องค์การอนามัยโลกที่มีผลสรุป สถานการณ์โควิด-19 รอบใหม่ออกมาเมื่อเร็วๆนี้ ระบุว่า โควิด-19 ยังไม่ได้มีท่าทีว่าจะลดการแพร่ระบาดลง แต่กลับยิ่งเพิ่มความรุนแรงและมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการแพร่ระบาดในขณะนี้ มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะใน บราซิล อินเดีย โปแลนด์ และ ตุรกี เพียงแค่ระยะเวลาเพียง 7 วัน จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11
ไม่เฉพาะการแพร่ระบาดของโรคที่เพิ่มขึ้นชนิดทวีคูณเท่านั้น อารมณ์ของคนที่อยู่ในภาวะกดดันของมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการทางสังคม ทำให้คนรู้สึกอึดอัด เบื่อหน่าย และซึมเศร้า การผ่อนคลายมาตรการแต่ละครั้งทำให้เกิดการแพร่ระบาดกลับมาทันที และรุนแรงกว่าเดิมเนื่องจากการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ความหายนะทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเป็นแค่ระยะเวลาสั้นๆจะลากยาวไปอีกไม่รู้กี่ปีกี่เดือน เพราะในขณะนี้ยังไม่เห็นจุดสูงสุดของการแพร่ระบาดแต่อย่างใด
ตรงกันข้าม วัคซีนที่ใช้ต้านไวรัสโควิด-19 มีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้ง เรื่องของคุณภาพและปริมาณ การที่ประชากรโลกได้รับ วัคซีน ช้ามากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นเท่านั้น
หรือแม้จะได้รับวัคซีนไปแล้วก็ตาม แต่ไม่รับประกันว่าจะไม่ติดเชื้ออีก
วัคซีนพาสปอร์ต ที่พูดกันไร้ความหมาย ปัญหาใหญ่ที่ตามมาของการรับมือกับ ไวรัสโควิด–19 ก็คือ ระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัส กับ การรับมือปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง จะบริหารจัดการอย่างไร เพราะไม่สามารถที่จะดำเนินการไปพร้อมๆกันได้ ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง
การเยียวยาระยะสั้นๆไม่มีประโยชน์อีกต่อไป
มีความเกี่ยวข้องกันระหว่าง ประเทศที่ร่ำรวย กับ ประเทศที่ยากจน ในการแก้ปัญหาโควิด-19 เที่ยวนี้ก็คือ ประเทศร่ำรวย จะมีโอกาสมากกว่า ประเทศยากจน (หรือพยายามจะคุยว่าร่ำรวย) ยกตัวอย่าง ใน อินเดีย แม้จะมีการล็อกดาวน์แล้วก็ตามยังมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยประมาณวันละกว่า 2.3 แสนราย และเสียชีวิตมากกว่าวันละ 1.3 พันคน ต้องยอมรับว่า อินเดีย มีทั้งคนจนและคนรวย มีประชากรมากเป็นอันดับที่สองของโลก การให้บริการไม่ทั่วถึงในระบบสาธารณสุขจึงยังเป็นปัญหาพื้นฐาน
อังกฤษที่เคยมีการระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ต้นกำเนิดการกลายพันธุ์ใหม่ของไวรัสล็อกดาวน์ประเทศไม่รู้กี่รอบ หลังจากได้รับวัคซีนไปแล้วในระยะหนึ่งที่มีปริมาณมากพอสมควรคือ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของประชากร ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตลดลง เฉลี่ยประมาณ 30 รายต่อวัน จากระดับ 1,200 รายต่อวัน ในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในยุโรปและอเมริกา รวมทั้งอังกฤษ ก็ยังประกาศมาตรการเข้มงวด โดยเฉพาะการเดินทางเข้าประเทศ จนกว่าสถานการณ์ต่างๆจะคลี่คลาย
นี่คือความยากลำบากในการตัดสินใจระหว่างอดตาย เศรษฐกิจหายนะ กับป่วยแล้วไม่ตาย หรือมีโอกาสเสี่ยงน้อยลง ในที่สุดการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างรวดเร็วและทั่วถึง จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th