ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ชี้ โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร ม.ค. 64 ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีแนวโน้มปรับราคาเพิ่มขึ้น ส่วนน้ำตาลทรายดิบ ยางพาราดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มปรับราคาลดลง
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค.64 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่
1. ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,542-8,865 บาทต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.20 - 6.07% เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวอันดับ 1 ของโลก อาจทำให้มีความต้องการข้าวขาวจากไทยเพิ่มขึ้น
2. ข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ที่ราคา 11,683-11,726 บาทต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5.38 - 5.76% เนื่องจากภาครัฐมีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร
โดยวงเงินสินเชื่อต่อตันของข้าวเปลือกหอมมะลิใกล้เคียงกับราคาตลาด และเกษตรกรได้ผลประโยชน์หากเก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเองจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท
3. ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 10,325-10,651 บาทต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.03 - 3.19% เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูการเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง
4. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.91-7.99 บาทต่อกก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.50-1.50% เนื่องจากสิ้นสุดช่วงเก็บเกี่ยวข้าวโพดฤดูฝนในเดือน ม.ค. ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของการส่งออกเนื้อสัตว์
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่
1. น้ำตาลทรายดิบนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 13.79-14.22 เซนต์ต่อปอนด์ หรือ 9.19-948 บาทต่อกก. ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 1.50-4.50% เนื่องจากคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลของบราซิลจะเพิ่มขึ้นจากปริมาณฝนที่ตกเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับความแห้งแล้ง ประกอบกับรัฐบาลอินเดียประกาศนโยบายอุดหนุนผู้ผลิตน้ำตาลของอินเดียเพื่อส่งออกมากถึง 6 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้สต๊อกน้ำตาลของโลกปรับตัวเพิ่มมากขึ้น
2. ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 56.85–57.15 บาทต่อกก. ลดลงจากเดือนก่อน 0.10–0.63% เนื่องจากปริมาณสต๊อกยางพาราของจีนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาตลาดล่วงหน้าโตเกียวปรับตัวลดลง และค่าเงินบาท มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยราคายางพาราอาจได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการถุงมือยางเพิ่มขึ้นจากโควิดระลอกใหม่ และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
3. มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.00-2.06 บาทต่อกก. ลดลงจากเดือนก่อน 0.48–3.38% เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุด ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังปี 2564 ที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค.64 มีประมาณ 18.47 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 61.81 ของผลผลิตทั้งปีการผลิต
4. ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 6.80-6.95 บาทต่อกก. ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 0.57-2.72% เนื่องจากความต้องการปาล์มน้ำมันเพื่อนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลที่คาดว่าจะลดลง จากความกังวลโควิด-19 ระลอกใหม่ภายในประเทศ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานเพื่อการเดินทางขนส่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ลดลง
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ คาดว่าราคากลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดังนี้
1. สุกร ราคาอยู่ที่ 68.83-70.00 บาทต่อกก. ลดลงจากเดือนก่อน 0.86–2.52% เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลงในแหล่งผลิตสุกรที่สำคัญ เช่น ราชบุรี และเชียงใหม่ ส่งผลให้ผลผลิตสุกรออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับการระบาดของโควิด ทำให้บางจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงเริ่มมีมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งอาจทำให้ความต้องการเนื้อสุกรของร้านอาหารและธุรกิจการท่องเที่ยวลดลง
2. กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 140.00–145.00 บาทต่อกก. ลดลงจากเดือนก่อน 3.97–7.28% เนื่องจากสถานการณ์แพกุ้งจังหวัดสมุทรสาครปิดล็อกดาวน์ ทั้งนี้ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ผู้เลี้ยงกุ้งจำเป็นต้องหาแหล่งระบายผลผลิต ทำให้มีโอกาสถูกกดราคารับซื้อ ประกอบกับความไม่มั่นใจในความปลอดภัยของอาหารทะเล อาจส่งผลให้ความต้องการในตลาดลดลง