ครั้งหนึ่งในอดีตพลาสติกเปรียบได้กับของล้ำค่าที่นำความสะดวกสบายให้ชีวิตประจำวัน แต่ช่วงหลังชาวโลกต่างเห็นตรงกันว่า พลาสติกส่งผลกระทบมากมายโดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองที่สะสมจนเป็นปัญหาระดับโลก การงดใช้พลาสติกจึงกลายเป็นกระแสในสังคมโลกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงไทยต่างเร่งหาวิธีแก้ไขทั้งนโยบายจัดการขยะ การลด/เลิกใช้ถุงพลาสติก บางขุนพรหมชวนคิดวันนี้จะขอพูดถึงมาตรการในอาเซียนและก้าวต่อไปของไทยค่ะ
เมื่อมองไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนพบว่า ส่วนใหญ่เน้นนโยบายเก็บเงินค่าถุงพลาสติก โดยอินโดนีเซียเก็บเงิน 200 รูเปียห์/ถุง (ประมาณ 50 สตางค์) ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งในช่วงต้นเกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนบ้าง แต่สุดท้ายรัฐบาลก็สามารถลดปริมาณถุงพลาสติกได้จำนวนมาก ขณะที่ในปี 2562 กัมพูชาตั้งเป้าลดการใช้ถุงพลาสติกลงครึ่งนึง โดยการเก็บเงินค่าถุงพลาสติกในซุปเปอร์มาร์เกตเพิ่มเติมสำหรับลูกค้าที่ต้องการใช้ และจะทยอยเก็บเงินค่าถุงพลาสติกเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ รวมถึงมีแผนจะห้ามนำเข้าหรือผลิตถุงพลาสติกบางประเภทในอนาคต
ส่วนมาเลเซียลูกค้าที่ต้องการใช้ถุงพลาสติกจะต้องจ่าย 0.2-1 ริงกิต/ถุง (1.5-7 บาท) โดยราคาแตกต่างกันขึ้นกับนโยบายของแต่ละเมือง รวมทั้งมีการคิดแคมเปญส่วนลด เพื่อกระตุ้นการนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำมากขึ้น
สำหรับไทยหลังจากมีเสียงเรียกร้องจากหลายภาคส่วน ได้เริ่มมาตรการลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจังในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ตั้งแต่ 1 ม.ค.63 งดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว แม้จะมีการออกตัวที่ช้าไปสักหน่อยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียน แต่ก็เป็นอีกหนึ่งการเริ่มต้นไปสู่เป้าหมายการลดใช้พลาสติก และล่าสุดในช่วงต้นเดือน ก.พ.64 ครม. ได้เห็นชอบร่างแผนการจัดการขยะพลาสติกระยะแรกสำหรับปี 2563–2565 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้โรดแม็ปการจัดการขยะพลาสติกปี 2561-2573
โดยในร่างนี้มีเป้าหมายลดและเลิกใช้พลาสติก ด้วยการหันมาใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 100% ภายในปี 2565 ได้แก่ (1) ถุงพลาสติกหูหิ้ว (2) กล่อมโฟมสำหรับบรรจุอาหาร (3) แก้วพลาสติก และ (4) หลอดพลาสติก ยกเว้นการใช้ในกรณีจำเป็น เช่น การใช้กับเด็ก คนชราและผู้ป่วย เป็นต้น รวมถึงการนำพลาสติกจำพวกถุงพลาสติกหูหิ้ว ฟิล์ม ขวด ฝาขวดแก้ว กล่องอาหาร ช้อนส้อมและมีดที่เป็นพลาสติก กลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ผ่านระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ไม่น้อยกว่า 50% ภายในปี 2565 และเพิ่มเป็น 100% ภายในปี 2570 โดยมุ่งลดของเสียและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ หรือนำกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุดตลอดวงจรของสินค้าตั้งแต่กระบวนการการผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ จนถึงหลังการบริโภค
ทั้งนี้ หากปฏิบัติตามแผนดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ประมาณ 0.8 ล้านตันต่อปี และประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้กว่า 3,900 ล้านบาทต่อปี
แม้การระบาดของไวรัสโคโรนาจะส่งผลให้ความต้องการใช้พลาสติกในระยะสั้นเพิ่มขึ้นจากการใช้บริการรับ-ส่งอาหารที่มากขึ้น แต่ภายใต้โรดแม็ปการจัดการขยะพลาสติกที่ภาครัฐวางไว้ ที่ท้ายสุดเน้นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการนำพลาสติกกลับไปใช้ใหม่ทั้งหมด ต่อจากนี้ไปจึงเป็นความท้าทายในระยะยาวของผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ต้องมุ่งพัฒนาและสร้างนวัตกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ตอบโจทย์การใช้ของสังคม การออกแบบดีไซน์ การใช้วัสดุพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ การนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองต่อมาตรการกำจัดขยะพลาสติกที่จะเข้มข้นขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ค่ะ
ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **