การรัฐประหารในเมียนมาเมื่อเช้าวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เมียนมากลับไปปกครองด้วยระบอบทหารอีกครั้ง และกลายเป็นประเด็นที่นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในเมียนมา ต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดถึงผลการประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ประเทศไทย” ซึ่งเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ได้ประโยชน์จากมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและบริการจำนวนมากย้ายฐานการผลิตสินค้าจากไทยไปยังเมียนมาเพื่อลดต้นทุนการผลิต นอกจากนั้น เมียนมายังถือเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของไทย
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาย่อมมีผลต่อเนื่องถึงธุรกิจไทย โดยเฉพาะ หากประเทศตะวันตกประกาศคว่ำบาตรทางการค้า การลงทุน และหยุดการค้าขายกับเมียนมาอย่างสิ้นเชิง
ในส่วนของภาคเอกชน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ยืนยันว่า ยังคงผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการซอติก้า รวมถึงโครงการร่วมทุนต่างๆในเมียนมาได้ตามปกติ ในขณะที่ภาคเอกชนกังวลความเสี่ยงทั้งในภาคการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน
“ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นมุมมองให้กับธุรกิจที่กำลังสนใจเข้าลงทุนในประเทศเมียนมา รวมทั้งเป็นแนวทางที่รัฐบาลต้องเตรียมการเพื่อรับมือ
@ @ @
เกรียงไกร เธียรนุกูล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
“ผมเชื่อว่า นักลงทุนต่างชาติในเมียนมา ต่างกังวลว่ารัฐประหารครั้งนี้ อาจทำให้สัญญาต่างๆ ด้านการค้าและการลงทุน ที่เซ็นไปแล้วในสมัยรัฐบาลนางอองซาน ซูจี เปลี่ยนแปลงเงื่อนไข หรือยกเลิกสัญญาสัมปทานได้ในบางโครงการ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่า จะมีผลกระทบต่อไทยอย่างไร ทั้งในด้านการเมือง การค้า และการลงทุน”
โดยปัจจุบันไทยลงทุนในเมียนมาอันดับ 6 รองจากสิงคโปร์ จีน ฮ่องกง เวียดนาม ญี่ปุ่นใน 47 โครงการ มูลค่ารวม 911.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 27,359.70 ล้านบาท (30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยมีกว่า 150 บริษัทที่เข้าไปลงทุน เช่น กลุ่ม ปตท. เอสซีจี เป็นต้น แต่ 80% ของยอดการค้า 2 ฝ่าย มาจากการค้าชายแดน
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การรัฐประหารย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในเมียนมาอย่างแน่นอน ซึ่งหลายๆ กิจการ คงต้องหยุดการลงทุนไปก่อนจนกว่าจะเกิดความชัดเจน”
แต่นักธุรกิจค้าชายแดนของไทย ยังมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ถ้าคณะรัฐประหารไม่เปลี่ยนแปลงกฎหมายด้านการนำเข้าและส่งออก ก็ไม่น่าส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปเมียนมามากนัก เพราะในอดีต เมียนมาเคยปกครองด้วยรัฐบาลทหารมาเป็นเวลานาน สินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์ไทย ยังได้รับความนิยมสูง โดยยอดการค้าชายแดนระหว่างกันเติบโตอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ยกเว้นปีที่ผ่านมาที่ลดลง 10% เพราะการระบาดของโควิด-19
ล่าสุด เมื่อมีข่าวว่าเมียนมาอาจถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ ก็ทำให้ชาวเมียนมาเร่งกักตุนสินค้า แต่ด่านการค้าไทย-เมียนมาที่สำคัญ คือ ด่านแม่สาย จังหวัดเชียงราย และด่านแม่สอด จังหวัดตาก ยังไม่มีการปิด จึงสรุปว่าตราบใดที่กฎการนำเข้าส่งออกยังเหมือนเดิม และด่านการค้ายังเปิดอยู่ การค้าขายยังคงดำเนินต่อไปเหมือนเดิม
แต่สิ่งที่น่ากังวลหลังจากนี้ คือ 1.มาตรการการคว่ำบาตรจากนานาชาติที่อาจบังคับให้ทุกประเทศหยุดค้าขายกับเมียนมา ซึ่งจะกระทบต่อไทยแน่นอน 2.การเมืองภายในเมียนมาเอง คณะรัฐประหารจะควบคุมสถานการณ์ได้เบ็ดเสร็จหรือไม่ ผู้ต่อต้านที่ออกมาประท้วงจะลุกลามไปทั่วประเทศ มีการปะทะ ปราบปรามรุนแรงหรือไม่ 3.การลักลอบเข้าไทยของแรงงานเมียนมาจะเพิ่มมากขึ้น และนำมาซึ่งความเสี่ยงสูงในการกลับมาระบาดรอบ 3 ของโควิด-19 ไทยจึงต้องเตรียมป้องกันการลักลอบขนแรงงานผิดกฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะสร้างความเสียหายอย่างมาก
“การต่อต้านของพลเรือนเมียนมาจากหลายสาขาอาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล อดีตนางงาม คนในวงสังคม รวมถึงดารา และนักร้อง ที่เชิญชวนให้ประชาชนออกมาประท้วงแบบอารยะขัดขืน ซึ่งต้องติดตามว่า จะลุกลามไปทั่วประเทศหรือไม่ ถ้ามีการปะทะกัน หรือทหารปราบปรามอย่างรุนแรง ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีก”
กริช อึ้งวิฑูรย์สถิต
ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา
การเปลี่ยนแปลงของรัฏฐาธิปัตย์ใหม่ ทุกประเทศเหมือนกัน คือ มีการเปลี่ยนกฎหมายบ้างเล็กน้อย แต่กฎหมายลงทุน และการค้าคงไม่ปรับมาก เพราะประเทศกำลังพัฒนาต้องการการลงทุนจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) การถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประเทศ เชื่อว่า เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก
แต่สิ่งที่นักลงทุนต่างประเทศกังวลคือ การแทรกแซงกิจการภายในจากชาติตะวันตก ซึ่งมองว่า การแทรกแซงมี 3 ระดับ ตั้งแต่รุนแรงน้อยไปหามาก คือ การประณาม การตัดสิทธิประโยชน์บางอย่างทางการค้า และการห้ามทุกประเทศนำเข้าและส่งออก หรือทำการค้าด้วย
สำหรับสถานการณ์ของเมียนมา มองว่า ชาติตะวันตกไม่น่าจะแทรกแซงกิจการภายในจนถึงขั้นประกาศคว่ำบาตรทางการค้า และห้ามค้าขายด้วย เพราะปัจจุบัน จีนมีอิทธิพลมากในเมียนมา ทั้งในด้านการค้า และการลงทุน เนื่องจากลงทุนในเมียนมามาก ที่สำคัญ เมียนมา เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนโยบาย Belt and Road Initiative หรือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 จึงเชื่อว่า จีนไม่ทิ้งเมียนมาแน่นอน
โดยเห็นได้จาก หลังรัฐประหารในเมียนมาเพียงไม่กี่วัน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้ประชุมเพื่อประณามเมียนมา แต่จีนใช้สิทธิวีโต้ (คัดค้าน) ทำให้เห็นว่า จีนจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา ขณะเดียวกัน สหรัฐฯเพิ่งมีรัฐบาลใหม่ และประธานาธิบดีนายโจ ไบเดน มีแนวนโยบายประนีประนอมมากกว่าสมัยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จึงคาดว่าอาจไม่คว่ำบาตรทางการค้าเมียนมา เพราะจะทำให้จีนได้ประโยชน์ในเมียนมามากขึ้น
“วันนี้ สหรัฐฯ และจีน เป็นคู่แข่งกัน สหรัฐฯคงไม่ตีงูให้กากิน เพื่อให้คู่แข่งได้ประโยชน์มากกว่า แต่ถ้าชาติตะวันตกจะใช้มาตรการใดๆ ก็น่าจะเพียงแค่การประณาม หรือตัดสิทธิประโยชน์ทางการค้ามากกว่า”
หากใช้เพียงแค่การประณามจะไม่ส่งผลกระทบใดๆกับธุรกิจไทยเลย แต่หากตัดสิทธิประโยชน์ทางการค้า ก็อาจทำให้สินค้าของผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาแล้วส่งออกไปชาติตะวันออกถูกตัดสิทธิและเสียประโยชน์บ้าง แต่การค้าขายทั่วไป หรือการค้าชายแดนน่าจะดำเนินไปได้ตามปกติ ถ้าไม่มีการปิดด่านการค้า
อย่างไรก็ตาม ภายใน 2 สัปดาห์นี้ คงต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่า ชาติตะวันตกจะใช้มาตรการใดๆ กับเมียนมาหรือไม่ แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา สภาฯได้เชิญสมาชิกมาหารือ เพื่อเตรียมมาตรการต่างๆรับมือ หากเกิดสถานการณ์ขั้นเลวร้ายถึงขั้นคว่ำบาตรทางการค้าแล้ว
“ธุรกิจไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอนถ้าถูกห้ามทำการค้ากับเมียนมา ที่ผ่านมา เมียนมามีปฏิวัติ 2 ครั้งในปี 1962 และปี 1988 และถูกคว่ำบาตรทางการค้า ขณะนั้น ธุรกิจไทยที่ทำการค้ากับเมียนมาซบเซามาก แล้วยิ่งในช่วงนี้ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ก็น่าจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ของธุรกิจไทยให้แย่ลงอีก”
อัทธ์ พิศาลวานิช
ผอ.ศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย
“ภายหลังการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่มีโอกาสที่นโยบายจะเปลี่ยนแปลง แต่ไม่น่าจะเปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก เพราะเศรษฐกิจเมียนมาเติบโตจากการค้าขาย การลงทุนของต่างชาติ ซึ่งประเด็นเศรษฐกิจน่าจะเป็นประเด็นใหญ่สำหรับเมียนมาในขณะนี้ เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด มีการว่างงานมาก และธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ปิดตัวไปมาก จึงไม่คิดว่านโยบายการค้า การลงทุนจะเปลี่ยนไปมาก”
ทั้งนี้ หากเมียนมาจะเปลี่ยนนโยบายการค้า การลงทุนขณะนี้ น่าจะมาจากเหตุผลเหล่านี้มากกว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เช่น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดช่วยให้เกิดการจ้างงาน เอสเอ็มอีเดินต่อได้ เน้นเชื่อมโยงห่วงโซ่อุตสาหกรรม และบริการมากยิ่งขึ้น รวมถึงปรับรูปแบบการถือหุ้นในกิจกรรมเศรษฐกิจใดเศรษฐกิจหนึ่ง
“หัวใจของการค้าขายระหว่างไทยกับเมียนมา คือ การค้าชายแดน ซึ่งยังดำเนินไปได้ตามปกติ แต่เมียนมาอาจมีการตรวจสอบมากขึ้น จากเหตุผลของความมั่นคง และถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายแบบหน้ามือเป็นหลังมือจริง กลุ่มธุรกิจเดิมที่ลงทุนอยู่แล้วไม่น่าจะได้รับผลกระทบ แต่อาจจะมีนโยบายให้เกิดการเชื่อมโยงกับธุรกิจของคนเมียนมามากขึ้น”
สำหรับการลงทุนที่อยู่ระหว่างการเจรจา ควรใช้โอกาสนี้รีบเข้าไปเจรจาและตกลงตามนโยบายของรัฐบาลใหม่ให้ได้ เพราะน่าจะลงทุนได้เร็วกว่าปกติ ขณะที่การลงทุนใหม่ๆที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ควรรอดูนโยบายในระยะสั้นว่ามีทิศทางเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เมื่อมั่นใจว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากแผนการลงทุนเดิม ก็รีบเข้าไปเจรจา
“ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ต้องทำแผนรับมือรัฐบาลใหม่ที่มาจากพลเรือนในอีก 1 ปีข้างหน้า ทำแผนรองรับหากเมียนมาถูกคว่ำบาตรทางการค้าในช่วง 1 ปีภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะธุรกิจไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน รวมถึงต้องพิจารณากำลังซื้อ และเศรษฐกิจเมียนมาที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาด ซึ่งจะกระทบต่อการค้า การลงทุนของไทยกับเมียนมา รวมถึงการประท้วงของคนเมียนมาที่จะกระทบต่อการทำธุรกิจของไทยได้”
การคว่ำบาตรทางการค้าถ้าเกิดขึ้นจริงน่าจะมาจากชาติตะวันตก จากการใช้มาตรการไม่ให้ หรือตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) หรือจำกัดการนำเข้าสินค้าจากเมียนมา ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของเมียนมาซบเซา กำลังซื้อของประชาชนลดลง แรงงานไหลทะลักเข้ามาไทยมากขึ้น สุดท้ายกระทบต่อการค้าขายของไทย
โดยธุรกิจไทยที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ กลุ่มที่ใช้แรงงานเป็นหลัก เช่น เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเกษตร และธุรกิจที่เกี่ยวกับการลงทุนของชาติตะวันตก เช่น ธุรกิจน้ำมัน ประกันภัย สถาบันการเงิน สื่อสาร ห้างสรรพสินค้า
อมรเทพ จาวะลา
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
“เราไม่ได้มองว่ารัฐบาลทหารเมียนมามีแนวความคิดปิดประเทศ หรือต้องการให้เมียนมากลับไปสู่ก่อนการปฏิรูปประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เรามองว่าน่าจะเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านอำนาจชั่วคราว”
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบนี้ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจของเมียนมามากขึ้น และมากกว่าธุรกิจของต่างประเทศที่ลงทุนในเมียนมา โดยกลิ่นอายของความเป็น “ชาตินิยม” น่าจะมีมากขึ้นกว่า “เสรีนิยม” ดังเช่นช่วงที่ผ่านมา
แต่ยังเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายดังกล่าวจะไม่มีผลต่อการค้าและลงทุนของไทยมากนัก เนื่องจากการลงทุนโดยตรงในเมียนมาทุกวันนี้ มาจากฝั่งเอเชียเป็นหลัก ทั้งจีน ไทย สิงคโปร์ ฮ่องกงและญี่ปุ่น เพราะความสามารถการผลิตสินค้าของเมียนมายังถูกจำกัดด้วยทุน และองค์ความรู้ ซึ่งยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
ส่วนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ น่าจะเกิดจากสหรัฐฯและยุโรปมากกว่าประเทศในฝั่งเอเชีย ที่เป็นนักลงทุนกลุ่มหลัก แต่ที่น่าห่วงคือ มุมมองจากสหรัฐฯและยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ว่า จะพิจารณาคว่ำบาตรทางการค้าเมียนมาเพื่อตอบโต้การโจมตีหลักการประชาธิปไตย
“การใช้มาตรการตอบโต้ของสหรัฐฯ อาจเป็นการไม่สนับสนุนบริษัทสหรัฐฯเข้ามาลงทุนในเมียนมา ปฏิเสธนำเข้าสินค้าจากเมียนมา ซึ่งไม่ได้เป็นมาตรการรุนแรง หากเมียนมาเปิดเผยท่าทีจะถ่ายโอนอำนาจ เมื่อครบกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี และไม่มีข้อขัดแย้งหรือความรุนแรงด้านสิทธิมนุษยชนมากนัก”
หากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป คว่ำบาตรเมียนมาแบบไม่รุนแรง เช่น ปฏิเสธการลงทุนเพิ่มเติมในเมียนมา ธุรกิจไทยจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แต่หากเป็นกรณีรุนแรง อย่างห้ามทำการค้าด้วย หรือไม่นำเข้าสินค้าจากเมียนมา ย่อมกระทบต่อการส่งออกสินค้าของเมียนมาไปตลาดสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งได้แก่ สิ่งทอ กระเป๋าเดินทาง รองเท้าหนัง พลาสติก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การส่งออกไทยไปเมียนมาได้รับผลกระทบด้วย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าขั้นต้น และขั้นกลางของไทย เพื่อผลิตและส่งออกไปสหรัฐฯและยุโรป เช่น ผ้าผืน เคมีภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ดร.อมรเทพ เห็นต่างในเรื่องภาคแรงงาน โดยมองว่า การรัฐประหารครั้งนี้ รัฐบาลทหารเมียนมาคงไม่ปฏิบัติการรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อย จึงไม่น่าจะมีแรงงานเมียนมาไหลทะลักเข้ามามากนัก
ส่วนการนำเข้าสินค้าจากเมียนมา ไทยจะได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะกว่า 70% ของมูลค่านำเข้าเป็นก๊าซธรรมชาติ (ผ่านทางท่อ) และในขณะนี้การค้าชายแดนไทย-เมียนมากลับมาเป็นปกติแล้ว แต่ในระยะยาว ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานเมียนมา ทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจไทย.
ทีมเศรษฐกิจ