นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.), สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), กรมการขนส่งทางบก (ขบ.), บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต (หมอชิตคอมเพล็กซ์) โดยที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันที่จะให้กรุงเทพฯยกเลิกการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินบริเวณพื้นที่โดยรอบเพื่อสร้างทางยกระดับเข้าออกของโครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในพื้นที่
ดังนั้น บขส.จะต้องเร่งสำรวจว่าควรมีรถประเภทใด จำนวนเท่าใดที่จะเข้ามาใช้ในพื้นที่หมอชิตคอมเพล็กซ์ได้อย่างเหมาะสมโดยไม่กระทบต้องเวนคืนที่ดิน เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลให้ กทม.ไปใช้ประกอบการเสนอขอถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน บริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 5 ด้านหลังสถานีขนส่งหมอชิต (เก่า) รวมถึงให้นำข้อมูลเสนอไป สนข. เพื่อพิจารณาจัดระเบียบจราจรในพื้นที่ใหม่ และยังเสนอให้บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด (บีเคที) ผู้ได้สิทธิพัฒนาหมอชิตคอมเพล็กซ์ได้รับทราบและนำไปใช้ปรับปรุงแบบการใช้พื้นที่บางส่วน
“ขั้นตอนการขอถอนพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ต้องมีการจัดทำข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผลประกอบขอการยกเลิก ที่ประชุมจึงให้ บขส.ไปสำรวจข้อมูลปริมาณรถที่จะนำเข้ามาใช้พื้นที่โดยไม่ต้องเวนคืนให้เสร็จภายใน 1 เดือน และนำกลับมาเสนอให้ที่ประชุม เดือน พ.ค.นี้ ที่จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างภาคเอกชน, กทม., ขบ., บขส. เพื่อหาข้อมูลและนำส่งให้ กทม. ไปใช้ประกอบการยกเลิกเวนคืนที่ดินต่อไป”
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มี.ค. บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด ได้ยื่นศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในโครงการโดยไม่ต้องมีการเวนคืนไปแล้ว และใช้เวลาพิจารณาอีกระยะหนึ่ง ขณะที่การใช้ประโยชน์พื้นที่ชดเชย 100,000 ตารางเมตร ซึ่งขบ.ได้ยืนยันที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์เหมือนเดิม แต่อาจปรับรูปแบบให้ย้ายมาบางส่วน เช่น รถขนาดเล็ก เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจราจรและการเวนคืนที่ดิน และกรมธนารักษ์มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวที่ล่าช้ามา 24 ปีจะได้ข้อยุติโดยเร็ว และเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้ โดยขณะนี้กระบวนการอีไอเอเดินหน้าไปแล้ว ปัญหาการเวนคืนที่ดินกับประชาชนก็จะหมดไป.