ปรับตัวผ่านวิกฤติ "สิงห์มอร์ตาร์" จากโรงงานฟอกผ้า สู่ ปูนสำเร็จรูป

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ปรับตัวผ่านวิกฤติ "สิงห์มอร์ตาร์" จากโรงงานฟอกผ้า สู่ ปูนสำเร็จรูป

Date Time: 11 มี.ค. 2564 17:17 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • เจ้าของปูนสําเร็จรูป "สิงห์มอร์ตาร์" เล่าจุดเริ่มต้นธุรกิจ จากโรงงานฟอกผ้า ผ่านวิกฤติมาแล้วทั้ง สงครามอ่าวเปอร์เซีย วิกฤติต้มยำกุ้ง และโควิด-19

Latest


เจ้าของปูนสําเร็จรูป "สิงห์มอร์ตาร์" เล่าจุดเริ่มต้นธุรกิจ จากโรงงานฟอกผ้า ผ่านวิกฤติมาแล้วทั้ง สงครามอ่าวเปอร์เซีย วิกฤติต้มยำกุ้ง และโควิด-19   

วันที่ 11 มีนาคม ในรายการ "เศรษฐีป้ายแดง" ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32 วันนี้ พบกับ คุณวรวิทย์ เมฆรุ่งโรจน์ เจ้าของธุรกิจ บริษัท ไวท์คลาวน์ จํากัด ผู้ผลิตปูนสําเร็จรูป "สิงห์มอร์ตาร์" ที่มีเครื่องจักรและกระบวนการผลิตที่ทันสมัย และหุ่นยนต์โรบอต มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท สามารถรองรับการผลิตได้มากกว่า 480,000 บาทตันต่อปี ตั้งอยู่ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

โดยมี "แบงค์-ศุภชาติ เมฆรุ่งโรจน์" เป็นเจเนอเรชั่นสองที่มารับไม้ต่อ เพื่อดูแลกิจการปูนสิงห์มอร์ตาร์ โดยมีการรีแบรนด์ครั้งใหญ่เมื่อปี 2561 ทุ่มงบกว่า 130 ล้าน บาท เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า

คุณแบงค์ เล่าว่า ปูนมอร์ตาร์ หรือ ปูนสําเร็จรูป คือปูนที่มีส่วนผสมที่พร้อมใช้งาน แค่เทออกมาผสมน้ําก็ใช้งานได้เลย แตกต่างจากปูนซีเมนต์ปกติที่เวลาเทออกมาต้องเอาทรายเอาหินไปคลุกแล้วค่อยผสมน้ํา จึงมีความสะดวกกว่า นอกจากนี้ยังมีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งปกติแล้วปูนทั่วไปจะยึดเกาะได้ดีกับวัสดุที่มีผิวหยาบ ไม่เรียบ ลื่น อย่างพวกอิฐมอญ อิฐบล็อก หรือเสาปูน แต่ถ้าเป็นวัสดุอย่างกระเบื้อง เหล็ก โลหะ จะไม่ค่อยยึดเกาะ แต่ปูนนวัตกรรมของเรา สามารถใช้งานกับวัสดุพวกนี้ รวมทั้งเพิ่มเรื่องความยืดหยุ่น สามารถใช้กับพื้นผิวและส่วนประกอบท่ีมีการยืดหดตัดโค้งได้

สำหรับจุดเริ่มต้นของธุรกิจ คุณวรวิทย์ เมฆรุ่งโรจน์ เล่าว่า ตั้งแต่รุ่นแม่ก็ทํางานรับจ้างตั้งแต่เป็นคนงานก่อสร้าง คนรับใช้ในบ้าน ค่อยๆ เก็บเงินจนมีทุนประมาณนึงมาเปิดร้านซ่อมไดนาโมมอเตอร์ ซึ่งคุณแม่มีลูกทั้งหมด 9 คน

หลังจากคุณแม่เปิดร้านไดนาโมแล้ว เราก็เรียนรู้งานในร้าน จนครอบครัวมีสมาชิกเพิ่มหลายคน คุณแม่ก็เริ่มมองหาธุรกิจใหม่ๆ โชคดีตอนนั้นมีญาติทําโรงงานย้อมผ้าฟอกผ้า ก็เลยหันมาทําโรงงานฟอก ผ้ายีนส์ ช่วงปี 2525 กิจการเติบโตมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2535 เกิดส่งครามอ่าวเปอร์เซีย ทำให้โรงงานได้รับผลกระทบ จึงเริ่มมองหาธุรกิจใหม่

พอดีพี่ชายมีเพื่อนทําโรงปูนก็พูดคุย แนะนํากัน เริ่มศึกษาเรื่องปูน รวบรวมเงินทุนที่เก็บไว้จากตอนทําโรงฟอกผ้ายีนส์ แบ่งเอามาทําโรงงานปูนที่ จ.ราชบุรี ซึ่งมีแหล่งหินปูน และดินเหนียว ซึ่งเป็นวัตถุดิบสําคัญในการผลิตปูน

ขณะที่ คุณแบงค์ ซึ่งเป็นพี่ชายคนโต แล้วโตมากับยุคเปลี่ยนผ่านจากโรงงานฟอกผ้ามาเป็นโรงปูน เปิดเผยว่า ตอนเด็กๆ โตมากับโรงงานผ้า แต่พอเริ่มโตเห็นการเปลี่ยนแปลงของครอบครัว จึงเลือกเรียนด้านบริหารธุรกิจ ซึ่งช่วงนั้นมีเหตุการณ์ที่ทำให้ทางบ้านเสียใจ เราเรียนไม่จบ 4 ปี ใช้เวลาถึง 5 ปี เพราะสมัยนั้นชอบเที่ยว ไม่ชอบอยู่ในห้องเรียน ทำให้เกิดความชะล่าใจ แต่มีอยู่คํานึงท่ีพ่อพูด ทําให้เราคิดได้ คือ “เวลาที่เราใช้ไป มันเรียกคืนไม่ได้” เพราะเรียนยังไงก็เรียนไม่จบ เพราะเราไม่ได้ตั้งใจ มารู้ว่าความผิดพลาดไม่ใช่สิ่งน่าอาย แต่ความผิดพลาดทำให้เราโตขึ้น หลังจากเรียนจบก็มาทำงานที่บ้าน ตั้งแต่หัดผสมปูน ฉาบปูน เพื่อให้เข้าใจ

ย้อนกลับไปช่วงที่ทำธุรกิจปูนใหม่ๆ คุณวรวิทย์ เมฆรุ่งโรจน์ เล่าว่า ตอนนั้นลำบากมาก ต้องเอาปูนไปสาธิตให้ช่างก่อสร้างกันถึงไซต์งานก่อสร้าง เพราะคนยังไม่รู้จักปูนสําเร็จรูปเหมือนทุกวันนี้ หลังจากเราเอาขนปูนไปสาธิตให้ช่างดู อธิบายถึงข้อดีจนเขารู้จัก เริ่มมองเห็นโอกาสว่าจะเอาปูนของเราไปใช้ได้อย่างไร ซึ่งก็ใช้เวลานานเป็นปี บางที่ไม่รู้จัก เขาไม่ให้เราเอาปูนไปสาธิตก็มี

สำหรับชื่อแบรนด์ "สิงห์มอร์ตาร์" มาจากตอนนั้นปูนในตลาดมีแต่ชื่อสัตว์ เสือ จระเข้ นกอินทรี เราอยากเป็นเจ้าป่า ก็เลยเป็นสิงห์ ส่วนเรื่องโลโก้มีการปรับเปลี่ยนมาหลายครั้ง จนล่าสุดมีการรีแบรนด์เป็นสิงห์ผงาด

คุณแบงค์ เล่าว่า ธุรกิจปูนของเราแบ่งง่ายๆ 2 ส่วน คือ ทําแบรนด์ของตัวเองในชื่อ ปูนสิงห์มอร์ตาร์ กับอีกส่วนนึงคือ การรับผลิตโออีเอ็มให้เจ้าอื่นๆ ซึ่ง สัดส่วนน้ีแต่ก่อนเยอะมาก เราผลิตเพื่อป้อนเจ้าอื่นๆ ถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์เลย เรียกว่าขยายโรงงานขึ้นเรื่อยๆ เพื่อป้อนตลาดในส่วนนี้ แต่หากเทียบกับเจ้าใหญ่ สัดส่วนการตลาดของเราไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเราผลิตให้เจ้าอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ เขาก็มีแนวโน้มไปสร้างโรงงานตัวเอง เราจึงต้องรีบสร้างแบรนด์ตัวเองเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงในด้านนี้ ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนของเรากลับเป็น 70-80 เปอร์เซ็นต์แทน

เมื่อถามถึงการรับมือจากวิกฤติต้มยํากุ้งในรุ่นพ่อ มาถึงวิกฤติโควิด-19 ในรุ่นลูก มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และมีการรับมืออย่างไรนั้น คุณแบงค์ กล่าวว่า ในรุ่นคุณพ่อหนักเลย ประเทศไทยล้มเป็นโดมิโนเลย ส่วนโควิด-19 โครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างเริ่มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือสร้างแบรนด์ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น และทำปูนนวัตกรรมขึ้นมาใหม่.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ