เคาะแล้ว 1 เม.ย.64 นำร่องวิ่งฉิว 120 กม./ชม. ถนนสายเอเชีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง ระยะทาง 50 กม. เฟสต่อไปจ่อขยายเพิ่ม 240 กม.
วันที่ 15 มี.ค.64 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพื่อติดตามความคืบหน้านโยบายขยายอัตราความเร็วบนถนน 4 ช่องจราจร ที่สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. ว่า ในวันที่ 1 เม.ย.64 เตรียมนำร่องทดลอง (Kick Off) ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) ตามที่กฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ.2564 กำหนดไว้
ในเส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ช่วงบริเวณหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง กม.ที่ 4+100-50+000 ระยะทางประมาณ 50 กม. โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างรอผู้อำนวยการทางหลวงลงนามออกประกาศว่า ถนนเส้นใดสามารถใช้ความเร็วตามกฎกระทรวงประกาศได้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวเพื่อความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
ในส่วนของระยะต่อไป (เฟส 2) นั้น เบื้องต้นได้ประเมินถนนที่มีกายภาพเหมาะสม สามารถดำเนินการได้ ระยะทางประมาณ 240 กม. แบ่งเป็น ถนนของกรมทางหลวง (ทล.) ระยะทางประมาณ 150 กม. และถนนของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ระยะทางประมาณ 90 กม. ได้แก่ ถนนราชพฤกษ์ และถนนชัยพฤกษ์ โดยคาดว่าจะเปิดให้ใช้อัตราความเร็ว 120 กม./ชม. ได้ภายหลังจาก Kick Off ไปแล้วประมาณ 2-3 เดือน และจะทยอยประกาศเพิ่มในอนาคตต่อไป ในเส้นทางตามที่แขวง ทล. แขวง ทช. ได้สรุปรายงานมาให้พิจารณา โดยทั่วประเทศมีระยะทางกว่า 12,000 กม. ที่มี 4 ช่องจราจร มีเกาะกลางถนน และไม่มีจุดกลับรถ หรือจุดตัดเสมอเส้นทาง
"ผมอยากให้พิจารณาทำระยะทางยาวๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องระยะทาง 3 กม. อาจจะประกาศเป็นช่วงๆ ที่มีความเหมาะสม เพราะว่ามีป้ายบอกก่อนเข้าเส้นทางที่กำหนด ทั้งนี้ จะขยายการดำเนินการไปเรื่อยๆ ได้ ซึ่งทั่วประเทศสามารถทำได้หมด โดยจะมีการประชุม เพื่อพิจารณาสรุปก่อนวัน Kick Off ต่อไปว่าเส้นไหนใช้ได้บ้าง ขณะเดียวกัน การจะประกาศใช้ในถนนสายอื่นต่อไปนั้น ควรแจ้งล่วงหน้า 30 วัน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบด้วยว่า สายนี้จะเริ่มใช้กำหนดความเร็ว"
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการวิเคราะห์และสรุปรายละเอียด เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ที่ในขณะนี้มีเงินในกองทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อขอนำงบประมาณมาใช้ดำเนินการ เช่น ติดตั้งป้ายกำกับความเร็วข้างทาง สัญลักษณ์กำกับความเร็วบนพื้นถนน ติดตั้งระบบป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ (VMS) รวมถึงจะมีการตีเส้นจราจรที่ตีขวางบนถนนเป็นแถบๆ (Rumble Stripก) เพื่อแจ้งเตือนการเข้าเขตใช้ความเร็ว พร้อมทั้งติดตั้งแบริเออร์เพิ่มเติมด้วย ส่วนจะใช้งบประมาณจาก กปถ. เท่าไรนั้น จะต้องรอพิจารณาสรุปอีกครั้งต่อไป นอกจากนี้ให้ไปพิจารณากองทุนอื่นในต่างประเทศเพื่อมาสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ ทล. และ ทช. ไปสำรวจเส้นทางที่กำหนดให้ใช้ความเร็วในอัตราดังกล่าว เพื่อสร้างสะพานลอย เพื่อให้ประชาชนเดินข้าม รวมถึงรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์) และรถจักรยาน ในส่วนของรถยนต์ให้ใช้สะพานกลับรถ หรือกลับรถบริเวณสี่แยก โดยพิจารณาจากแนวทางการดำเนินการของต่างประเทศ ที่จะมีจุดกลับรถในทุกๆ 10 กม. เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ และผู้ใช้รถใช้ถนน พร้อมกันนี้จะต้องไปบูรณาการกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องของป้ายจราจร และบทลงโทษตามกฎหมาย อีกทั้งได้เตรียมว่าจ้างสถาบันการศึกษา เพื่อประเมินผลการดำเนินการ
ด้าน นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกันทางในที่ประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้กรมทางหลวงไปสรุปเส้นทางที่จะดำเนินการตามนโยบายวิ่งความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเส้นทางถนนเพิ่มเติม จากเดิมที่กรมทางหลวงเสนอไป 6 เส้นทาง โดยในวันพรุ่งนี้ (16 มี.ค.) กรมทางหลวงจะเรียกประชุมด่วนกับแขวงทางหลวง และสำนักงานเขตทางหลวงทั่วประเทศ เพื่อสรุปเส้นทางที่เหมาะสมก่อนที่จะเสนอกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งนโยบายกระทรวงคมนาคมมีความต้องการที่จะให้มีเส้นทางให้รถวิ่งทำความเร็วได้ครอบคลุมเส้นทางมากที่สุดและทั่วประเทศโดยเฉพาะถนนทางหลวงที่มีกว่า 50,000 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้วทางกรมทางหลวงจะจัดลำดับความสำคัญของเส้นทางที่จะดำเนินการ
ทั้งนี้ในที่ประชุมทางกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้มีการสรุปเส้นทางเสนอกระทรวงคมนาคมรวม 12 เส้นทาง ที่จะให้รถยนต์วิ่งทำความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. โดยทางหลวงได้เสนอเส้นทางเพิ่มอีก 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 150 กม. ประกอบด้วย
1. ทางหลวงหมายเลข 35 ตอนนาโคก-แพรกหนามแดง กม.56+000-65+000 ระยะทาง 9 กิโลเมตร กม.68+000-80+500 ระยะทาง 12.5 กิโลเมตร ซึ่งเส้นทางดังกล่าวจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในสิ้น 64 นี้
2. ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วงอ่างทอง-ชัยนาท กม.50+000-1113+000 ระยะทาง 63 กิโลเมตร ซึ่งจะเริ่มได้ต้นปี 65
3. ทางหลวงหมายเลข 2 บ่อทอง-มอจะบก เริ่มต้นที่กิโลเมตร 79+178-86+428 ระยะทาง 7.25 กิโลเมตร สามารถเริ่มได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 65
สำหรับเส้นทางที่ 4 ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วงชัยนาท-นครสวรรค์ เริ่มต้นที่กิโลเมตรที่ 113+000-150+000 ระยะทางรวม 37 กิโลเมตร สามารถดำเนินการเริ่มให้ใช้งานได้ในปลายปี 65, 5 ทางหลวงหมายเลข 3147 ช่วงเทคโนโลยีปทุมธานี-ต่างระดับเชียงรากน้อย เริ่มต้น 0+000-10+350 ระยะทางรวม 10.35 กิโลเมตร สามารถดำเนินการได้ในต้นปี 66 และ เส้นทางที่ 6 ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง-สระพระ เริ่มต้นที่ 172+000-183+500 ระยะทาง 11.5 กิโลเมตร สามารถเริ่มได้ในปลายปี 66
ด้าน นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ทช. จะมีการนำเสนอ 6 เส้นทาง ประกอบด้วย
1. ถนนนครอินทร์ นบ 1020 ระยะทาง 12.40 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่กิโลเมตรที่ 1-7
2. ถนนราชพฤกษ์ นบ 3021 ระยะทาง 51.70 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่กิโลเมตรที่ 17-42
3. ถนนวงแหวนเชียงใหม่ ทางเลี่ยงเมืองเชียงใหม่ ชม 3029 (ถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี) ระยะทาง 26.11 กิโลเมตร เส้นนี้วิ่งทั้งสาย
4. ทางหลวงชนบทถนนข้าวหลาม จังหวัดชลบุรี ชบ 1073 ระยะทาง 4.98 กิโลเมตร ซึ่งเส้นทางนี้เปิดวิ่งตลอดสาย และเส้นทางที่ 5 ทางหลวงชนบท รย.1035 จังหวัดระยอง ระยะทาง 7.47 กิโลเมตร เปิดวิ่งทั้งสาย ส่วนเส้นทางที่ 6 คือ ถนนชัยพฤกษ์
อย่างไรก็ตาม ถนนทางหลวงชนบททั้ง 6 เส้นทาง จะมีการปรับปรุงติดตั้งแบริเออร์ยางกั้นเลนถนน รวมถึงติดตั้งป้ายบอกความเร็วและความปลอดภัย โดยถนนทั้ง 5 เส้นทางจะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการให้วิ่ง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้ในปี 66 ก่อนหลัง เป็นเฟสๆ.