นายกฯสั่งเร่งเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 4% ขณะที่ สศช.ชี้ เป็นเรื่องท้าทายมาก ถ้าจะทำได้ ต้องดันส่งออกโต 8% เบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ 80% บริโภคภาคเอกชนโต 2.2% และลงทุนเอกชนโต 4.3% ด้านธนาคารโลกประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้โตแค่ 3.4% ชี้พิษโควิดทำคนจนในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ส่วนคนจนในไทยเพิ่ม 1 ล้านคนในปี 63
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า นายกฯได้กำหนดเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 64 ต้องทำให้ได้ 4% สูงกว่าเป้าหมายที่ สศช.คาดขยายตัว 3% ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก และการจะทำให้บรรลุเป้าหมาย ต้องขับเคลื่อนเครื่องยนต์เศรษฐกิจต่างๆให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
“ต้องทำให้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 8% จากปีก่อน ซึ่งการส่งออกปี 64 ถือว่าอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หากขับเคลื่อนได้จะส่งผลให้มีการผลิตสินค้ามากขึ้น และจะเกิดการลงทุนมากขึ้นเพื่อเพิ่มกำลัง ซึ่งการผลิตในประเทศเดือน ม.ค.64อยู่ที่ 66.4% ขณะเดียวกัน ต้องผลักดันการบริโภคภาคเอกชนให้ขยายตัว 2.2% การอุปโภคภาครัฐบาล 5.2% การลงทุนภาคเอกชน 4.3% การลงทุนภาครัฐ 12% ซึ่งการเบิกจ่ายงบลงทุนต้องทำให้ได้ไม่น้อยกว่า 80% ของงบประมาณทั้งหมด”
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบการจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงรุกดึงดูดนักลงทุน ซึ่งที่ผ่านมา นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ได้ดำเนินการและนำเสนอในที่ประชุม โดยเน้นดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ และดิจิทัลโดยในระยะเร่งด่วนตั้งเป้าหมายดึงกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการดูแลสุขภาพเข้ามาก่อน เพราะสามารถทำได้เร็ว ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้จัดทำรายละเอียด และหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้เสร็จภายใน 1 เดือนจากนั้นให้นำมาเสนอที่ประชุม ศบศ. เห็นชอบอีกครั้ง
ด้านนางอาดิตยา แม็ททู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า วานนี้ (26 มี.ค.) ธนาคารโลก เปิดเผยรายงานตามติดเศรษฐกิจ ของภูมิภาคฉบับล่าสุด พบว่า กว่า 1 ปีที่โควิด-19 ระบาด ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฟื้นตัวไม่เท่ากัน และความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น โดยมีเพียงจีนและเวียดนาม ที่ฟื้นตัวเป็นรูปตัววีในภาษาอังกฤษ และขณะนี้มีผลผลิตสูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 แล้ว
“ประเมินว่า เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกปี 64 ขยายตัว 7.6% แต่เป็นการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน 3 ระดับ คือ จีนและเวียดนาม คาดเติบโต 8.1% และ 6.6% ตามลำดับ ขณะที่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยจากเติบโต 4% ในครั้งก่อนเหลือ 3.4% เพราะคาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศของไทยจะอยู่ที่ 4-5 ล้านคน ส่วนมาเลเซียโต 6% ฟิลิปปินส์โต 5.5% อินโดนีเซีย 4.4% กัมพูชาและลาว 4% ส่วนระดับ 3 ฟื้นตัวช้าสุด คือ ประเทศหมู่เกาะ ที่พึ่งการท่องเที่ยวเป็นหลัก และมองว่าเมียนมาติดลบ 10%”
นอกจากนี้ ยังประเมินว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเพิ่มการเติบโตของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้ 1% ผ่านการค้าและการส่งออก แต่หากกระจายวัคซีนป้องกันโควิดล่าช้า อาจฉุดการเติบโตได้ 1% ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ปี 63 ความยากจนในภูมิภาคไม่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ โดยมี 32 ล้านคนอยู่ในสถานะยากจน (เส้นความยากจน คือ มีรายได้ต่ำกว่า 5.50 เหรียญสหรัฐฯต่อวัน) เพราะผลกระทบรุนแรงของโควิด-19 อีกทั้งยังเกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น จากผลการแพร่ระบาด การล็อกดาวน์ และการเข้าถึงความช่วยเหลือทางสังคมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ไม่เท่าเทียม สำหรับไทย ปี 63 นอกจากคนจนไม่ลดลงครั้งแรกในรอบ 20 ปีแล้ว ยังเพิ่มขึ้นอีกราว 1 ล้านคน จากผลของโควิด-19 และการล็อกดาวน์ และยังทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก กล่าวว่า รัฐบาลไทยตั้งงบประมาณด้านการคลัง เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไว้ในระดับสูง และยังจำเป็นต้องใช้มาตรการต่างๆ พยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงทางด้านต่ำ หากเปิดประเทศช้า คาดเศรษฐกิจไทยจะกลับมาอยู่ในช่วงก่อนโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปี 65.