ส่งตรงจากสวน ผักสดปลอดสารถึงมือผู้บริโภคในร้านเซเว่นฯ สร้างรายได้ให้เกษตรกรช่วงโควิด

Economics

Thailand Econ

ไทยรัฐออนไลน์

ไทยรัฐออนไลน์

Tag

ส่งตรงจากสวน ผักสดปลอดสารถึงมือผู้บริโภคในร้านเซเว่นฯ สร้างรายได้ให้เกษตรกรช่วงโควิด

Date Time: 8 ก.พ. 2564 15:12 น.
ไทยรัฐออนไลน์

Summary

  • ส่งตรงจากสวน ผักสดปลอดสารถึงมือผู้บริโภคในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกร โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 เงินไม่ขาดมือ

นายมานิตย์ ทิพย์ปิ่นทอง หรือ วิทย์ เจ้าของธุรกิจ SME ผักสด “สุวรรณ เอิร์ธ” ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรประเภทผักสดส่งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ปัจจุบันส่งผักวันละ 6,000-8,000 แพ็ก ขยับเพิ่มเป็น 20,000 แพ็กต่อวัน โดยส่งผัก 50 รายการ ให้เซเว่น อีเลฟเว่นประมาณ 300 สาขา เฉพาะเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และยังได้รับความช่วยเหลือจากทีมงานเซเว่นฯ ช่วยคิดไอเดียทำชุดผักพร้อมปรุงช่วยกระตุ้นยอดขายถูกใจผู้บริโภคยุคนี้

ที่สำคัญคือรับซื้อผักจากเกษตรกร 30 ราย พื้นที่รวม 200 ไร่ แบบวันต่อวัน เพื่อให้ได้ความสดใหม่ สะอาด ส่งถึงมือผู้บริโภค และยังประกันราคาให้ทั้งปี เกษตรกรสามารถเบิกเงินล่วงหน้าได้ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรเฉลี่ยเดือนละ 30,000-100,000 บาทขึ้นไป แต่ยังสร้างความภูมิใจให้ลูกหลานเกษตรกรมารับช่วงต่อเพื่อพัฒนาไร่สวนของบ้านตัวเองให้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างแข็งแรง

เกษตรกรรายเล็กยิ้มได้ ส่งผักสดขายเซเว่นมีกำไรแม้อยู่ในช่วงโควิด-19

สิ่งที่เกษตรกรไทยประสบอยู่ คือ มีไร่สวน มีผลผลิต แต่ไม่รู้จะขายใครให้ได้ราคา ออเดอร์ที่เข้ามาไม่มั่นคง ความไม่แน่นอนของตลาด เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อเกษตรกร

เช่นเดียวกับ นายมานิตย์ ทิพย์ปิ่นทอง หรือ วิทย์ ชายหนุ่มวัย 36 ปีที่ก่อนจะมาเป็นเจ้าของธุรกิจ SME ผักสด “สุวรรณ เอิร์ธ” ผู้ผลิตสินค้าเกษตรประเภทผักสดส่งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในปัจจุบัน ก็เคยได้รับผลกระทบข้างต้นมาก่อนเช่นกัน

เขาเล่าว่า “ผมเกิดและเติบโตที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พ่อแม่เป็นชาวเขาเผ่าม้ง มีอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกผักขาย เมื่อจบการศึกษา ปวส. ช่างยนต์ ราวๆ ปีพ.ศ. 2551 ก็มาช่วยครอบครัวปลูกผัก ผลผลิตที่ได้หากเป็นผักสวยๆ จะถูกพ่อค้าคนกลางคัดไป ส่วนผักไม่สวยจะนำไปขายที่ตลาด”

สามปีที่ขายผักอยู่บ้านแทบจะไร้กำไร เขาจึงมองหาช่องทางการขายอื่น โดยแรกเริ่มเขาเลือกใช้วิธีขับรถเร่ขายผักไปตามจังหวัดต่างๆ อาทิ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ระยอง ทว่าส่วนใหญ่เป็นตลาดค้าปลีก ลูกค้ากำลังซื้อน้อย จึงตัดสินใจปักหลักขายส่งผักที่ตลาดสี่มุมเมือง กรุงเทพฯ เน้นขายผักกาดขาว กะหล่ำปลี แคร์รอต บรอกโคลี พบว่ารายได้ดีกว่าส่งพ่อค้าคนกลาง โดยเฉลี่ยเดือนละประมาณ 200,000 บาท

แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังมองหาช่องทางเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ไม่เพียงแต่ให้ตัวเขาเท่านั้น แต่เพื่อสนับสนุนเกษตรกรคนอื่นๆ ให้อยู่รอดไปด้วยกัน ในปีพ.ศ. 2557 ซีพี ออลล์ให้โอกาสแก่ SME ในการเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เขาจึงมาเข้าร่วมโครงการ โดยทดลองนำผักกาดขาว กะหล่ำปลี แตงกวา แตงร้าน ต้นหอม ผักชี ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มาวางจำหน่าย

ด้วยกระแสคนไทยใส่ใจสุขภาพเลือกเข้าครัวปรุงอาหารเอง โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่คนต้องการความมั่นใจในความสะอาดและปลอดภัยของอาหารที่รับประทานเข้าไป ทำให้ยอดขายผักสดเพิ่มสูงขึ้น และมีออเดอร์ผักสดในแต่ละวันเพิ่มขึ้น

นายมานิตย์กล่าวว่า “จากเดิมส่งผักวันละ 6,000-8,000 แพ็ก ขยับเพิ่มเป็น 20,000 แพ็กต่อวัน ยิ่งได้ความช่วยเหลือจากทีมงานเซเว่นฯ ที่ช่วยคิดไอเดียทำชุดผักพร้อมปรุง เช่น ชุดต้มยำ ชุดสุกี้ ชุดผัดกะเพรา ชุดผักน้ำพริก ช่วยกระตุ้นยอดขายได้มาก เพราะลูกค้าบางคนไม่รู้ว่าแต่ละเมนูต้องใส่ผักอะไรบ้าง”

สำหรับธุรกิจ SME ผักสด “สุวรรณ เอิร์ธ” ของนายมานิตย์มีโรงงานแพ็กผักของตัวเอง ส่วนแหล่งที่มาของผัก เลือกวิธีการรับซื้อจากเกษตรกร 30 ราย จากพื้นที่รวม 200 ไร่ โดยรับซื้อผักสดวันต่อวัน เช่น กะหล่ำปลีวันละ 400 กิโลกรัม ผักบุ้ง 100 กิโลกรัม แตงร้าน 150 กิโลกรัม ยอดคะน้า 100 กิโลกรัม เป็นต้น เพื่อเน้นความสดใหม่ สะอาด ผักสวย ที่สำคัญคือเป็นผักปลอดภัยทั้งหมด ทั้งนี้จะประกันราคาให้ทั้งปี และให้เกษตรกรเบิกเงินล่วงหน้าได้ ไม่เพียงช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรคนอื่นๆ แต่ยังสร้างความภูมิใจให้ลูกหลานเกษตรกรมารับช่วงต่อเพื่อพัฒนาไร่สวนของบ้านตัวเอง

ด้านนายทนงศักดิ์ แซ่โค้ว เกษตรกร เจ้าของสวนรักสัจจะ เผยความรู้สึกที่ได้ร่วมส่งผักผ่าน “สุวรรณ เอิร์ธ” ว่า “ผมเกิดมาก็ทำสวนเลย ตั้งแต่รุ่นอาก๋ง รุ่นเตี่ย แล้วก็รุ่นผม และกำลังส่งต่อให้รุ่นลูก ผลผลิตของเราต้องได้มาตรฐาน สวยด้วย ปลอดภัยด้วย วันหนึ่งก็ส่งผักสดได้เป็นตัน ทำให้เราอยู่ได้”

ขณะที่ น.ส.จารุวรรณ แซ่โค้ว ผู้เป็นลูกสาวบอกว่า “เรามีพื้นฐานมาแล้ว เห็นป๊ากับม๊าเป็นต้นแบบ เราก็อยากสานต่อให้สวนของเราอยู่รอด ที่สวนของเราทำผักปลอดสารพิษ ดึงผักแล้วเอาไปตรวจเลยก็ไม่เคยเจอสาร มีทั้งผักบุ้งจีน กวางตุ้ง ผักกาดหอม เราส่งทุกวันอย่างต่ำก็ 100 กิโลกรัม ได้เงินตรงนี้แน่ๆ ทุกวัน”

ผลผลิตจากไร่ของเกษตรกรทุกรายต้องผ่านมาตรฐาน มีใบ GAP แนวทางปฎิบัติทางการเกษตรที่ดีและปลอดภัย และต้องตรวจสารพิษ พร้อมกับต้องทำตามระบบ GMP คือระบบรับรองมาตรฐานการปฎิบัติทางการผลิตอาหารที่ดี ปลอดภัย และมีคุณภาพ โดยได้รับคำแนะนำจาก QA หรือหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าของซีพี ออลล์เป็นอย่างดี โดยโครงการนี้ยังช่วยส่งเสริมเกษตรกรรายอื่นๆ ให้มีรายได้ที่แน่นอน

นายมานิตย์ เล่าถึงความภูมิใจนี้ว่า “เราได้พิสูจน์ตัวเอง จากเคยโดนว่าเป็นคนพื้นที่สูง พูดจาไม่รู้เรื่อง ได้รับโอกาสจากเซเว่นฯ ที่เห็นถึงความตั้งใจของเรา ให้คำแนะนำ พัฒนาคุณภาพสินค้า ทำให้สินค้าสวย ได้มาตรฐาน มีทีมงานมาสอนให้เราทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำ ทำให้วันนี้ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำไปได้ตลอด ไม่คิดว่าองค์กรใหญ่อย่างซีพี ออลล์ จะให้ความสำคัญกับเกษตรกรที่เรียนจบไม่สูง ช่วยสร้างงานที่มั่นคง มีออเดอร์ที่แน่นอน วันนี้จึงภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งให้เกษตรกร”

ปัจจุบันธุรกิจ SME ผักสด “สุวรรณ เอิร์ธ” ส่งผักให้เซเว่น อีเลฟเว่น ประมาณ 300 สาขา เฉพาะเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล โดยส่งผัก 50 รายการ มีผักสดที่ขายดี ได้แก่ แตงร้าน แตงกวา กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน จากการสนับสนุนของซีพี ออลล์ในโครงการนี้ จึงช่วยให้เกษตรกรฐานรากมีรายได้ที่ต่อเนื่องและยั่งยืน ตามปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน” ทั้งยังทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวก ได้รับประทานผักปลอดสารพิษที่ปลอดภัยต่อสุขภาพไปพร้อมกัน


Author

ไทยรัฐออนไลน์

ไทยรัฐออนไลน์