ไตรมาส 4 มีผู้เสมือนว่างงาน 2.35 ล้านคน พิษ “โควิด” ซัดคนไทยล่มจม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ไตรมาส 4 มีผู้เสมือนว่างงาน 2.35 ล้านคน พิษ “โควิด” ซัดคนไทยล่มจม

Date Time: 16 มี.ค. 2564 05:01 น.

Summary

  • สสช.ยันผลสำรวจการว่างงานของคนไทยออกมาต่ำ ท่ามกลางโควิด–19 เป็นการใช้คำนิยามของ “ผู้ว่างงาน” ตามองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

สสช.ยันผลสำรวจการว่างงานของคนไทยออกมาต่ำ ท่ามกลางโควิด–19 เป็นการใช้คำนิยามของ “ผู้ว่างงาน” ตามองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) โดยพบ “ผู้เสมือนว่างงาน” หรือคนที่ทำงานน้อยกว่าวันละ 4 ชั่วโมงสูงขึ้นมาก โดยไตรมาส 2 ปี 2563 สูงสุดถึง 5.41 ล้านคน และไตรมาส 4 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.35 ล้านคน

น.ส.วันเพ็ญ พูลวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้ตอบข้อซักถามถึงอัตราการว่างงานของคนไทยที่ สสช.สำรวจว่าอยู่ที่ 1.9% ของผู้มีงานทำ หรือประมาณ 700,000 คน สวนทางกับภาคธุรกิจเอกชนที่ ออกมาเปิดเผยว่า มีจำนวนผู้ว่างงานสูงมากนับล้านคน เช่น ในธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ระบุว่าจากคนทำงาน 4 ล้านคน มีผู้ที่ตกงานและออกจากระบบไปเลย 1 ล้านคน ผู้ที่ทำงานไม่เต็มเวลา 2 ล้านคน และอีก 1 ล้านคน ยังได้รับเงินเดือนปกติ โดยกรณีดังกล่าวต้องอธิบายว่า การทำสำรวจของ สสช. ยึดคำนิยามของผู้ว่างงาน ตามองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และการสำรวจของ สสช.ได้พบว่าผลจากโควิด-19 พบตัวเลขผู้เสมือนว่างงานที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน สูงขึ้นอย่างมาก

“ไตรมาส 1 ของปี 2563 ที่มีผู้ว่างงาน 395,000 คน หรือ 1% ต่อจำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน ขณะเดียวกัน มีผู้เสมือนว่างงาน 4.25 ล้านคน และไตรมาส 2 ที่พบผู้ว่างงานสูงขึ้นไปเป็น 745,000 คน หรือ 2% ก็พบผู้เสมือนว่างงานถึง 5.41 ล้านคน สำหรับไตรมาส 3 มีผู้ว่างงาน 738,000 คน หรือ 1.9% และมีผู้เสมือนว่างงาน 2.68 ล้านคน ส่วนไตรมาส 4 มีผู้ว่างงาน 727,000 คน หรือ 1.9% มีผู้เสมือนว่างงาน 2.35 ล้านคน และปีนี้ สสช.จะสำรวจภาวะการทำงานของธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ที่ถือเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นการเฉพาะด้วย”

สำหรับคำนิยามที่ สสช.นำมาใช้ ผู้ว่างงาน หมายถึงบุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และในสัปดาห์แห่งการสำรวจมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ 1.ไม่ได้ทำงานและไม่มีงานประจำ แต่ได้หางาน สมัครงานหรือรอการบรรจุในระหว่าง 30 วัน ก่อนวันสัมภาษณ์ 2.ไม่ได้ทำงานและไม่มีงานประจำ และไม่ได้หางานทำในระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์ แต่พร้อมที่จะทำงานในสัปดาห์แห่งการสำรวจ ส่วนผู้เสมือนว่างงาน หมายถึงผู้ที่ทำงาน น้อยกว่า 4 ชั่วโมง/วัน โดยอัตราการว่างงานหมายถึง ร้อยละของจำนวนผู้ว่างงานต่อจำนวนผู้ที่อยู่ใน กำลังแรงงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่า ตลอดปี 2563 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นและชั่วโมงการทำงานลดลง โดยกำลังแรงงานปี 2563 มี 38.5 ล้านคน ขยายตัว 1% การจ้างงานขยายตัว 0.2% จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ขยายตัว 0.3% การจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง 0.1% อัตราการว่างงานปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงที่ 1.69% เพิ่ม จากปี 2562 ที่ 0.98% และชั่วโมงการทำงานโดย เฉลี่ยลดลง โดยชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือลดลง 5.7% ขณะที่แรงงานที่ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีจำนวนลดลง 17.1% ส่วนหนึ่งทำให้แรงงานมีรายได้ ลดลงและอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงด้านแรงงานในปีนี้ ได้แก่ 1.ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หากมีการระบาดระลอกใหม่ จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบ–การ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดรอบแรก อาจลดตำแหน่งงานลง หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน โดยเฉพาะแรงงานในสถานประ– กอบการขนาดเล็ก สาขาโรงแรมภัตตาคาร ค้าปลีกและค้าส่ง

ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ จะมีรายได้ลดลงจากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน หากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ รวมทั้งยังมีความล่าช้าในการได้รับวัคซีน และกระจายให้กับประชาชน แรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงและ ยาวนานขึ้น 2.ภัยแล้งจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่มี ปริมาณลดลง 3.การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ