เสียงครวญจากคนขับ-ผู้ใช้บริการ ในวันที่ “แอปเรียกรถ” กำลังจะถูกกฎหมาย

Economics

Thailand Econ

ไทยรัฐออนไลน์

ไทยรัฐออนไลน์

Tag

เสียงครวญจากคนขับ-ผู้ใช้บริการ ในวันที่ “แอปเรียกรถ” กำลังจะถูกกฎหมาย

Date Time: 19 ม.ค. 2564 06:01 น.
ไทยรัฐออนไลน์

Summary

  • ปัจจุบันมีคนขับรถส่วนบุคคลที่หันมาให้บริการส่งคนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ นับหลายหมื่นคัน ยังไม่รวมคนขับแท็กซี่จำนวนมาก ที่หันมารับงานจากแอปเรียกรถเหล่านี้

เรื่องที่คาใจ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม เกี่ยวกับนโยบายสำคัญของพรรคภูมิใจไทยที่ยังทำไม่สำเร็จ และต้องทำให้ได้ คือ บริการเรียกรถบ้านผ่านแอปพลิเคชัน หรือที่หลายคนพูดติดปากกันว่า “แกร็บคาร์” ให้ถูกกฎหมาย

ปัจจุบันมีคนขับรถส่วนบุคคลที่หันมาให้บริการส่งคนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ นับหลายหมื่นคัน ยังไม่รวมคนขับแท็กซี่จำนวนมากที่หันมารับงานจากแอปเรียกรถเหล่านี้ โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแอปเรียกรถซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดคือ Grab (แกร็บ) นอกจากนี้ ยังมีเจ้าอื่นๆ ที่เข้ามาทำตลาดเพื่อให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ รถแท็กซี่ หรือแม้แต่มอเตอร์ไซค์ อย่าง Bolt (โบลท์) แอปเรียกรถจากยุโรปซึ่งเพิ่งเข้าทำตลาดเมื่อกลางปีที่แล้ว LINE Taxi (ไลน์แท็กซี่) Bonku (บอนกุ) หรือ GoRide จาก Gojek (โกเจ็ก)

กระทรวงคมนาคม ได้จัดทำร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน แบบบริการทางเลือก พ.ศ.... เพื่อเดินหน้าผลักดันและส่งเสริมให้บริการรถส่วนบุคคลสามารถจดทะเบียนเปลี่ยนเป็นประเภทรถยนต์รับจ้างแบบถูกกฎหมาย และเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา

ดูทีท่าแล้วเหมือนจะคืบหน้า แต่ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายกลับแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มคนขับที่ให้บริการรถยนต์ส่วนบุคคลรับจ้าง และผู้โดยสารที่ดูเหมือนจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ลองมาฟังสุ้มเสียงพวกเขากัน ว่ามีประเด็นใดที่ยังเป็นห่วงกันอยู่อีก

“อมร วิริกุลเจริญ” ผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างส่วนบุคคล อธิบายเกี่ยวกับประเด็นรถยนต์ทางเลือกถูกกฎหมายนี้ว่า “ผมดีใจและรู้สึกขอบคุณมากที่กระทรวงคมนาคมพยายามผลักดันนโยบายนี้มาโดยตลอด เพราะในยุคที่ผู้คนกำลังลำบากกับเรื่องปัญหาปากท้อง กำลังเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ถือเป็นเรื่องดีมากที่ยังมีช่องทางแบบนี้ให้ทำมาหาเลี้ยงชีพ ผมเองเป็นหนึ่งในคนที่ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในการทำประชาพิจารณ์เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา อยากขอความเห็นใจหน่วยงานภาครัฐ ให้โอกาสที่ไม่ปิดกั้นจริงๆ เสียที”

ด้าน “มารุต จันทะลือ” ผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างส่วนบุคคลอีกราย กล่าวว่า การนำรถยนต์ส่วนตัวมารับจ้าง ทำให้มีรายได้เสริม สามารถเลี้ยงครอบครัวในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจแบบนี้ แต่ก็มีข้อกังวลที่เสนอในช่วงการทำประชาพิจารณ์ คือ ความพยายามในการจำกัดจำนวนหรือกำหนด “โควตา” ของรถยนต์รับจ้างแบบบริการทางเลือก ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ลองคิดดูว่าหากกำหนดโควตาขึ้นมา คนขับแกร็บต้องหายไปจำนวนหนึ่ง นอกจากหลายคนต้องไม่มีงานทำแล้ว จำนวนรถที่ให้บริการก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ แถมยังอาจนำไปสู่ปัญหามาเฟียซื้อขายโควตาก็เป็นได้ ภาครัฐควรเปิดเสรีให้กับคนขับที่ให้บริการรถส่วนบุคคล เพื่อให้ทุกคนประกอบอาชีพได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้

สำหรับความเห็นของผู้ใช้บริการที่เรียกรถผ่านแอปเป็นประจำอย่าง “สุชนา สินธวถาวร” กล่าวว่า “เคยใช้บริการแบบนี้มาตั้งแต่สมัยอยู่ต่างประเทศ ต้องยอมรับว่าบริการเรียกรถผ่านแอปทำให้ชีวิตของคนเมืองง่ายและ สะดวกสบายขึ้นมาก โดยเฉพาะคนที่อยู่ในซอยลึกๆ ไม่ได้มีรถแท็กซี่ที่เข้าถึงได้ทุกที่ แอปเรียกรถเหล่านี้ถือเป็นตัวช่วยที่ทำให้เดินทางถึงจุดหมายได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว ไม่ต้องเจอปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร หากทำให้ถูกกฎหมายก็เป็นเรื่องดี ส่วนเรื่องคนขับหลายรายออกมาเรียกร้องเรื่องระบบโควตาก็รู้สึกเห็นด้วย เพราะในช่วงเวลาเร่งด่วน หรือช่วงฝนตก แต่หากในเวลานั้นจำนวนคนขับมีไม่เพียงพอ ผู้โดยสารก็คือคนที่เดือดร้อน”

“ศิริกุล วรรณพุทธชาด” ผู้ใช้บริการอีกราย เผยว่า เรียกรถผ่านแอปเป็นประจำ เพราะตอบโจทย์ทั้งความสะดวกและปลอดภัย มีระบบตรวจสอบคนขับและเช็กเส้นทางแบบทันที แต่หลายครั้งที่เรียกใช้บริการรถบ้านผ่านแอปแล้วเจอประสบการณ์ถูกตำรวจเรียกเพราะยังผิดกฎหมาย ทำให้ทั้งเราและคนขับต้องเสียเวลา ส่วนตัวมองว่าในยุคที่ผู้โดยสารมีความต้องการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ รัฐก็ควรอำนวยความสะดวกและตอบสนองประชาชน เพื่อให้เรารู้สึกมีความมั่นใจ และสะดวกใจในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ “กมลาสน์ กุลบันลือพิชญ์” คนขับแท็กซี่ที่หันมาให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน เผยว่า “คนขับแท็กซี่บางคนอาจไม่เห็นด้วยกับการผลักดันกฎหมายนี้ กลัวว่าถ้ารถบ้านถูกกฎหมายแล้ว จะเป็นการไปแย่งงาน ส่วนตัวผมไม่ได้รู้สึกว่าจะเป็นปัญหา เข้าใจได้ว่าพวกเขาเองก็ดิ้นรนหาเลี้ยงปากท้องเหมือนกับเรา ที่สำคัญคือผู้โดยสารเองก็ต้องการทางเลือก เขาก็มีสิทธิเลือก สู้มองว่าเป็นการได้ประโยชน์กันทุกฝ่ายดีกว่า เราเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย และเทคโนโลยี การที่มีแอปเรียกรถทำให้แท็กซี่ได้เปรียบจากการที่มีช่องทางให้ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงเราได้มากขึ้นด้วยซ้ำ เรามีโอกาสหาลูกค้าได้ทั้งบนถนนและผ่านแอป”

ฟังความเห็นของคนขับรถบ้านผ่านแอป คนขับรถแท็กซี่ผ่านแอป และผู้ใช้บริการเรียกรถผ่านแอปแล้ว พวกคุณล่ะ “รู้สึกอย่างไร..?”


Author

ไทยรัฐออนไลน์

ไทยรัฐออนไลน์