โควิดระลอกใหม่ทำธุรกิจ SME เสื้อผ้า ร้านค้าเบ็ดเตล็ด โรงแรม ร้านอาหาร อ่วม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

โควิดระลอกใหม่ทำธุรกิจ SME เสื้อผ้า ร้านค้าเบ็ดเตล็ด โรงแรม ร้านอาหาร อ่วม

Date Time: 27 ม.ค. 2564 15:54 น.

Video

แก้เกมหุ้นไทยตกต่ำ ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดแผนฟื้นความเชื่อมั่น | Money Issue

Summary

  • TMB Analytics ประเมินโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจ SME ร้านเสื้อผ้า ร้านค้าเบ็ดเตล็ด โรงแรม ร้านอาหาร กระทบหนักสุด โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ชลบุรีโดนอ่วมสุด

Latest


TMB Analytics ประเมินโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจ SME ร้านเสื้อผ้า ร้านค้าเบ็ดเตล็ด โรงแรม ร้านอาหาร กระทบหนักสุด โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ชลบุรีโดนอ่วมสุด 

เมื่อวันที่ 27 ม.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ระบุว่า การระบาดของโควิดระลอกใหม่ตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.63 สะเทือนไปถึงภาคธุรกิจที่เปราะบางมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตามระดับพื้นที่ควบคุมที่รัฐใช้จึงเป็นทางออกที่ช่วยลดผลกระทบไม่ให้เหมือนกับมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนเม.ย. 63

อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายและท่องเที่ยวที่แผ่วลง ส่งผลกระทบธุรกิจ SMEs ในภาคการค้า บริการและท่องเที่ยวกว่า 1.3 ล้านราย และจ้างงานกว่า 6.1 ล้านคน แม้ว่าในตอนนี้ภาครัฐจะได้ออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

โดยการกระตุ้นการจับจ่ายผ่านโครงการเราชนะ และโครงการคนละครึ่ง ซึ่งเป็นการช่วยเหลือ Micro SMEs ในส่วนที่เป็นร้านค้าย่อย และกลุ่มคนทำงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ยังไม่ได้ครอบคลุมไปถึงกลุ่ม SMEs ที่เป็นนิติบุคคลและอยู่ในระบบภาษี ซึ่งมีจำนวนอยู่ 1.1 แสนราย และจ้างงานกว่า 2.5 ล้านคน

สำหรับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิดในช่วงไตรมาสแรกของปี 64 คาดว่าจะทำให้รายได้ของธุรกิจ SMEs ภาคการค้าบริการและท่องเที่ยวทั่วประเทศรวมลดลงกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท โดยจะมีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบถึง 1.3 ล้านราย มีการจ้างงานรวมกันกว่าอยู่ 6.1 ล้านคน

เมื่อแยกพิจารณาตามพื้นที่มาตรการควบคุมการระบาด พบว่ากลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุด รายได้จะลดลงประมาณ 2.20 หมื่นล้านบาท มี SMEs ที่ได้รับผลกระทบราว 5.7 แสนราย มีการจ้างงานกว่า 3.4 ล้านคน ขณะที่กลุ่มพื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวังสูง จะลดลง 2.7 และ 2.2 พันล้านบาท และมีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบกว่า 2 แสนราย และ 5.7 แสนราย ตามลำดับ

จากโครงสร้างธุรกิจ พบข้อสังเกตว่าในพื้นที่ควบคุมสูงสุด กลุ่ม SMEs นิติบุคคลที่อยู่ในภาคการค้าบริการและท่องเที่ยว มีบทบาทสำคัญในการจ้างงานถึง 1.8 ล้านคนหรือคิดเป็น 55% ของการจ้างงาน SMEs ในพื้นที่ ส่วนกลุ่มพื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวังกลุ่มธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลมีสัดส่วน 20-27% ของการจ้างงานเท่านั้น

TMB Analytics ประเมินว่าธุรกิจที่จะถูกกระทบหนักสุด 

- ธุรกิจร้านขายปลีกเสื้อผ้า รายได้ลดลงกว่า 5 พันล้านบาท

- ร้านค้าเบ็ดเตล็ด รายได้ลดลง 4.7 พันล้านบาท

สาเหตุที่ธุรกิจ ร้านค้าปลีกเสื้อผ้า ร้านค้าเบ็ดเตล็ดได้รับผลกระทบมากลำดับต้นๆ เนื่องจากมีผู้ประกอบจำนวนการมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ

- ธุรกิจโรงแรม ที่พัก รายได้ลดลง 3.8 พันล้านบาท

- ธุรกิจร้านอาหาร รายได้ลดลง 2.7 พันล้านบาท

เมื่อเจาะลึกลงไปในธุรกิจ SMEs ที่เป็นนิติบุคคลพบว่า ร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไปมีจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดถึง 4.6 หมื่นราย มีการจ้างงาน 3.3 แสนคน รองลงมาเป็นร้านขายปลีกเสื้อผ้ามีธุรกิจอยู่ 1.1 หมื่นรายจ้างงานอยู่ที่ 6.4 หมื่นคน ตามด้วยกลุ่มร้านอาหารและโรงแรมที่พักมีจำนวนธุรกิจ 1 หมื่นรายและ 7 พันราย มีการจ้างงานรวมกันกว่า 2.9 แสนคน

สำหรับ ธุรกิจ SMEs ในจังหวัดชลบุรีได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากมีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวมาก เนื่องจากผลกระทบดังกล่าวได้กระจายตัวไปทั่วประเทศ แต่ระดับความรุนแรงของผลกระทบกลับกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเป็นกลุ่มจังหวัดขนาดใหญ่ที่เศรษฐกิจพึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวและบริการอยู่มาก โดยประเมินว่าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมีดังนี้

1. จังหวัดชลบุรี คาดว่า SMEs จะมีรายได้ลดลง 6.2 พันล้านบาท และมีการจ้างงาน 2.46 แสนคนได้รับผลกระทบมาก เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งมีสัดส่วนภาคท่องเที่ยวอยู่ถึง 48% ของมูลค่าการค้าและท่องเที่ยวรวมกัน

2. กรุงเทพมหานคร รายได้จะลดลง 5 พันล้านบาท แม้ว่าจะเป็นจังหวัดขนาดใหญ่กว่าชลบุรีแต่มีสัดส่วนภาคท่องเที่ยวน้อยกว่าโดยอยู่ที่ 37.6%

3. สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี ได้รับผลกระทบ 1.38, 1.13 และ 1.08 พันล้านตามลำดับ

ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐส่วนใหญ่ครอบคลุมกลุ่ม SMEs รายย่อยเป็นหลัก จึงยังขาดมาตรการช่วยเหลือให้กับกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่เป็นนิติบุคคล เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีการแข่งขันสูงกับธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องยื่นมือช่วยเหลือ SMEs กลุ่มนี้ให้มากขึ้น

เช่น เพิ่มการเข้าถึงมาตรการกระตุ้นการจับจ่าย ช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงานบางส่วนเพื่อลดต้นทุนให้ธุรกิจรักษาการจ้างงานไว้จะเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงผู้ประกอบการ SMEs และแรงงานให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ