สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ประเมินว่า อุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลในปี 2564 จะมีมูลค่า 22,800 ล้านบาท เติบโต 8% จากปี 2563
ในจำนวนดังกล่าวมี 3 สื่อหลักที่ครองสัดส่วนรายได้เกิน 50% ของมูลค่าทั้งหมด ได้แก่ เฟซบุ๊ก (Facebook) ยูทูบ (YouTube) และโซเชียลมีเดีย โดยครองเม็ดเงินรวมกันราว 14,403 ล้านบาท แบ่งเป็นเฟซบุ๊ก 7,224 ล้านบาท ยูทูบ 5,136 ล้านบาท และโซเชียลมีเดีย 2,043 ล้านบาท
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รายได้มหาศาลที่บรรดาแพลตฟอร์มออนไลน์ยอดนิยมจากต่างประเทศเหล่านี้ ได้รับจากการขายสินค้าและบริการให้กับธุรกิจและผู้บริโภคชาวไทย ไม่ได้หวนกลับคืนมาเป็นรายได้เข้าประเทศในรูปแบบของการชำระภาษี เฉกเช่นที่ภาคธุรกิจไทยมีภาระต้องชำระ
เพราะเทรนด์ธุรกิจยุคใหม่คือการอยู่บนโลกออนไลน์ ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ มาร์เก็ตเพลสไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้งบริษัท หรืออาจรวมถึงไม่จำเป็นต้องมีสินทรัพย์ อยู่มุมไหนของโลก ก็สามารถทำมาหากินได้ในทุกประเทศ
การจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มออนไลน์ยักษ์ใหญ่จากต่างชาติเหล่านี้ จึงกำลังกลายเป็นพันธกิจสำคัญของรัฐบาลเกือบทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งล่าสุด กรมสรรพากร สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อย
ทำความรู้จัก พ.ร.บ.อี-เซอร์วิส
1 ก.ย.2564 ที่จะถึง จะเป็นวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 หรือเรียกง่ายว่า พ.ร.บ. e–Service (อี–เซอร์วิส) มีผลบังคับใช้ หลังกรมสรรพากรใช้เวลากว่า 2 ปีครึ่ง ในการผลักดันให้กฎหมายเกิดมีขึ้น
พ.ร.บ.อี-เซอร์วิส ให้อำนาจกรมสรรพากรในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการต่างประเทศ แต่ไม่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นในประเทศไทย และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
เบื้องต้นกรมสรรพากรประเมินว่า จะมีแพลตฟอร์มต่างประเทศเข้าข่ายเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฟสแรกราว 50–100 ราย โดยนับจากวันนี้ไป เหลือเพียงอีก 5 เดือนเท่านั้น ที่ผู้ประกอบการเหล่านี้จะต้องมาลงทะเบียน เพื่อยื่นแบบเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย
โดยขณะนี้กรมสรรพากรกำลังอยู่ระหว่างการออกประกาศกฎหมายลูกจำนวน 4 ฉบับ ซึ่งกฎหมายลูกนั้น เปรียบเสมือนคู่มือ วิธีปฏิบัติ การเสียภาษี โดยจะเป็นรายละเอียดลำดับขั้นตอน วิธีการลงทะเบียน วิธีการชำระเงิน วิธีการส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณา เป็นต้น
กรมสรรพากรยังอยู่ระหว่างออกแบบระบบการชำระภาษีทางออนไลน์ เพื่อรองรับการชำระภาษี อี-เซอร์วิสได้โดยง่าย ไม่ซับซ้อน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้จ่ายภาษี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ
นอกจากนั้น กฎหมายฉบับนี้ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงระบบเอกสารภาษีของประเทศ ด้วยสามารถออกเอกสารเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ จากเดิมที่ต้องส่งเป็นจดหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกหมายเรียกให้มาชำระภาษี ออกหมายทวงภาษีค้างจ่าย ถือเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยจะจัดทำเป็นแบบฟอร์มมาตรฐาน เพื่อให้ผู้เสียภาษีทุกรายนำไปใช้ได้ ไม่เฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์เท่านั้น
แบ่งหมวดหมู่เก็บภาษี 5 กลุ่ม
นอกจากการเตรียมความพร้อมและจัดทำระบบการจ่ายภาษีให้ง่ายแล้ว กรมสรรพกรยังริเริ่มแบ่งหมวดหมู่ของธุรกิจที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีภายใต้ พ.ร.บ.อีเซอร์วิส เป็น 5 กลุ่มเพื่อให้เข้าใจง่าย ได้แก่
1.ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ที่เปิดให้ซื้อขายผ่านออนไลน์ ได้แก่ อเมซอน (Amazon) อีเบย์ (Ebay) ขณะที่มาร์เก็ตเพลส เช่น ลาซาด้า (Lazada) ช็อปปี้ (Shoppe) ซึ่งอยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน ไม่เข้าข่ายเพราะมีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย ซึ่งมีภาระภาษีอยู่แล้ว
2.ธุรกิจที่มีรายได้จากค่าโฆษณา (Advertising) เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) ยูทูบ (YouTube) กูเกิล (Google) ซึ่งโครงสร้างรายได้หลัก มาจากการขายโฆษณาบนแพลตฟอร์ม รับชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิตไปยังประเทศปลายทาง ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถเรียกเก็บภาษีใดๆได้เลย
3.ธุรกิจตัวกลางที่เป็นเอเย่นต์จำหน่ายสินค้าและบริการ ส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มท่องเที่ยว (Travel Agency) เช่น บุ๊กกิ้งดอทคอม (Booking.com) อะโกด้า (Agoda)
4.ธุรกิจตัวกลาง หรือ P2P อาทิ บริการเรียกแท็กซี่ ฟู้ดดีลิเวอรี เช่น แกร็ป (Grab) แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ธุรกิจพวกนี้ มีการเก็บค่า GP หรือค่าวางจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์ม และไม่มีสินทรัพย์เป็นของตัวเอง
5.ธุรกิจที่มีรายได้จากระบบสมาชิก (Subscribtion) เช่น บริการดูหนัง ฟังเพลงออนไลน์ และคอนเสิร์ตออนไลน์ ได้แก่ เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) สปอร์ติฟาย (Spotify) แอปเปิลเพลย์ (Apple Play)
โดยธุรกิจ 5 หมวดที่ว่า จะเข้าข่ายชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายใต้ พ.ร.บ.อี-เซอร์วิส หากไม่มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในประเทศไทย
หลังวันที่ 1 ก.ย.2564 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการ 50–100 ราย ที่อยู่ใน 5 กลุ่มนี้ จะมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มภายใต้กฎหมาย โดยเป็นการจัดเก็บรายเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัด และมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีด้วย
ในกรณีนี้ ซึ่งกฎหมายมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.ย. แพลตฟอร์มต่างประเทศจะต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือน ก.ย.2564 ภายในวันที่ 15 ต.ค.2564 ดังนั้นภายในเดือน ต.ค. ก็จะทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า จะมีจำนวนผู้เสียภาษีเท่าใด ประเมินเป็นวงเงินเท่าใด และหากกรมสรรพากรไม่เชื่อหลักฐานการชำระภาษี ก็สามารถเรียกดูข้อมูลธนาคารเกี่ยวกับการโอนเงินทั้งหมดได้ ซึ่งเป็นอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่
เบื้องต้นกรมสรรพากร ประเมินรายได้จากอี–เซอร์วิสปีแรกไว้ที่ 5,000 ล้านบาท แต่เป็นการประเมินก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 โดยเชื่อว่าโควิดซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเร่งการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้ จะทำให้ยอดการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นกว่าประมาณการณ์แน่
สร้างความเป็นธรรมให้ธุรกิจไทย
ด้าน ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิสเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเป็นการสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ประกอบการไทยซึ่งมีภาระภาษีและยังต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันจากแพลตฟอร์มต่างชาติที่กำลังมาแรงด้วยเทคโนโลยี
จึงไม่ได้มีเพียงประเทศไทยเท่านั้น ที่พยายามจัดเก็บภาษีดังกล่าว ขณะนี้มี 60 ประเทศทั่วโลกที่เก็บภาษีอี-เซอร์วิสแล้ว โดยไทยเป็นอันดับ 4 ในอาเซียน ตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย
“กรมสรรพากรใช้เวลา 2 ปีครึ่งกว่าจะทำคลอดกฎหมายได้สำเร็จ ที่ผ่านมาติดขัดทุกขั้นตอน ทั้งที่ประเทศไทย ริเริ่มการจัดเก็บภาษีก่อนหลายประเทศที่บังคับใช้ไปแล้ว โชคดีที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและช่วยผลักดันให้เกิดความสำเร็จ”
ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรได้หารือกับแพลตฟอร์มข้ามชาติ เพื่อทำความเข้าใจและหาแนวทางปฏิบัติร่วมกัน จนเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ทุกรายพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ขอเพียงออกเป็นกฎหมายให้ชัดเจน ขณะเดียวกันแต่ละรายถือว่ามีประสบการณ์ในการจ่ายภาษีอี-เซอร์วิสอยู่แล้ว อย่างน้อยก็ใน 60 ประเทศทั่วโลก
“ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น เป็นกระแสทั่วโลกที่รัฐบาลในแต่ละประเทศพยายามแก้ปัญหา แพลตฟอร์มเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีในการขายสินค้าและบริการ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาเปิดกิจการในประเทศนั้นๆ ใช้เครือข่ายออนไลน์เพราะโลกยุคใหม่เชื่อมโยงกันหมด เป็นโลกไร้พรมแดน อยู่ที่ไหน ก็ให้บริการธุรกิจได้ ชำระค่าบริการได้ ต่างจากโลกยุคเก่า ก่อนจะเปิดให้บริการ ต้องมาตั้งบริษัทในประเทศนั้นก่อน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่กรมสรรพากรในฐานะหน่วยงานจัดเก็บภาษี ต้องตามให้ทัน”
ส่วนกรณีที่ภาษีมูลค่าเพิ่มอาจทำให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นนั้น ดร.เอกนิติ กล่าวว่า ตามหลักการ ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาระของผู้บริโภค แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพการแข่งขันในธุรกิจนั้นๆด้วย หากมีการแข่งขันสูง เชื่อว่าผู้ประกอบการจะไม่ปรับขึ้นราคาค่าบริการแน่
จากการติดตามการจัดเก็บภาษีอี–เซอร์วิสในหลายประเทศ ก็ไม่มีการปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด เนื่องจากอัตราภาษีที่จัดเก็บนั้น คิดเป็นมูลค่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของไทย ต่ำกว่าหลายประเทศ เมื่อประเทศอื่นไม่มีการปรับขึ้นราคา ประเทศไทยก็น่าจะมีทิศทางเดียวกัน
“ที่สำคัญที่อยากเน้นย้ำก็คือ การเก็บภาษีที่เกิดจากรายได้ที่แพลตฟอร์มเหล่านี้ ได้รับจากบริษัทไทย ผู้บริโภคชาวไทย นอกจากจะทำให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมระหว่างบริษัทไทยและแพลตฟอร์มต่างชาติแล้ว ภาษีที่ได้ยังกลับมาเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จากที่ก่อนหน้านี้ไหลออกไปเป็นรายได้ของแพลตฟอร์มทั้งหมด”
ผนึกเวทีโลกเก็บภาษีแพลตฟอร์ม
ดร.เอกนิติ กล่าวอีกว่า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นก้าวแรกของความพยายามในการเก็บภาษีแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศ ถ้าจะให้ดี ต้องพยายามให้แพลตฟอร์มเหล่านี้เข้ามาจดทะเบียนเป็นบริษัทในประเทศไทยอย่างถูกต้อง เพื่อเข้าสู่ระบบภาษีเงินได้
“เป็นที่น่าเสียดายว่า ภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อน กำหนดให้การเก็บภาษีเงินได้นั้น จัดเก็บได้ ณ ประเทศที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเท่านั้น ไม่สามารถจัดเก็บซ้ำซ้อน ด้วยเหตุนี้ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทย จึงไม่มีภาระภาษีเงินได้ แม้จะทำรายได้เป็นจำนวนมากก็ตาม”
กระนั้นในเวทีโลก โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for EconomicCooperation and Development) หรือ OECD กำลังมีการหารือกันในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นปัญหาของทุกประเทศ ที่ไม่สามารถนำแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้เข้าระบบเพื่อเสียภาษีได้ เบื้องต้นมีการพูดคุยเพื่อหาแนวทางออกที่หลากหลาย เช่น การแบ่งรายได้ภาษีผ่านการพิสูจน์รายได้ เช่น รายได้ที่เกิดจากลูกค้าไทยเป็นจำนวนเท่าใด มีการโอนผ่านบัตรเครดิตไปยังประเทศต้นทางเท่าใด เป็นต้น
และจากการผลักดัน รวมทั้งมีส่วนร่วมเรื่องภาษีในเวทีโลกหลายต่อหลายครั้ง เพื่อยกระดับการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ดร.เอกนิติ ยังเพิ่งได้รับการคัดเลือกจาก OECD และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Development Programme: UNDP) ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจสอบภาษีระหว่างประเทศภายใต้โครงการ Tax Inspectors Without Borders (TIWB) ถือเป็นคนเอเชียคนแรก
เขาเปิดเผยว่า จะใช้โอกาสในการเป็น Governing Board ซึ่งมีวาระหน้าที่ 3 ปี เป็นเวทีผลักดันและหารือวิธีการจัดเก็บภาษีที่มีความทันสมัย ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และที่สำคัญเท่าทันกับรูปแบบการทำธุรกิจยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน.
ทีมเศรษฐกิจ