รฟม. จับมือ BTS เดินหน้าสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย คาดเสร็จภายในปี 66

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

รฟม. จับมือ BTS เดินหน้าสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย คาดเสร็จภายในปี 66

Date Time: 23 ก.พ. 2564 19:10 น.

Video

วิเคราะห์อนาคต Google เจ้าแห่งเสิร์ชเอนจิน จะอยู่ยังไง ถ้าไม่ได้ผูกขาด | Digital Frontiers

Summary

  • รฟม. ลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ กับ กลุ่มบริษัท บีทีเอส เดินหน้าก่อสร้าง "รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย" ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี โดยพร้อมลุยทันทีคาดสร้างเสร็จในปี 2566

Latest


รฟม. ลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ กับ กลุ่มบริษัท บีทีเอส เดินหน้าก่อสร้าง "รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย" ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี โดยพร้อมลุยทันทีคาดสร้างเสร็จในปี 2566

วันที่ 23 ก.พ. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ฉบับแก้ไข กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลขนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) หรือ กลุ่มบีทีเอส

ทางด้าน นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งอย่างเต็มที่ โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีความก้าวหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของงานก่อสร้าง และงานระบบรถไฟฟ้า และเพื่อยกระดับโครงข่ายเส้นทางของระบบขนส่งมวลชนทางรางให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลจึงได้อนุมัติให้บรรจุ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ ระหว่าง รฟม. และ NBM ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน อันจะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของประชาชน

ขณะที่ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม. ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ให้เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ในรูปแบบสัญญาร่วมลงทุนฯ กับ NBM ซึ่งเริ่มดำเนินงานก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 61 และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ภายในปี 65

ในขณะเดียวกัน รฟม. ได้ดำเนินการศึกษารายละเอียดความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี พบว่าโครงการฯ ดังกล่าวนั้น เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะโดยสามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยบรรเทาปัญหาจราจรได้อีกทางหนึ่ง จึงได้เสนอโครงการฯ ตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องจนแล้วเสร็จ และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 64 ที่ผ่านมา

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี มีวงเงินลงทุนประมาณ 4,200 ล้านบาท โดยผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และกาครัฐได้รับสิทธิและผลตอบแทนที่ดีกว่าเงื่อนไขเดิม แนวเส้นทางส่วนต่อขยายมีจุดเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ที่สถานีศรีรัช ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ไปตามถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี (สถานี MT-01) และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี (สถานี MT-02) รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตรมีรูปแบบเป็นโครงสร้างยกระดับ ประกอบด้วย 2 สถานี โดยจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 37 เดือน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2567 และเมื่อโครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการ 13,785 คน/เที่ยว/วัน

ทางด้าน นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ NBM กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้น บริษัทจะเร่งให้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี 66 ราคา ตลอดเส้นทาง โดยค่าโดยสารจะจัดเก็บสูงสุดที่ไม่เกิน 42 บาท ซึ่งเป็นราคา ณ วันที่มีการลงนามสัญญาสัมปทานโครงการ แต่เมื่อเปิดให้บริการแล้วจะต้องมีการพิจารณาราคาที่ลงนามฯ ประกอบกับดัชนีราคาผู้บริโภคในขณะนั้นอีกครั้งว่าใครจัดเก็บค่าโดยสารที่เท่าไร

ส่วนปัญหาการคิดค่าแรกเข้านั้นในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองมีข้อตกลงไม่จัดเก็บค่าแรกเข้า เนื่องจากในสัญญาระบุชัดเจนว่าจะไม่เก็บเรื่องของค่าแรกเข้า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าที่มีการเชื่อมต่อเข้ามาในระบบ รถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย ยกเว้นกรณีรถไฟฟ้า ระบบอื่นจะเดินทางต่อเชื่อมเข้าสู่รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่บีทีเอส ให้บริการอยู่ในปัจจุบันจะต้องมีการเจรจาเรื่องของค่าแรกเข้าอีกครั้งในอนาคตหากจะให้มีการปรับลงหรือยกเลิกค่าแรกเข้า.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ