แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม หรือ Fair Finance Thailand เรียกร้องธนาคารแสดงจุดยืน และขอให้พิจารณายกเลิกสินเชื่อโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง
นางสาวไพรินทร์ เสาะสาย ผู้ประสานงานองค์กรแม่น้ำนานาชาติประเทศไทย และสมาชิกแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) เปิดเผยว่า แนวร่วมฯ ได้ส่งจดหมายถึงผู้บริหารธนาคาร โดยในจดหมายมีเนื้อหาเรียกร้องให้ธนาคารแสดงจุดยืนต่อโครงการเขื่อนหลวงพระบาง และขอให้พิจารณาเพิ่ม โครงการผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงสายหลัก ในรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) ของธนาคาร
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน ก.ย. 63 แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย และตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้เข้าร่วมประชุมที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อนำเสนอความกังวลและความเสี่ยงในการปล่อยเงินกู้แก่โครงการเขื่อนหลวงพระบางต่อผู้แทนธนาคาร
โดยก่อนหน้านั้นในเดือน ส.ค. 63 เครือข่ายฯ ได้ส่งจดหมายแสดงความกังวล พร้อมด้วยเอกสารแนบ ได้แก่ ความเห็นของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย กรณีเขื่อนหลวงพระบาง และความเห็นทางด้านเทคนิคของผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ต่อโครงการดังกล่าว
แต่ล่าสุดพบว่ามีการดำเนินเตรียมการก่อสร้างโครงการเขื่อนหลวงพระบางรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าเจ้าของโครงการจะยังมิได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และจนถึงปัจจุบันก็ยังมิได้ปรากฏว่ามีธนาคารพาณิชย์รายใดที่ให้การสนับสนุนทางการเงิน
ด้านนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล ตัวแทนแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม กล่าวว่า ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มเติม คือ ประเทศลาวถูกลดอันดับเครดิต เช่น สถาบัน Moody’s ลดอันดับเครดิตของลาวรวดเดียว 2 ขั้น จาก B3 เป็น Caa2 หรือเทียบเท่าระดับ junk bond
และสืบเนื่องจากธนาคารได้ประกาศว่าจะปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืน ด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Sustainable Banking Guidelines – Responsible Lending) ด้วยการปล่อยสินเชื่อที่คำนึงความเสี่ยงและผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
โดยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้ธนาคารทุกแห่ง ประกาศจุดยืนต่อโครงการเขื่อนหลวงพระบาง และโครงการผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงสายหลัก 2 ข้อหลัก คือ
1. ประกาศว่าธนาคารจะระงับกระบวนการพิจารณาการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการเขื่อนหลวงพระบาง จนกว่าบริษัทเจ้าของโครงการจะมีการแก้ไขรายงานและปฏิบัติตามข้อเสนอตามแถลงการณ์ของคณะกรรมการร่วม (Joint Committee’s Statement) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 และข้อเสนอจาก 3 ประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Reply Form)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสม และวางมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เป็นรูปธรรมก่อนที่จะดำเนินโครงการตามกระบวนการแจ้งปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA)
2. ประกาศว่าธนาคารจะเพิ่ม โครงการผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงสายหลัก ในรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) ของธนาคาร ภายในสิ้นปี พ.ศ.2564 โดยให้มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2565 เป็นต้นไป.