การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 จากคลัสเตอร์ใหม่ที่มีจุดระเบิดจากกลางเมืองกรุงเทพฯขยายไปครอบคลุมรอบปริมณฑล ก่อนแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ในขณะนี้เป็นการระบาดต่อเนื่องจากระยะที่ 2 ที่เริ่มขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค.2563 จากเดิมที่มีการคาดการณ์ว่า การระบาดของระยะที่ 2 จะเริ่มคลี่คลายในไตรมาส 2 ของปีนี้
เพราะหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ บรรดากูรูทางเศรษฐกิจจึงกล้าพร้อมใจฟันธงว่า รัฐบาลจะเริ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป แต่เมื่อสถานการณ์กลับเลวร้ายขึ้น เราจึงได้เห็นค่าเงินบาทร่วงทะลุหลุด 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ทำสถิติอ่อนค่าที่สุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยเมื่อไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ขาดดุลแตะระดับ 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเฉลี่ย 44,800 ล้านบาท ถือเป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 6 ปีครึ่ง
จึงอาจกล่าวได้ว่าแรงกระแทกดังกล่าวส่งผลสะเทือนให้ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่มุมอับที่จะส่งผลสะเทือนไปยังผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปในทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เร่งผลักดัน “มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19” (สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์หนี้) ในรูปของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉบับเพิ่มเติม เพื่อพยุงกิจการการจ้างงานได้หลายแสนคนจากหลายหมื่นกิจการโดยเฉพาะการมุ่งเป้าหมายไปยังผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)
เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกิจการเอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านกิจการ มีแรงงานในระบบประมาณ 18 ล้านคน ที่เป็นอีกหนึ่งในเครื่องยนต์ที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์ของเอสเอ็มอีที่มีสารพัดปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อได้ยากลำบาก เมื่อเผชิญกับโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่า
ทำให้บรรดาเจ้าของกิจการเอสเอ็มอี ต้องทยอยปิดกิจการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และการปลดแรงงานในระบบจำนวนมหาศาล
“ทีมเศรษฐกิจ” ได้เปิดพื้นที่ให้ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และทีมกูรูดีพร้อมที่นำทีมโดย ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) หรือ DIPROM หน่วยงานที่ดูแลช่วยเหลือเอสเอ็มอีมาอย่างต่อเนื่อง ได้เล่าถึงแผนงานที่เขาและทีมงานจะช่วยกันระดมสมอง เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่กำลังเผชิญโควิด-19 ระลอก 3 สถานการณ์ ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะจบลงอย่างไร หรือจะขยายวงกว้างระบาดเป็นระลอกที่ 4 อีกหรือไม่ ดังนี้.....
“สุริยะ” เปิดฉากการสนทนาว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาตรงมายังกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าขอให้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษ จึงได้สั่งการให้ดีพร้อม ไปเร่งฟื้นฟูเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก 2 ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 โดยให้ทีมกูรูดีพร้อมสำรวจผลกระทบและความต้องการของผู้ประกอบการ 1,494 ราย แบ่งออกเป็นเอสเอ็มอี 73% และวิสาหกิจชุมชน (โอทอป) 27% ผลสำรวจ ณ วันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า 7 อันดับผลกระทบที่ผู้ประกอบการประสบปัญหาสูงสุดคืออันดับที่ 1 ที่ระดับ 84.87% พบว่ากำลังซื้อของลูกค้าลดลงส่งผลให้ยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ 66.53% ประสบปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากมีการแข่งขันสูง ผ่านกลยุทธ์ด้านโปรโมชัน เพื่อระบายสินค้า เป็นต้น
ที่สำคัญผลสำรวจ 7 อันดับ ของการปรับตัวของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบได้พบว่าอันดับที่ 1 คือ 71.55% มีการขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ขยายฐานลูกค้าไปยังหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการช่วยเหลือของดีพร้อม มาตั้งแต่การระบาดรอบแรก เมื่อต้นปี 2563
ขณะที่อีก 53.75 % พบว่ามีลดค่าใช้จ่ายประหยัดการใช้พลังงานในสำนักงานลดปริมาณการจัดเก็บวัตถุดิบ, 50.47% มีการ พัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐาน ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่นปรับขนาดบรรจุภัณฑ์เพื่อลดค่าขนส่ง, 45.65% มีการใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการภาคการผลิต เพื่อวางแผนการผลิตที่แม่นยำ, 37.48% พบว่าสามารถหาแหล่งเงินทุนที่ให้สินเชื่อในระยะที่สามารถยืดหยุ่นได้และมีดอกเบี้ยต่ำ อีก 32.93% สามารถปรับลดไลน์ผลิต ลดจำนวนชั่วโมงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและ 19.88% มีการปรับแผนการขนส่ง หาพันธมิตรผู้ประกอบการเพื่อแชร์ค่าบริการและขนส่งด้วยตัวเองได้มากขึ้น
“สุริยะ” กล่าวต่อไปว่า โควิด-19 ถือเป็นปัจจัยทั้งทางบวกและทางลบ ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทั่วโลก และเกิดคลื่นปฏิวัติเอสเอ็มอี (SMEs Disruption) ทำให้ในปีนี้ ดีพร้อมจึงต้องปรับแผนการทำงานชนิดที่เรียกว่าปรับแบบฉุกเฉินกะทันหัน เพื่อให้สามารถรับมือกับโควิด-19 ระลอกที่ 3 เพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการได้อย่างเต็มศักยภาพผ่านนโยบาย “สติ : STI” ประกอบด้วย 3 ปัจจัยเร่งด่วนสำคัญประกอบด้วย ทักษะเร่งด่วน (Skill) ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเร่งส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาพบว่าเอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างโอกาสในการประกอบธุรกิจแบ่งออกเป็น 3 ทักษะที่จำเป็น คือ ทักษะวิชาตัวเบา (Lean) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการต้นทุนในการทำธุรกิจ ทักษะการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี และทักษะความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาทักษะในการปรับอาชีพ (Up- skill & Re-skill) เพื่อพัฒนาต่อยอดจากทักษะเดิมของอาชีพที่อาจถูกดิสรัปและรองรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกัน จะต้องพัฒนาต่อยอดทักษะเดิม เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทักษะการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อการปรับใช้ในกระบวนการต่างๆและทักษะความคิดสร้างสรรค์ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยดีพร้อมจะขยายผลศูนย์ Mini Thai-IDC ไปยังภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ในระดับท้องถิ่นไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านเครื่องมือเร่งด่วน (Tools) เพื่อเป็นตัวช่วยเร่งด่วนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ
นอกจากนั้น ยังมี แพลตฟอร์มออนไลน์ (DIProm มาร์เก็ตเพลส) ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์คุณภาพจากผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมจากดีพร้อม เพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้า ทั้งยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค นิเวศอุตสาหกรรม โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายของผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความร่วมมือต่อยอดความรู้ และการยกระดับอุตสาหกรรม เงินทุนเพื่อการประกอบการ อาทิ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยการสนับสนุนเงินกู้จากสถาบันการเงินทั้งในกำกับของรัฐและเอกชน
เครื่องมือสุดท้าย คือ อุตสาหกรรมเร่งด่วน (Industry) คือเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูประหว่างเดือน ม.ค.-พ.ย.2563 มีมูลค่า 243,855 ล้านบาท ถือว่ามีศักยภาพเพียงพอสำหรับการสนับสนุนในระยะเวลาที่เร่งด่วนในวิกฤติโควิด-19 ที่ต้องทำให้เป็นเครื่องมือตัวใหม่ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือสร้างคนเก่งกลับถิ่น เช่น คนว่างงาน นักศึกษาจบใหม่ให้กลับถิ่นฐานบ้านเกิดนำความรู้ทักษะ หรือประสบการณ์
ที่เคยทำงานในภาคอุตสาหกรรมไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาชุมชนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตร เน้นสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพในอนาคตด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการ
“การสนับสนุนในระยะเวลาเร่งด่วนจะดำเนินการผ่านการยกระดับศักยภาพในภาคการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปการพัฒนานักธุรกิจเกษตร และการส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ หันมาประกอบอาชีพและพัฒนาภาคการเกษตรให้มีศักยภาพ รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการผลิตที่มูลค่าสูงต่อยอดขยายผลเชิงพาณิชย์ให้มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์รองรับความต้องการของผู้บริโภค โดยเริ่มจากตลาดในประเทศก่อนนำไปสู่การส่งออกตลาดโลก”
“สุริยะ” ย้ำกับทีมเศรษฐกิจอีกว่ารัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันด้านการตลาดในประเทศให้ได้ ผ่านการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยการลงทุนในโครงการต่างๆของรัฐบาล จึงได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผลักดันนโยบายเมดอินไทยแลนด์ “Made in Thailand” เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน หันมาจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand) ให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ห่วงโซ่ เอสเอ็มอีมีความเข้มแข็งมากขึ้นจากยอดการซื้อของภาครัฐที่ในแต่ละปีหน่วยงานภาครัฐใช้งบจัดซื้อจัดจ้าง 1.77 ล้านล้านบาท
“ผมจึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการมาร่วมกันขึ้นทะเบียนขอการรับรอง Made in Thailand กับ ส.อ.ท.ให้มากที่สุด เพื่อจะได้มีสินค้าให้หน่วยงานภาครัฐได้จัดซื้อจัดจ้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระจายเม็ดเงินสู่ภาคอุตสาหกรรมจำนวนมหาศาลจากการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ”
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกในระบบ i-Industry รวมกว่า 60,000 แห่ง รวมทั้งกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกเป็นจำนวนมาก ตลอดจนเชื่อมโยงไปยังแรงงานอีกกว่า 5 ล้านคน ทำให้มีโอกาสเพิ่มรายได้สามารถนำเม็ดเงินมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ หรือลดภาระหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นในภาวะโควิด-19 ระลอกที่ 3 นี้
ปิดท้ายด้วย ณัฐพล รังสิตพล แม่ทัพใหญ่ของดีพร้อมได้ระบุว่า ผลการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเมื่อปีที่ผ่านมาได้เข้าไปส่งเสริมพัฒนา สนับสนุนจากมาตรการต่างๆ รวม 1,731 กิจการ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้รวม 8,000 ล้านบาท และปีนี้จะปรับวิธีช่วยเหลือ จากเดิมที่ทำหน้าที่โค้ชชิ่งให้คำแนะนำ ก็จะเน้นการส่งเสริมในเชิงรุก จากแผนงานข้างต้น
ด้วยการเติมเต็ม วัคซีนเอสเอ็มอี ซึ่งก็คือการเพิ่มความเข้มข้น ในการพัฒนาผู้ประกอบการผ่านโมเดล “พีระมิด” โดยในส่วนฐานนั้น เน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลถ่ายทอดความรู้เพื่อสร้างการรับรู้และเพิ่มการเข้าถึงในวงกว้าง ขณะที่ส่วนกลางและส่วนยอดจะอัดแน่นด้วยการฝึกอบรมที่เข้มข้นผ่านการให้คำปรึกษาเชิงลึกจากทีมผู้เชี่ยวชาญคุณภาพระดับประเทศ เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมที่จะช่วยให้เกิดการสร้างรายได้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานได้อีกทางหนึ่ง
ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมในส่วนยอดของพีระมิด จะสามารถต่อยอดเป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับเอสเอ็มอีมือใหม่ เพื่อสร้างเครือข่ายกิจการที่มีศักยภาพที่จะหลอมรวมไปสู่การเป็นนิเวศอุตสาหกรรมที่ดีพร้อม
“ฟันเฟืองทั้งหมดนี้ มั่นใจว่าปีนี้จะสามารถส่งเสริมเอสเอ็มอีให้ก้าวข้ามโควิด-19 ระลอกที่ 3 ให้ได้รวม 3,356 กิจการ เกิดการพัฒนาทักษะกับบุคลากรภาคอุตสาหกรรม 13,375 คน ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน 177 กลุ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพเพิ่มขึ้น 982 ผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็งด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท ที่จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 8,000 ล้านบาท”
เขาย้ำอีกครั้งว่า ขอให้ผู้ประกอบการและทุกภาคส่วนมั่นใจได้ว่าวัคซีนเอสเอ็มอีที่ประกอบด้วย เครือข่าย เงินทุน ที่ดีพร้อม ได้พัฒนามาแล้วนั้น สามารถยับยั้งป้องกันผลกระทบจากโควิด–19 ได้ทุกสถานการณ์.
ทีมเศรษฐกิจ