"ประกันสังคม" เป็นรัฐสวัดิการพื้นฐานรูปแบบหนึ่งที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งประกันสังคมเกิดขึ้นเพื่อ "แรงงาน" นอกจากจะดูแลเรื่องสิทธิการเจ็บป่วยแล้ว ยังครอบคลุมถึงการดูแลเรื่องการว่างงาน การเกษียณอายุเพื่อให้มีรายได้หลังจากไม่ได้ทำงานแล้ว
หากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วจะพบว่า "ประกันสังคม" เป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งกฎหมายเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ Stakeholder ได้เข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือ สวัสดิการต้องดี เงินเพียงพอสำหรับการเกษียณ เป็นต้น
ที่สำคัญรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายเงินสมทบให้มากกว่าการหักเงินจากผู้ประกันตนหลายเท่า นอกจากนี้ถ้าเราเคยได้เห็นและได้ยินมา ประเทศที่พัฒนาแล้ว คนที่เกษียณอายุส่วนใหญ่ จะเป็นวัยเกษียณสำราญ
โดยเฉพาะประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ที่เป็น "รัฐสวัสดิการ" ที่ดูแลตั้งแต่เกิดยันตาย ทำให้คิดถึงหนังสือของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เคยเขียนเรื่อง "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ตั้งแต่พ.ศ. 2516 ผ่านไป 48 ปี หนังสือเล่มนี้ก็ยังทันสมัยอยู่
กว่าจะได้ประกันสังคม
มาดู "ระบบประกันสังคม" ของไทยกันบ้าง จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เล่าย้อนว่า กว่าจะมีกฎหมายประกันสังคม ต้องใช้เวลาต่อสู้นาน เริ่มตั้งแต่ปี 2497 จากนั้นเริ่มมีการเคลื่อนไหว รวมกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย สภาแรงงานแห่งประเทศไทย อย่างจริงจัง ในวันแรงงาน 1 พ.ค. 2518 ให้รัฐบาลออกกฎหมายประกันสังคม อีกทั้ง ปี 2529 – 2533 มีองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานได้เข้ามามีบทบาทเชิงความคิด ให้ข้อมูล ความรู้ สร้างความเข้าใจกับแรงงานในโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก
ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มย่านอุตสาหกรรม อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ พระประแดง และรังสิต เป็นหลัก ซึ่งเป็นแรงงานที่ค่อนข้างยากจน ได้เพียงค่าแรงขั้นต่ำ ไม่มีสวัสดิการใดๆ ดังนั้นเมื่อมีการทำงานตรงนี้มากขึ้น ทำให้แรงงานเกิดความเข้าใจว่าการมีกฎหมายประกันสังคม ส่งผลดีต่อตัวเองอย่างไร จึงออกมาสนับสนุนและเป็นกำลังสำคัญในการเคลื่อนไหว อีกทั้งยังและได้แนวร่วมที่เป็นองค์กรนักศึกษา นักวิชาการ สื่อมวลชนช่วยผลักดันจนรัฐบาล นักการเมืองยอมรับ และยกมือผ่านกฎหมายประกันสังคมไปได้ในที่สุด
ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่างๆ ที่ผู้ประกันตนได้รับ
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ผู้ประกันตนในมาตราต่างๆ เป็นเช่นไร และได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างกันตรงไหนบ้างดังนี้
- ผู้ประกันตน มาตรา 33 คือ ลูกจ้างผู้ทำงานให้กับนายจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการ หรือพนักงานเอกชน ได้รับสิทธิประโยชน์ดังนี้ 1. เจ็บป่วย 2. คลอดบุตร 3. ทุพพลภาพ 4. ชราภาพ 5. สงเคราะห์บุตร 6. ว่างงาน และ 7. เสียชีวิต การจ่ายเงินสมทบจะคิดที่ 5% ของเงินเดือน หรือสมทบสูงสุดเดือนละ 750 บาท โดยใช้ฐานเงินเดือนที่ 15,000 บาท
- ผู้ประกันตน มาตรา 38 คือ พนักงาน หรือลูกจ้างที่ออกจากงานแล้ว และประกันสังคมยังคุ้มครอง อีก 6 เดือน ได้รับสิทธิประโยชน์ดังนี้ 1. เจ็บป่วย 2. คลอดบุตร 3. ทุพพลภาพ 4. ชราภาพ 5. สงเคราะห์บุตร และ 6. เสียชีวิต จ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท
- ผู้ประกันตน มาตรา 39 คือ ผู้ประกันตนแบบสมัครใจที่ยังอยากส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมหลังผันตัวออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือมีเหตุให้ต้องหลุดออกจากงานเดิม ได้รับสิทธิประโยชน์ดังนี้ 1. เจ็บป่วย 2. คลอดบุตร 3. ทุพพลภาพ 4. ชราภาพ 5. สงเคราะห์บุตร และ 6. เสียชีวิต จ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท
- ผู้ประกันตน มาตรา 40 คือ เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ เป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามประกันสังคมมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 ประกันสังคมจะให้ความคุ้มครอง ขึ้นอยู่กับทางเลือกการจ่ายเงินสมทบ คือ 1. ขาดรายได้ 2. เจ็บป่วย-ทุพพลภาพ 3. เงินค่าทำศพ 4. บำเหน็จชราภาพ และ 5. สงเคราะห์บุตร โดยมีทางเลือกให้จ่ายเงินสมทบ 3 แบบต่อเดือน ได้แก่ 1. จ่าย 70 บาท 2. จ่าย 100 บาท และ 3. จ่าย 300 บาท
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกันตนส่วนใหญ่เรียกร้องให้ประกันสังคมปรับปรุงเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการเลือกโรงพยาบาล การเบิกค่าทำฟัน 900 บาทต่อปีที่หลายคนมองว่าน้อยเกินไป รวมถึงกองทุนบำนาญชราภาพ ที่มีการเรียกร้องให้สามารถนำเงินออกมาได้หรือนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อกู้เงินธนาคารในยามฉุกเฉิน เป็นต้น รวมไปถึงประเด็นต่างๆ ที่อยากให้ประกันสังคมปรับปรุง และแก้ไขให้ทันสมัย
ภูมิทัศน์แรงงานเปลี่ยน ประกันสังคมต้องขยับ
หากมองย้อนกลับไปในอดีตเราจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากไทยแลนด์ 1.0 ที่เป็นยุคเกษตรกรรม ขับเคลื่อนด้วยภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นปลูกข้าว ทำพืชสวนไร่นา เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ไทยแลนด์ 2.0 ที่เป็นยุคอุตสาหกรรมเบา เริ่มนำเครื่องมือต่างๆ มาใช้ในการผลิต รวมถึงการจ้างแรงงานเข้ามาผลิต เห็นได้จากมีโรงงานผุดขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับการผลิตสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องเขียน เป็นต้น
ไทยแลนด์ 3.0 อุตสาหกรรมหนัก และเพิ่มมูลค่า มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องการผลิตร่วมกับแรงงาน เพื่อให้ได้สินค้าที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และยุคนี้เราจะได้เห็นแรงงานที่มีฝีมือในภาคการผลิตอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ไทยแลนด์ 4.0 มุ่งสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มรายได้ต่อหัวให้ประชากรเพื่อยกระดับไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว แน่นอนว่าปี 2021 เรากำลังอยู่ในห้วงเวลาของไทยแลนด์ 4.0
นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 ยุคที่ผ่านมามีการพูดถึงการเพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความสมดุลในทุกภาคส่วน แต่ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ ในที่นี้ยังหมายรวมถึงมนุษย์เงินเดือน หรือคนที่รับจ้าง และได้ค่าจ้าง ที่อยู่ในไทยแลนด์ 4.0 ก็ยังคงเห็นภาพความเหลื่อมล้ำ และรายได้ที่ไม่สมดุลกันอยู่ดี
สำหรับประกันสังคมนั้นเกิดขึ้นในยุคไทยแลนด์ 2.0 ที่มีโรงงานผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด และ 30 ปีผ่านไปหลายคนมองว่า ประกันสังคม ก็ยังคงเหมือนเดิม อาจจะมีปรับบ้างแต่ไม่ทันต่อยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะภูมิทัศน์แรงงานที่ปรับเปลี่ยนไป เราจะเห็นได้จากการมีแรงงานนอกระบบ, ฟรีแลนซ์ รวมไปถึงแรงงานบนแพลตฟอร์ม (platform) ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้
วรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ขับขี่รถส่งของแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่วงระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา มียอดการสั่งของอุปโภค บริโภคเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ในขณะที่จำนวนผู้เข้ามารับงานดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 6-7 หมื่นคนในปี 2562 เพิ่มเป็นประมาณ 2 แสนคนในปี 2563 แต่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะรายได้จะคิดตามจำนวนเที่ยว และระยะทางในการวิ่งรถ ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย
ประกอบกับมีการโบนัส ในการวิ่งรถเพื่อนำไปสู่การแบ่งเกรดคนวิ่งรถ และรายได้ บางคนทำงานหนัก 14-15 ชม.ต่อวัน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงบนท้องถนน ปัญหาอีกอย่างคือไม่มีสิทธิสวัสดิการคุ้มครอง ทั้งกฎหมายประกันสังคม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน อาทิ การได้รักษา การลาหยุด ลาป่วย และหยุดประจำปี และการได้รับเงินชดเชยจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ทั้งๆ ที่เป็นสวัสดิการพื้นฐานที่คนทำงานควรได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะทางแพลตฟอร์มถือว่าคนที่ทำงานไม่ใช่ลูกจ้าง แต่เป็นพาร์ตเนอร์ เป็นคู่สัญญาอิสระ เพื่อจะได้ไม่มีต้นทุนสวัสดิการเหล่านั้น
เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันการทำงานผ่านแพลตฟอร์มทำให้ถอยหลังกลับไปในอดีต วันนี้ระบบงานพัฒนามากขึ้น ลูกค้า และผู้ขายมีทางเลือกและเข้าถึงกันมากขึ้น แต่การพัฒนาระบบสวัสดิการคุ้มครองคนทำงานกลับตามไม่ทัน ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม มีรายงานในต่างประเทศ อาทิ ศาลประเทศสเปน ศาลเนเธอร์แลนด์ ตัดสินให้การทำงานบนแพลตฟอร์มถือเป็นลูกจ้างของบริษัท ไม่ใช่การจ้างงานตนเอง และปี 2019 สมาชิกสภามลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีการผ่านร่างกฎหมายเพื่อปูทางให้คนงานแพลตฟอร์มได้รับสวัสดิการเหมือนลูกจ้าง เช่นวันหยุด วันลาป่วยยังได้รับค่าจ้าง เป็นต้น ดังนั้นในส่วนของประเทศไทยจึงควรผลักดันให้ผู้ทำงานบนแพลตฟอร์มถือเป็นลูกจ้างที่ต้องได้รับสิทธิสวัสดิการตามกฎหมาย คือ ประกันสังคม และกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วย
แนวคิดประกันสังคมถ้วนหน้า
ศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำวิจัยเรื่อง "การยกระดับประกันสังคมและกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยของ We Fair องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มองเห็นว่า รัฐสวัสดิการเป็นไปได้ในสังคมไทย
ทั้งนี้ ประกันสังคมของไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2533 มีแนวคิดฐานรากจาก Bismarck หรือการจัดการสวัสดิการให้แก่กลุ่มแรงงานที่มีรายได้ประจำ และมีนายจ้างเป็นหลัก นโยบายนี้นับเป็นกลุ่มนโยบายก้าวหน้า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพราะเป็นการขยายสิทธิสวัสดิการสู่กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ไม่ใช่ข้าราชการ ให้สามารถมีสิทธิประโยชน์ ด้านการรักษาพยาบาล การว่างงาน การคลอดบุตร การสงเคราะห์บุตร การเสียชีวิต ทุพพลภาพ และขยายสู่ระบบบำนาญชราภาพในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขการพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงหลังปี 2540 ภาคบริการ แรงงานอิสระ การประกอบการรายย่อย มีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น และในช่วงปี 2553 มีกลุ่มแรงงานอิสระเด่นชัดมากขึ้น ควบคู่กับระบบเศรษฐกิจแบบ Platfrom ที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงแทนกลุ่มผู้ประกอบการมากขึ้น
ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นกับ แรงงานทุกภาคส่วน มีชั่วโมงทำงานมากขึ้น แต่รายได้กลับสวนทางกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น หรือการขยายตัวของเศรษฐกิจใหม่ภาพรวม ที่เศรษฐกิจขยายตัวควบคู่กับการขยายตัวของแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางสูง รายได้ไม่แน่นอน และอำนาจการต่อรองต่ำ การขยายสิทธิประกันสังคมจึงเป็นเงื่อนไขของการสร้างสวัสดิการในวัยทำงานที่ปรับเปลี่ยนเข้าสู่ลักษณะการจ้างที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น
ขณะเดียวกันงานวิจัยดังกล่าวยังได้นำเสนอ "ระบบประกันสังคมถ้วนหน้า" ซึ่งจะเป็นการยกระดับเรื่องแนวคิดและสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแนวคิดจากสวัสดิการเน้นแรงงานในระบบสู่ประกันสังคมถ้วนหน้า และการขยายสิทธิประโยชน์
ลักษณะประกันสังคมไทยที่ปรากฏอยู่ใน ม.33 หรือประกันสังคมแรงงานในระบบ ที่มีนายจ้าง กลุ่มนี้จะได้รับสวัสดิการที่ชัดเจนมากกว่ากลุ่มอื่นๆ หากพิจารณาฐานผลประโยชน์สูงสุดแล้ว จะพบว่า ม.33 ได้รับเงินบำนาญสูงกว่า ม.39 ซึ่งเป็นแรงงานที่เคยมีนายจ้างสมทบเงินให้ ประมาณ 3 เท่า และสูงกว่า ม.40 ที่เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ หรือภาคสมัครใจที่จ่ายเงินสมทบตัวเองถึง 70 เท่า
เช่นเดียวกับผลประโยชน์ด้านต่างๆ ที่ได้รับ แม้จะไม่พิจารณาในประเด็นของสวัสดิการสุขภาพ หากพิจารณาตามหลักการทางบัญชีก็อาจสมเหตุสมผล เพราะม.33 คือกลุ่มที่จ่ายเงินสมทบสูงที่สุด คำถามสำคัญคือ ในชีวิตมนุษย์ที่มีความผันผวน และความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการที่คนคนหนึ่งจะเสียงานที่มั่นคง หรือสถานะการจ้างงานเปลี่ยนไปย่อมเกิดขึ้นได้ ซึ่งการทำให้ประกันสังคมไม่ถูกผูกติดกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ และการขยายสู่สิทธิพื้นฐานของทุกคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ศ.ดร.ษัษฐรัมย์ มองว่า สถานะของผู้ประกันตน ม.40 ไม่ควรเพิกถอนได้ ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนอาชีพ รับราชการ หรือเป็นผู้ประกันตนมาตราอื่นๆ เพื่อเป็นประกันสังคมพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคน (อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่นี่)
- ประกันสังคม ม.40 ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนในเงื่อนไขบังคับ สำหรับประชากรวัย 18 ปีขึ้นไป จนถึงอายุ 60 ปี รัฐบาลเป็นผู้สมทบให้สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยกว่าปีละ 300,000 บาท หรืออายุน้อยกว่า 25 ปี
- การสมทบกระทำเป็นรายปีพร้อมกับการยื่นภาษีประจำปี
- พนักงานที่มีรายได้ประจำ (ม.33) นายจ้างเป็นผู้สมทบส่วนนี้ให้
- ผู้สมทบ ม.39 รัฐบาลสมทบส่วน 100 บาทให้โดยอัตโนมัติ
- หลังอายุ 60 ให้การสมทบสิ้นสุดและได้รับสิทธิประโยชน์ต่อเนื่องทันทีรวมถึงประเด็นด้านบำนาญชราภาพ
- สัดส่วนที่สมทบด้วยตนเองสามารถลดหย่อนภาษีได้
ด้าน ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการแรงงานอิสระ ที่เข้ามาร่วมพูดคุยในประเด็นดังกล่าวมองว่า ประกันสังคมผ่านมา 30 ปีแล้ว เกิดขึ้นยุคเศรษฐกิจ 2.0 ตอนนี้เศรษฐกิจไทยข้ามไปสู่ยุค 4.0 แล้ว จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนเร็วมาก ส่งผลให้ภูมิทัศน์ของแรงงาน เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน สภาพการจ้างงาน ส่วนตัวมองว่าอะไรก็ตามที่ทำมา 30 ปีผ่านมาแล้วจนถึงปัจจุบันอาจจะไม่ทันสมัย และไม่สนองตอบกับความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน
"เมื่อระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง การจ้างงานก็เปลี่ยนไป มีความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงระบบประกันสังคมเพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากจะถ้วนหน้าแล้ว เราอยากจะให้มีประสิทธิภาพ เพราะยังมีหลายอย่างที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีคุณภาพ เช่น การเข้ารับบริการของผู้ประกันตนในโรงพยาบาลที่ยังถูกแบ่งแยก เป็นต้น นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญ คือ โครงสร้างการบริหารแบบมีส่วนร่วม ถ้าประกันสังคมอยากเป็นแบบเดิม ก็ค่อนข้างยากที่จะไปถึงจุดนั้น ทำอย่างไรที่จะให้แรงงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องการใช้เงินประกันสังคม และการออกแบบต่างๆ ร่วมกัน"
ข้อมูลอ้างอิง
- งานสัมมนา 30 ปี ประกันสังคมกับความเหลื่อมล้ำและกลุ่มอาชีพที่หล่นหาย โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ คณะทำงาน 30 ปี ประกันสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
- เวทีวิชาการ การนำเสนองานวิจัยและบทความ "จินตนาการสู่สังคมไทยเสมอหน้า" ข้อเสนอนโยบายการเข้าถึงสวัสดิการสังคมและสุขภาวะโดย We Fair