“การเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19” ให้มากเพียงพอที่จะสร้าง “ระบบภูมิคุ้มกันหมู่” หรือ herd immunity ให้เกิดขึ้นในประเทศโดยเร็วที่สุด จึงกลายเป็น “อาวุธ” สำคัญในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 รอบนี้ รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดรุนแรงในรอบต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้สังคมไทยสามารถกลับมาหันหน้าเข้าหากัน และประเทศไทยสามารถเปิดรับท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ สำหรับแผนการดำเนินการ ด้านวัคซีนของภาครัฐ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ครั้งที่ 6/64 เมื่อวันที่ 29 เม.ย.64 ที่ผ่านมา รัฐบาลจะเป็นผู้นำเข้าวัคซีน 100 ล้านโดส และกระจายฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคนภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งจะครอบคลุม 70% ของประชากร ซึ่งเป็นระดับที่เพียงพอที่จะสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ได้ โดยตั้งเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีน 500,000-1 ล้านโดสต่อวัน และจะฉีดครบ 100 ล้านโดส ภายในเวลา 4-7 เดือน ใกล้เคียงกับช่วงสิ้นปีพอดี
ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับแผนการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น ซึ่งนอกเหนือการลงทะเบียนจองฉีดผ่านแอปพลิเคชันและไลน์ “หมอพร้อม” และลงทะเบียนที่โรงพยาบาลใกล้บ้านแล้วกำลังดำเนินการเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถ Walk in เข้าไปฉีดยังจุดฉีดได้ ทั้งแบบบุคคลและหมู่คณะ รวมทั้งเปิดให้โรงพยาบาลเอกชนนำ “วัคซีนทางเลือก” มาฉีดให้คนไทยเพิ่มเติมได้
“ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ถึงแนวทางการจัดหา “วัคซีนทางเลือก” หากประชาชนต้องการวัคซีนนอกเหนือจากที่รัฐบาลจัดหาว่า จะมีวัคซีนจากผู้ผลิตรายใด ระยะเวลาที่จะเริ่มฉีดได้ รวมทั้ง “ราคา” ถูกหรือแพงอย่างไร
นอกจากนั้น ยังได้ สัมภาษณ์ผู้บริหารในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ถึงการรับมือกับการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในโรงงาน ซึ่งกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ถึงความเต็มใจและความพร้อมในการซื้อวัคซีน และนโยบายการฉีดวัคซีนให้กับพนักงาน เพื่อเป็นอีกข้อมูล และทางเลือกสำหรับภาครัฐในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศต่อไป
สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้สำรวจความต้องการของโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นสมาชิกแล้วว่า มีความต้องการวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวนเท่าไร เพื่อนำมาให้บริการฉีดให้กับประชาชนเพิ่มเติม หรือเป็น “วัคซีนทางเลือก” โดยล่าสุด พบว่า มีความต้องการประมาณ 5 ล้านโดส
“สมาคมจะแจ้งความต้องการดังกล่าวไปยังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อให้นำเข้าวัคซีนทางเลือกจากผู้ผลิตรายอื่น อย่างโมเดอร์นา (Moderna) เข้ามาฉีดให้กับคนไทยเพิ่มเติม นอกเหนือจากวัคซีนที่รัฐบาลนำเข้ามาฉีดฟรีให้กับคนไทย และหลังจากสมาคมแจ้งปริมาณความต้องการไปแล้ว อภ.จะเป็นผู้นำเข้าให้ เพราะขณะนี้ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งยังเป็น Generation แรก อนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น บริษัทผู้ผลิตจะขายตรงให้กับรัฐบาลเท่านั้น ยังไม่ขายให้กับเอกชน นอกจากนั้น วัคซีนของโมเดอร์นาก็เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยา จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สัปดาห์ที่ผ่านมา และเป็นตัวเลือกที่ประชาชนต้องการ”
โดยปริมาณ 5 ล้านโดสที่สมาคมต้องการนั้น ผู้ผลิตจะผลิตและจัดส่งให้ได้ภายในปีนี้!!
อย่างไรก็ตาม ถ้าวัคซีนของผู้ผลิตรายอื่นผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย.แล้ว หรือมีวัคซีน Generation 2 ที่ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการรักษาดีขึ้น สมาคมจะแจ้งให้ อภ.นำเข้ามาอีก เพื่อเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นให้กับคนไทย ขณะนี้ผู้ผลิตบางราย อย่างรัสเซีย ได้พัฒนาสปุตนิก Generation 2 แล้ว ใช้ชื่อว่า สปุตนิก ไลท์
สำหรับค่าบริการฉีดวัคซีนทางเลือกในโรงพยาบาลเอกชนนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดชัดเจน เพราะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนการนำเข้า ค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่าประกันภัยกรณีที่ประชาชนฉีดแล้วมีอาการแพ้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ถ้าต้นทุนถูก อาจตั้งราคาค่าบริการเข็มละไม่กี่ร้อยบาท แต่ถ้าต้นทุนสูงค่าบริการฉีดก็เป็นหลักพันบาท แต่ตั้งเป้าหมายให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งกำหนดให้เป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศ
ขณะนี้ ความหวังในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทั่วโลกอยู่ที่วัคซีน ดังนั้น คนไทยอย่าลังเลในการฉีด ควรจะฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด ยิ่งฉีดได้เร็วเท่าไรยิ่งดี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว และให้พร้อมรับกับการเปิดประเทศ เศรษฐกิจประเทศจะได้ขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว
“คนไทยฉีดเร็วเท่าไรยิ่งดี ตอนนี้มีวัคซีนที่รัฐจัดหามาให้ก็ต้องรีบฉีด อย่ามัวแต่รอวัคซีนทางเลือก เพราะกว่าจะมาก็อีกหลายเดือน วัคซีนทางเลือกฉีดภายหลังก็ได้ หรือฉีดหลังจากฉีดวัคซีนของรัฐไปแล้ว 6 เดือน เพราะตามทฤษฎี การฉีดวัคซีนต้องฉีดอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น 6 เดือนครั้ง เหมือนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่”
ขณะนี้การระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 มีความรุนแรง และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปเกือบทั้งประเทศ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคสาธารณสุข ชีวิตความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจประเทศ ที่ยังคงได้รับความบอบช้ำจากการระบาดระลอก 1 และ 2 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ภาคท่องเที่ยวและบริการ ที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ ทำให้ขาดสภาพคล่องต้องหยุดกิจการ เลิกจ้างพนักงาน จึงเป็นเหตุผลที่ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศ เพื่อทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ
ทั้งนี้ ส.อ.ท.และภาคเอกชนส่วนใหญ่ มีความพร้อมและยินดีหากต้องเสียเงินซื้อวัคซีนทางเลือก เพื่อฉีดให้กับพนักงานของตนเอง เพื่อป้องกันการระบาด เพราะหากมีการระบาดเข้าโรงงานอาจทำให้เกิดการหยุดชะงักของสายการผลิต และอาจถึงขั้นต้องปิดโรงงานชั่วคราว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้า ทั้งภายในประเทศและส่งออก
“วัคซีนดังกล่าวต้องนำเข้าอย่างถูกต้องและต้องมาถึงเราและฉีดให้ทันภายในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งจากการที่ ส.อ.ท. สำรวจความ ต้องการวัคซีนทางเลือก พบว่า สมาชิก ส.อ.ท. 6,174 แห่ง และพนักงาน 1,036,347 คน ได้แจ้งความจำนงรับการฉีดวัคซีนทางเลือก โดยนายจ้างจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้กับพนักงานเอง”
ทั้งนี้ จากการจัดหาวัคซีนที่เพียงพอ และเตรียมสถานที่สำหรับการฉีดที่พร้อมแล้ว แต่สิ่งสำคัญในขณะนี้ คือ การประชาสัมพันธ์และการสร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เนื่องจากได้เกิดกระแสข่าว รวมทั้งการแชร์ข้อมูลอาการผลข้างเคียงและอันตรายจากอาการแพ้ ลิ่มเลือดอุดตัน เกิดอาการคล้ายอัมพฤกษ์ อัมพาต
“การแชร์ข้อมูลอาการผลข้างเคียงต่างๆ ทำให้ประชาชนกลัวฉีดวัคซีน ทั้งที่ความจริงแล้ว เป็นเพียงกรณีที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้ที่ได้รับการฉีด ซึ่งจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลเปิดให้ผู้อายุเกิน 60 ปี และผู้ป่วย 7 โรคเสี่ยงลงทะเบียนเข้ารับวัคซีน โดยตั้งเป้าหมายที่ 16 ล้านคน แต่มีผู้ลงทะเบียน 4 ล้านคน ต่ำกว่าเป้าหมาย เพราะส่วนใหญ่มีความกังวลและไม่มั่นใจถึงความปลอดภัยของวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) และแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และเลือกที่จะรอวัคซีนทางเลือกอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ถึงขนาดที่บางรายบอกว่า หากต้องเสียเงินซื้อเองก็ยอม”
การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ และให้ข้อมูลในทางเดียว ไม่ขัดแย้งกันและต้องไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยๆ มิฉะนั้น ประชาชนจะสับสน ตัดสินใจไม่ถูก
ทั้งนี้ การระบาดระลอก 1 และ 2 พบคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. ติดเชื้อด้วย ซึ่งแต่ละโรงงานได้ใช้มาตรการเข้มงวดด้านสาธารณสุข ทั้งแยกตัวไปรักษา ตรวจเชื้อผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด ถ้าพบผลเป็นบวกก็รักษา แต่ถ้าผลเป็นลบก็ให้กักตัวเป็นเวลา 14 วัน ปิดสายการผลิต ปิดโรงงาน เพื่อฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และทำความสะอาดตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข จนแน่ใจว่า ปลอดเชื้อแล้ว จึงกลับมาเดินเครื่องผลิตและเปิดโรงงาน
ส่วนการระบาดระลอก 3 อาจจะพบคลัสเตอร์ของการแพร่ระบาดจากโรงงานในหลายพื้นที่ แต่จากการสอบถามโรงงานที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. ยังไม่พบคนงานติดเชื้อ แต่อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้แรงงานในโรงงานต่างๆ ภายในเดือน มิ.ย.นี้
“ผู้สั่งซื้อสอบถามมายังโรงงานในไทยถึงมาตรการป้องกันการระบาด โดยเฉพาะเรื่องการฉีดวัคซีนของพนักงานที่ทำงานในโรงงาน ทั้งมาตรการการฉีด และจำนวนของพนักงานที่ได้รับวัคซีน ดังนั้น การเร่งฉีดวัคซีนให้แรงงานในภาคการผลิต จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ และผู้นำเข้าจากต่างประเทศอย่างดีที่สุด ส่งผลทำให้มียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจพลิกฟื้นได้”
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม แม้ว่าประเทศไทยเผชิญวิกฤติโควิด-19 ระลอกที่ 3 แต่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออก กลับได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่สหรัฐฯและจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญรายใหญ่ของไทย มีความต้องการนำเข้าสินค้าจำนวนมาก เช่น สินค้าประเภทคอมพิวเตอร์ รถยนต์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหาร
“ตั้งแต่เกิดการระบาด ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มความระมัดระวัง และเข้มงวดในการป้องกันการติดเชื้อในพนักงานอย่างจริงจัง ตามมาตรการด้านสาธารณสุขของภาครัฐ แต่เมื่อรัฐบาลมีวัคซีนเข้ามาแล้ว ก็ต้องการให้ภาครัฐเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด เพื่อรองรับการเปิดประเทศ และทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าได้”
ทั้งนี้ สมาพันธ์ได้รณรงค์ทุกช่องทาง ทั้งผ่านเครือข่ายเอสเอ็มอีใน 77 จังหวัด รวมถึงสื่อโซเชียลของ สมาพันธ์ ให้ผู้ประกอบการสมาชิก พนักงาน และสมาชิกในครอบครัว เร่งลงทะเบียนฉีดวัคซีนของรัฐ เพราะถ้าเอสเอ็มอีจะจ่ายเงินฉีดให้พนักงานเองคงยาก เนื่องจากส่วนใหญ่ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก บางรายอาการสาหัส และมีที่ล้มตายแล้วจำนวนมาก
“ภาพรวมมีความต้องการฉีดวัคซีนกันมาก เพราะต้องการให้การแพร่ระบาดจบโดยเร็ว การดำรงชีวิต การทำธุรกิจจะได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ก็มีบ้างที่ยังลังเล ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกันให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นใจในการฉีดสมาพันธ์พยายามรณรงค์อยู่ และได้ผลตอบรับที่ดี ส่วนใหญ่ยินดีฉีด”
ส่วนแผนการจัดหาและกระจายการฉีดวัคซีนของภาครัฐ แม้ที่ผ่านมา อาจล่าช้าบ้าง แต่ขณะนี้ รัฐบาลได้ปรับแผนใหม่ให้เร็วขึ้น มีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถ Walk in เข้าไปฉีดยังจุดฉีดได้ นอกเหนือจากการลงทะเบียนจองฉีดผ่านแอปพลิเคชัน และไลน์ “หมอพร้อม” และลงทะเบียนที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน อีกทั้งยังลดกติกา ลดข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงการฉีดได้เร็วขึ้น
ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เร่งรัดกระบวนการรับรองวัคซีนยี่ห้อต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ถ้าจะให้ดีมากขึ้น รัฐควรออกมาตรการจูงใจต่างๆ เหมือนในบางประเทศ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนไปฉีดให้มากขึ้น หรือถ้าฉีดให้ได้วันละ 500,000 โดสได้ก็จะยิ่งดีสำหรับการเปิดประเทศ
“ถ้าฉีดวัคซีนได้เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งดีกับเศรษฐกิจไทย เพราะจะทำให้ผู้คนสัญจรไปมาได้ กิจกรรมต่างๆทางเศรษฐกิจจะตามมา เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจบริการ และธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวก็จะกลับมาคึกคัก ส่งผลให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ จากขณะนี้ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีเหนื่อยที่สุด ติดหล่มสภาพคล่อง จึงต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยา เช่น ลดรายจ่าย ช่วยประคองรายได้ ช่วยจ่ายค่าแรงพนักงานให้ 50%”
นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดย่อย, มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำลังซื้อ โดยเน้นไปที่ประชาชน ที่มีรายได้น้อย, มีมาตรการรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยเน้นไปที่ภาคการท่องเที่ยว การสร้างแลนด์มาร์กใหม่ๆ สำหรับการท่องเที่ยว ที่เชื่อมโยงการสร้างรายได้ให้ชุมชน
วางพื้นฐานระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ (Internal Circulation Economy) หรือเศรษฐกิจฐานราก เพราะคงพึ่งพาการส่งออกเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ยากขึ้น รวมทั้ง วางโครงสร้างพื้นฐาน Digital Economy เป็นต้น “รัฐบาลควรใช้เวลาในช่วง 2 ปีนี้ในการวางแผน และใช้เม็ดเงินในการลงทุนล่วงหน้า แทนการกระจายเม็ดเงินตามกลไกปกติ ซึ่งไม่มีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนเลย”.
ทีมเศรษฐกิจ