นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ว่า ได้มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบของสายการบินจากวิกฤติโควิด-19 ระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค.64 รวม 4 มาตรการ คือ 1.บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) และกรมท่าอากาศยาน หรือ ทย. ขยายระยะเวลาการปรับลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยานลง 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ 2.ทอท. และ ทย. ยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยานให้แก่สายการบินที่หยุดให้บริการชั่วคราว 3.ทอท.ขยายเวลาการปรับลดค่าบริการที่เก็บอากาศยานลง 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ 4.บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด หรือ บวท. ขยายเวลาการปรับลดค่าบริการการเดินอากาศ ลง 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ และลดลง 20% สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ขยายเวลาชำระหนี้ ค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศ จาก 15 วัน เป็น 90 วัน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือ เช่น การอนุญาตให้เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่กว่าที่กำหนดไว้เดิมสามารถเข้าเทียบท่าได้เพื่อขนส่งสินค้าในปริมาณที่มากขึ้น การผ่อนปรนการเรียกเก็บค่าบริการท่าเทียบเรือ
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า ได้หารือกับภาคีภาคเอกชน 13 สมาคม เพื่อหามาตรการปกป้องอุตสาหกรรมไมซ์ในระยะเฉพาะหน้าและเตรียมพร้อมในระยะยาว โดยได้ข้อสรุปที่จะให้ความสำคัญต่อการกระตุ้นให้เกิดการจัดกิจกรรมไมซ์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยยึดมาตรฐานความปลอดภัยสาธารณสุข และส่งเสริมให้เกิดธุรกิจในพื้นที่ต่างๆกระจายสู่ทั่วประเทศ รวมทั้งต่อยอดโครงการประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า ใช้ไมซ์เป็นเครื่องมือช่วยบรรเทาปัญหา เช่นที่ทีเส็บและภาคีร่วมกันทำเมื่อปีที่แล้วประสบความสำเร็จมาก คือมีองค์กรเอกชนจัดกิจกรรมไมซ์ 1,049 กลุ่ม มีการเดินทางของประชาชน 62,000 คน ใน 50 จังหวัด ช่วยกระจายเม็ดเงินไม่น้อยกว่า 130 ล้านบาททั่วทุกภูมิภาค.