Area Quarantine อาจไม่ตอบโจทย์ ถ้าคนในพื้นที่ยังไม่ได้วัคซีนโควิด-19

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Area Quarantine อาจไม่ตอบโจทย์ ถ้าคนในพื้นที่ยังไม่ได้วัคซีนโควิด-19

Date Time: 1 เม.ย. 2564 06:25 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • ถ้าเมืองพัทยาทำแซนด์บ็อกซ์ขึ้นมาจริงๆ เราในฐานะผู้ประกอบการจะมีความกังวลว่า นักท่องเที่ยวไทยจะหายไป แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาจะฉีดวัคซีนแล้ว

Latest


ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่า เมืองท่องเที่ยว และผู้ประกอบการหลายแห่งที่เกี่ยวข้องได้เสนอแนวคิดเรื่องการ Quarantine เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไฮเอนด์ เช่น Yacht Quarantine ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวระยะยาว

รวมไปถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวเฉพาะประเภท เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical and Wellness Tourism หรือที่อาจจะได้ยินคุ้นหูกันนั่นก็คือ Golf Quarantine ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจะต้องกักตัวตามคำสั่งของรัฐ ซึ่งก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ผู้ประกอบการเลือกทำในช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวต่างชาติแทบเป็นศูนย์

เมื่อสถานการณ์ของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เพราะหลายๆ ประเทศกำลังอยู่ในช่วงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศตัวเอง ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวของไทยก็มีความเคลื่อนไหว อยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องการเปิดรับนักท่องเที่ยว

โดยเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 64 ที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบตามที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือ ศบศ. ที่เสนอแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของจังหวัดภูเก็ต ตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. พร้อมกับเปิดโรดแมปการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้ว โดยในเดือนเม.ย.นี้ เป็นต้นไป จะเริ่มเปิดรับชาวต่างชาติใน 6 จังหวัด ดังนี้

ระยะที่ 1 เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 64 นักท่องเที่ยวที่เข้าพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย พัทยา และเชียงใหม่ ต้องกักตัวในโรงแรม หรือพื้นที่จำกัดเป็นระยะเวลา 7 วัน

ระยะที่ 2 เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.- 30 ก.ย. 64 โดยจะเริ่มมีโมเดล ภูเก็ต ซึ่งเป็นแซนด์บ็อกซ์ หรือ Area Quarantine ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสจะไม่ต้องกักตัว และเมื่อเที่ยวในภูเก็ตครบ 7 วัน ก็สามารถเดินทางออกนอกภูเก็ตได้ โดยใช้มาตรการ Vaccine certificate และแอปพลิเคชันติดตามตัว ส่วนพื้นที่อื่นๆ ยังใช้มาตรการกักตัว 7 วันต่อไป

ระยะที่ 3 เริ่มต้นวันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค. 64 จะขยายพื้นที่รับต่างชาติแบบไม่กักตัวไปยังพื้นที่นำร่อง กระบี่ พังงา สมุย พัทยา และเชียงใหม่ ใช้แอปพลิเคชัน Thailand Plus หรือไทยแลนด์พลัสติดตามตัว

โดย วันที่ 1 ม.ค. 65 เป็นต้นไปประเทศไทยจะเปิดประเทศ และรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม. การเตรียมความพร้อมวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้สอดคล้องกับการเตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยนำร่องใน จ.ภูเก็ต ตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นไป ซึ่งยังต้องมีการจัดระเบียบพื้นที่การท่องเที่ยวในภูเก็ต

ทั้งนี้ อาจมีการแบ่งโซนเป็นตอนบน ตอนกลาง และตอนล่างของเกาะ กำหนดระยะเวลาที่อยู่ในพื้นที่ การเคลื่อนย้ายไปยังที่ต่างๆ พร้อมจัดทำแพลตฟอร์มลงทะเบียนเพื่อติดตามตัว สำหรับข้อเสนอให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 โดสแล้วไม่จำเป็นต้องกักตัวนั้น ยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

สิ่งที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตต้องการมากที่สุดคือความชัดเจนในเรื่องของการฉีดวัคซีนกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าเงื่อนไขให้สามารถเข้ามาท่องเที่ยวไทยได้ ในขณะที่เมืองพัทยา ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ต้องจับตามอง เพราะที่ผ่านมาพัทยา ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่พอเกิดโควิด-19 ขึ้นมา ผู้ประกอบการได้ปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเองให้รองรับนักท่องเที่ยวชาวไทยแทน

นายบุญอนันต์ พัฒนสิน นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา มองว่าการทำแซนด์บ็อกซ์ หรือ Area Quarantine ในพื้นที่เมืองพัทยา อาจจะไม่ตอบโจทย์สำหรับเมืองพัทยา ที่มีนักท่องเที่ยวชาวไทย 100% โดยเฉพาะช่วงวันหยุด ช่วงเปิดเมืองรอบที่ 2 เราจะเห็นได้ว่านักท่องเที่ยวชาวไทยมาท่องเที่ยวในเมืองพัทยาเป็นจำนวนมาก เช่น เกาะล้าน ที่มีนักท่องเที่ยวข้ามาเที่ยวเกาะเป็นหมื่นคน

"ถ้าเมืองพัทยาทำแซนด์บ็อกซ์ขึ้นมาจริงๆ เราในฐานะผู้ประกอบการจะมีความกังวลว่า นักท่องเที่ยวไทยจะหายไป แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาจะฉีดวัคซีนแล้ว แต่อย่าลืมว่าพวกเขาอาจจะเป็นพาหะนำโรคได้ ตัวเขาอาจจะไม่เป็น ไม่มีอาการ ซึ่งนักท่องเที่ยวไทย และคนเมืองพัทยาจะมั่นใจได้อย่างไรว่า หากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้วจะปลอดภัยจากโควิด"

ทั้งนี้ พัทยาเป็นเมืองเปิดไม่เหมือนภูเก็ตที่เป็นเกาะ คนเข้าออกได้ตามปกติ การทำแซนด์บ็อกซ์อาจจะไม่เป็นประโยชน์กับเมืองพัทยา แต่ถ้าตลาดไหน หรือ Area ไหนที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่แล้ว และตอนนี้ปิดให้บริการอยู่ การทำแซนด์บอกซ์ก็จะเหมาะกับเขา เพราะทำเพื่อรับต่างชาติเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าเมืองพัทยาจะทำทั้งรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวไทย ก็จำเป็นต้องจำกัดพื้นที่ทำแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งในเมืองพัทยาจะจำกัดตรงไหนก็ต้องเลือกเอา

อย่างไรก็ตาม การเลือกพื้นที่ทำแซนด์บ็อกซ์ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวกังวล เช่น ถ้าทำแซนด์บ็อกซ์ที่หาดจอมเทียน ก็มีนักท่องเที่ยวไทย ตรงแถวนาเกลือ ตอนนี้ก็มีนักท่องเที่ยวไทย ตอนนี้พัทยามีแต่นักท่องเที่ยวไทย แต่ถ้าเทียบกับสมัยก่อน นักท่องเที่ยวไทยจะกระจุกตัวอยู่ที่จอมเทียน หาดพัทยาก็จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ พัทยาใต้ก็มีนักท่องเที่ยวอินเดีย วงศ์อมาตย์ก็เป็นนักท่องเที่ยวรัสเซีย ซึ่งเขาก็จะแยกเป็นโซน แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวไทยกระจายไปทั่วพื้นที่ของพัทยา ถ้าเกิดเราทำแซนด์บ็อกซ์ขึ้นมาแล้ว นักท่องเที่ยวไทยหาย ก็ต้องถามผู้ประกอบการก่อนว่าเขายอมหรือไม่ เพราะเขาอยู่ได้เพราะนักท่องเที่ยวไทย

"ผู้ประกอบการและภาครัฐ ก็มีคุยกันว่าไปทำแซนด์บ็อกซ์ตรงวอล์กกิ้งสตรีทไหม ซึ่งเราก็ต้องดูว่าตรงนั้นมีโรงแรมเพียงพอที่รับนักท่องเที่ยวหรือไม่ แต่เราก็จำกัดวงค่อนข้างยาก แม้เมืองพัทยาจะเป็นเมืองท่องเที่ยวของต่างชาติ แต่ตอนนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ได้เพราะนักท่องเที่ยวไทย ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมไปถึงคาเฟ่ต่างๆ ทำโปรโมชั่นสำหรับนักท่องเที่ยวไทยทั้งนั้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งโปรโมชั่นเหล่านี้ก็จะไม่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่สำคัญตอนนี้มีโรงแรมหลายแห่งที่ทำ ASQ เขาก็ได้นักท่องเที่ยวต่างชาติเขาก็อยู่ได้ พอกักตัวเสร็จตามกระทรวงสาธารณสุขกำหนด นักท่องเที่ยว หรือคนต่างชาติเหล่านั้นก็จะเดินทางท่องเที่ยว หรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ ฉะนั้นการทำแซนด์บ็อกซ์ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเมืองพัทยาในตอนนี้"

ทางออกที่ดีที่สุด คือ ประชาชนในพื้นที่ต้องได้รับวัคซีน

บุญอนันต์ กล่าวอีกว่า ทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้คือ ต้องผลักดันให้คนในเมืองพัทยาทั้งประชากรที่อยู่ในเมืองพัทยา และประชากรแฝง ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 70% ของขนาดประชากรในพื้นที่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มั่นใจ และเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองพัทยาแบบไม่ต้องกักตัว หรือกักตัวแต่ลดจำนวนวัน ที่สำคัญคนในเมืองพัทยาเองก็มีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนต้านโควิด-19 ที่อยู่ร่วมกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้อย่างมั่นใจ แต่ถ้าทำแซนด์บ็อกซ์ โดยที่ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เราไม่สามารถการันตีได้ว่าจะปลอดภัยหรือไม่ และนี่จะทำชาวบ้านเกิดความกังวลได้

เมืองพัทยามีประชากร และประชากรแฝง รวมถึงเมืองรอบๆ พัทยาประมาณ 5 แสนคน ในสถานการณ์ปกติเราต้องการ 1 ล้านโดส สิ่งที่เราต้องควบคู่กันไป คือ การฉีดวัคซีนให้ประชากร แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความเห็นว่า สามารถฉีดวัคซีนได้ประมาณ 3,000 คนต่อวัน กว่าจะฉีดครบ 1 ล้านโดส ก็อาจจะต้องใช้พอสมควร

สิ่งที่สำคัญต่อมาคือ เมืองพัทยาจะได้วัคซีน เมื่อไรฤดูท่องเที่ยวของเรา หรือ Hi season จะเริ่มช่วง 1 ต.ค. แต่ถ้าภายใน 1 ก.ย.เรายังทำเรื่องวัคซีนไม่หมด ก็ไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ นั่นก็หมายความว่าจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจะไม่มาพัทยาแน่นอน ตราบใดที่พวกเขายังต้องกักตัวเขาก็จะไม่มา พวกทัวร์เอเจนต์ก็ต้องไปขายเมืองอื่น เพราะหลายๆ ประเทศตอนนี้เขาไม่ต้องกักตัวแล้ว ถ้าฉีดวัคซีนครบ 2 โดส แต่ของไทยไม่ว่าจะอย่างไรเข้าประเทศก็ต้องกักตัว

การกักตัวเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้จุดหมายปลายทางของเขาปรับเปลี่ยนไป ถ้า Hi season นี้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่เข้ามา ก็เท่ากับว่าเราต้องรอถึง Hi season หน้า คือ ต.ค. ปี 65 นั่นก็หมายความว่าเราต้องสูญเสียรายได้จากท่องเที่ยวไปอีก เมื่อหลายๆ อย่างยังไม่ชัดเจนก็ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความกังวล ซึ่งตั้งแต่มีโควิดระบาด ผู้ประกอบการรายหลายมีลูกจ้างไม่มาก เพราะการท่องเที่ยวซบเซา

แต่พอเปิดเมืองให้มีการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการก็ต้อง recruit คนเข้ามา ต้องเอาแรงงานเข้ามา แล้วถ้าเกิดไทม์ไลน์ไม่ชัดเจน เช่น อีก 2 เดือนยังไม่เปิดประเทศ หรือเปิดแล้วปิดอีก ผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ บางคนตอนนี้สงกรานต์เปิดแน่นอน ผู้ประกอบการบางรายก็รับสมัครลูกจ้าง เตรียมของต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว แต่ปรากฏว่า สงกรานต์ปี 64 นี้ กิจการหลายๆ อย่างถูกงด ของที่ตุนไป หรือวางมัดจำไป ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

"ในความคิดผม ถ้ามีกิจกรรมใดๆ ที่จะเกิดขึ้น ภาครัฐควรวางไทม์ไลน์ที่ชัดเจนเพื่อให้กิจกรรมเกิดขึ้น ตรงไหนที่ระบาด หรือติดเชื้อ ก็ Quarantine ตรงนั้นไป แต่ไม่ใช่ประกาศทั้งประเทศ ตรงอื่นๆ ก็ค้าขายปกติ คือ เราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ จริงๆ แล้วคนในพื้นที่เราได้วัคซีนแล้ว 70% ชาวบ้านก็น่าจะโอเคแล้ว เพราะเขามีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง เขาก็เริ่มกล้าที่จะทำมาค้าขาย นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเขาก็พร้อมที่ทำกิจการ แต่ตอนนี้เขาก็กล้าหมดนะ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ได้เงินตรงไหนเขาก็ทำ ยกตัวอย่างเช่น ที่เกาะล้าน ถ้าเราเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา กับนักท่องเที่ยวไทยเข้ามา แต่ชาวเกาะล้านได้วัคซีนยังไม่ครบ ผมว่าเขาก็ต้องเลือกนักท่องเที่ยวไทย เพราะเขามั่นใจมากกว่า ตอนนี้เขาปรับตัวอยู่ได้กับการทำการตลาดกับนักท่องเที่ยวไทย"

บุญอนันต์ มองอีกว่า ถ้าจะต้องเลือกทำแซนด์บ็อกซ์เป็นแต่ละจุด หรือเลือกการทำแซนด์บ็อกซ์ ในโรงแรมแต่ละแห่ง ก็คาดว่าจะเลือกกันไม่ได้ เพราะภูมิศาสตร์เมืองพัทยาไม่เหมือนภูเก็ต และตอนนี้นักท่องเที่ยวไทยกระจายไปทั่วเมืองพัทยา ซึ่งเราได้เปรียบทะเลแถบภาคใต้ ต่อให้ไม่มีไฟลต์บิน เราก็ได้นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางมาด้วยรถยนต์

"ตอนนี้พัทยาน่าเที่ยว โรงแรมราคาดี ร้านอาหารมีโปรโมชั่น คาเฟ่กิ๊บเก๋ เมืองกลางคืนไม่มีแล้ว เพราะเมืองกลางคืนเหมาะกับต่างชาติ นักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่มาเป็นครอบครัว ปัจจุบันกิจกรรมที่อยู่ในพัทยา มีผู้ประกอบการหันมาเปิดให้บริการแล้ว 22 แห่ง และในวันที่ 1 เม.ย. 64 นี้จะเปิดเพิ่มขึ้นอีก หลังผู้ประกอบการต้องปิดกิจการไปนาน เพราะเขามั่นใจว่านักท่องเที่ยวไทยจะเข้ามา"

อย่างไรก็ตาม หากโควิด-19 หมดไป พัทยาน่าจะได้เปรียบ แต่ก่อนเราจะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเดียว ปัจจุบันเรามีกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเราก็ได้คนในเจเนเรชั่นต่างๆ เข้ามาเป็นผู้ทำโครงการ เช่น งานว่าว งานเซิร์ฟสเกต คาเฟ่ออนเดอะบีท ซึ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวไทย และกิจกรรมเหล่านี้ก็ยังจะมีต่อไปเรื่อยๆ แม้หมดโควิด ส่วนกิจกรรมใหม่ๆ ที่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะมีเพิ่ม เราจะทำควบคู่กันไป ซึ่งต่อจากนี้เมืองพัทยาจะรองรับทั้งนักท่องเที่ยวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ

2 โจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยต้องรีบปรับ

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าธุรกิจอื่น จึงฟื้นตัวช้ากว่าธุรกิจอื่น คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลากว่า 3 ปี หรือประมาณปี 2567 ในการจะฟื้นตัวกลับมามีรายได้ที่ประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับที่เคยทำได้ในปี 2562 ที่ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย นโยบายการให้ออกมาเที่ยวนอกประเทศของแต่ละประเทศ และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน

โดยภาพการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยวจะแบ่งเป็น 3 เฟส

เฟส 1. ตลาดไทยเที่ยวไทย จะเป็นตลาดหลัก ในช่วงปี 2564-2565 ช่วยให้สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 2563

เฟสที่ 2. การเดินทางในระดับภูมิภาค ที่ใช้เวลาเดินทางสั้น 3-5 ชั่วโมง โดยจะเป็นการเดินทางเพื่อธุรกิจป็นหลัก

เฟสที่ 3. การเดินทางในระดับโลก จะมาเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งจะเป็นนักท่องเที่ยวจริงๆ ส่วนการเดินทางเพื่อธุรกิจในกลุ่มนี้ อาจจะลดลงเยอะมากเนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการติดต่อกันแบบ Virtual ได้ ซึ่งลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะเป็นตัวช่วยให้การท่องเที่ยวฟื้น คือ วัคซีนพาสปอร์ต หรือ Vaccine Passport แต่อาจจะต้องใช้เวลา ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนของคนทั่วโลก การยอมรับในประสิทธิผลของวัคซีน และกระบวนการของประเทศไทยในการรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยว

โดยโจทย์ระยะใกล้ นั่นจะทำอย่างไรให้ธุรกิจยังรอด การจ้างงานยังพอไปได้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถประเมินตนเองได้ด้วยแนวทางเบื้องต้น ดังนี้ รายได้ควรลดลงไม่เกิน 70% และมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย สร้างรายได้จากช่องทางอื่นได้ รายจ่าย บริหารค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายได้ โดยมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนน้อยกว่า 65% ของรายได้ สภาพคล่องมีเงินทุนหมุนเวียนขั้นต่ำ 6 เดือน และคืนทุนแล้ว โดยเป็นกิจการที่ดำเนินธุรกิจมาจนคืนทุน หรือมีภาระดอกเบี้ยจ่ายต่ำ

ทั้งนี้ หากประเมินแล้วธุรกิจเป็นไปตามแนวทางนี้ก็มีโอกาสที่จะรอด และในระหว่างที่รอนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศฟื้นตัว คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวของไทยในการพากิจการผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้ คือ "เจาะตลาดไทยเที่ยวไทย" ด้วยการสร้างประสบการณ์ที่สอดรับกับพฤติกรรมคนไทย สร้างรายได้ทางอื่นด้วยวิธีที่แตกต่าง และบริหารจัดการต้นทุน โดยไม่แข่งขันด้านราคา

นอกจากนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยยังมีโจทย์ระยะไกล คือ สร้างธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและทรัพยากรต่างๆ ที่กระทบขีดความสามารถทางการแข่งขัน กระจายรายได้สู่ชุมชน ธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมไม่ถูกทำลาย นับเป็นโจทย์ที่ต้องปรับตัวทั้งในนโยบายระดับประเทศ และภาคธุรกิจต้องร่วมมือกัน ในการสร้างความสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ที่สำคัญ คือ ต้องดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ

1. การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ หรือ New Travel Culture ปรับตัวจากการแข่งขันด้านราคา (Red Ocean) และเน้นนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ยกระดับไปสู่การท่องเที่ยวคุณภาพ (Blue Ocean) เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) การท่องเที่ยวด้านการแพทย์ (Medical Tourism) เพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวให้สูงขึ้น และพัฒนาสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (Green Ocean) และตอบโจทย์สังคม (White Ocean)

2. การสร้างความร่วมมือ หรือ Collaboration โดยภาครัฐ เอกชน และชุมชนในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว สร้างความเข้าใจให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ ใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นสร้างเอกลักษณ์การท่องเที่ยวเฉพาะพื้นที่ และให้ความสำคัญในการดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

3. การใช้เทคโนโลยีและข้อมูล หรือ Digitalization มาเป็นเครื่องมือเพื่อการท่องเที่ยวเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มและนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจ การทำตลาดที่ทันสถานการณ์ แชร์ข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวกในการวางแผนการเดินทาง สร้างสังคมออนไลน์ เปิดประสบการณ์ใหม่ในการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวและการทำธุรกิจ

ด้วยรูปแบบธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนข้างต้นจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำภาคธุรกิจการท่องเที่ยวไทยไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ให้นักท่องเที่ยวอยู่พักนานขึ้น มีการใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น กระจายรายได้ท่องเที่ยวสู่เมืองรอง เพิ่มความสะดวกสบายและส่งมอบคุณค่าให้นักท่องเที่ยวได้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การกลับมาเที่ยวซ้ำอีก


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ