาศการลงทุนของโลกจะฟื้นกลับมา ซึ่งประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่นักลงทุนจะให้ความสนใจเข้ามาลงทุน”

ดังนั้น โครงการที่จะต้องดำเนินการเร่งด่วน มีอาทิ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมขนส่งก๊าซธรรมชาติ และพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีชั้นสูงที่สำคัญในอนาคตที่บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ได้สิทธิการร่วมลงทุนกับ กนอ. รวมทั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คที่อยู่ในพื้นที่มาบตาพุด คอมเพล็กซ์ จ.ระยอง และเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทคที่มีนวัตกรรมตามโจทย์ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ เช่น การผลิตเครื่องมือแพทย์ ตลอดจนอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง

นอกจากนี้เพื่อจัดระเบียบองค์กรให้กระชับตอบโจทย์ประเทศไทยยุค 4.0 จึงได้แบ่งงานออกเป็น 6 กลุ่มใหญ่ที่สำคัญๆ อาทิ แผนการหาแนวทางการดึงดูดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมให้เพิ่มมากขึ้น โดยจะใช้ทั้งมาตรการการตลาดและมาตรการเชิงรุก ออกไปหารือกับนักลงทุนโดยตรง รวมทั้งเร่งสื่อสารทางการตลาดประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลศักยภาพของนิคมอุตสาหกรรม แก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศผ่านระบบออนไลน์

แผนการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษชายแดน (SEZ) ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม สระแก้ว นิคมอุตสาหกรรม สงขลา

แผนลดความเสี่ยง โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำและพลังงาน ซึ่งจะต้องมีเพียงพอทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยคำนึงถึงสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงต่างๆ เช่น การจัดทำแผนงานและแนวทางการบริหารแหล่งน้ำดิบ ให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า การหาและสร้างระบบจัดเก็บแหล่งน้ำดิบสำรอง การส่งเสริมระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Water Recycle) และการใช้เทคโนโลยีเอไอ

ผู้ว่าการ กนอ.ย้ำว่า สถานการณ์ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ขณะนี้ แม้เป็นช่วงโควิด-19 ระบาด แต่ยอดการขยายกิจการของโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตหรือขยายไลน์การผลิตสินค้าใหม่ๆ ยังคงเพิ่มขึ้น

ล่าสุด พบว่าผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมได้ ขอขยายพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนในปีนี้ รวม 3,680 ไร่ วงเงินลงทุนรวม 103,000 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงาน 26,000 คน มากกว่าปีที่ผ่านมาที่ขอขยายพื้นที่ 2,500 ไร่ ขณะที่เมื่อปี 2562 มีการขอขยายพื้นที่ 2,222 ไร่ ซึ่งเม็ดเงินลงทุนจากการขอขยายพื้นที่ดังกล่าวจะทยอยลงทุนจริงในปีนี้และต่อเนื่องไปถึงปี 2566

ผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่ได้ย้ำทิ้งท้ายว่า ในเร็วๆนี้ ก็จะมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดใหม่เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง อาทิ นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโก จ.ระยอง นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จ.ชลบุรี

ณ ขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสะสมรวม 177,890 ไร่ มีพื้นที่เหลือขายหรือเช่า 27,706 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนรวม 4.69 ล้านล้านบาท มีการจ้างงานในระบบ 548,682 คน จากจำนวนโรงงานทั้งหมด 5,080 แห่ง

ดังนั้น ประเทศไทยคือจุดปักหมุดเช็กอินของบรรดานักลงทุนทั่วโลกอย่างแน่นอน หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายในทางที่ดีขึ้น!!!

เกรียงไกร พันธุ์เพ็ชร


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ