แนะสิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกต้องปรับตัว เมื่อถึงยุคดิจิทัลเปลี่ยนโลก ธนาคารกลางใช้ "CBDC" สกุลเงินดิจิทัลผ่าน Blockchain
วันที่ 26 ธันวาคม 2563 นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และอดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา Blockchain Thailand Genesis 2020 เรื่อง สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางกับการปรับตัวครั้งใหญ่ของรัฐบาลทั่วโลก
นายสถิตย์ ได้กล่าวถึง "ยุคดิจิทัลเปลี่ยนโลก" ที่กำลังส่งผลต่อการใช้ชีวิต และการดำเนินธุรกิจ ซึ่งขณะนี้โลกได้เข้าสู่ยุคที่เรียกว่า VUCA ซึ่งมาจากคำว่า ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) ความคลุมเครือ (Ambiguity)
ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องมีการปรับเปลี่ยน เตรียมพร้อมเพื่อรองรับบริบทใหม่ได้ทันท่วงที มิฉะนั้นตัวรัฐบาลเองก็จะไม่สามารถสร้างศรัทธา และความเชื่อมั่นจากประชาชนได้ อีกทั้งจะทำให้ประเทศแข่งขันได้ยากในเวทีโลก
ขณะเดียวกัน ดอน แท็ปสก็อตต์ กูรูด้านดิจิทัลอีโคโนมี ผู้บัญญัติคำว่า "เศรษฐกิจดิจิทัล" (Digital Economy) ได้เสนอแนะรัฐบาลทั่วโลกเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล อย่างการใช้ Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือ "สกุลเงินดิจิทัล" ที่ออกโดยธนาคารกลาง
สำหรับ CBDC คือ เงินดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่ออกโดยธนาคารกลาง กำหนดให้มีมูลค่าไม่ต่างจากเงินสดที่ใช้ในปัจจุบัน หรืออาจกำหนดให้นำไปใช้ในวงจำกัดเพื่อวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน
ในทางทฤษฎีธนาคารกลางสามารถออกแบบ CBDC ในหลายลักษณะ เช่น แบบสำหรับธุรกรรมที่มีมูลค่าสูงระหว่างสถาบัน (Wholesale) เช่น การชำระเงินระหว่างสถาบันการเงิน (Interbank payment) เท่านั้น คนทั่วไปไม่สามารถใช้ได้ และแบบสำหรับธุรกรรมรายย่อย (Retail) หรือแบบที่ให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ ดังนั้น CBDC จึงมีลักษณะแตกต่างจาก Crypto หรือ สกุลดิจิทัลที่เอกชนเป็นผู้ออก เช่น Bitcoin และ Ripple
นอกจากนี้ CBDC ยังเป็นการเพิ่มบทบาทให้ธนาคารกลาง จากการใช้ บล็อกเชน (BlockChain) ซึ่งจะทำให้ทุกคนในระบบเชื่อมถึงกันโดยตรง (peer-to-peer) และระบบสามารถจดบันทึกธุรกรรมการโอน (Record & Timestamp) ของผู้ถือเหรียญแต่ละคนในระบบ (Nodes) ได้อย่างถูกต้องและโปร่งใส
สำหรับ Blockchain คือ ระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์แบบไม่ต้องผ่านตัวกลาง เช่น สถาบันการเงิน ทุกคนสามารถแชร์ข้อมูลกันได้ทั้งระบบ มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ แก้ไขข้อมูลได้ยาก
ดังนั้น ความจำเป็นที่ต้องมีธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ในฐานะผู้ทำหน้าที่รับ/โอนเงิน ปรับยอดบัญชี หรือจดแจ้งการโอนจึงหมดไป โดยระบบ BlockChain จะจดแจ้งการโอนในลักษณะกลุ่ม ซึ่งทุกคนในระบบจะจดแจ้งการโอนไปพร้อมๆ กัน โดยข้อมูลต่างๆ จะถูกรวมศูนย์ที่ธนาคารกลาง ซึ่งเท่ากับว่า ธนาคารกลางจะอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกันกับทุกคนในระบบ และอาจตรวจสอบความเคลื่อนไหวของเงินดิจิทัลทั้งระบบได้
นอกจากนี้ได้ยกตัวอย่างการใช้สกุลเงินดิจิทัลในประเทศต่างๆ เช่น สกุลเงินดิจิทัล "เอสต์คอยน์" ของประเทศสาธารณรัฐเอสโตเนีย, การประกาศทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลแบบทั่วไป (Retail) 4 เมืองใหญ่ของจีน คือ เซินเจิ้น ซูโจว เฉิงตู และเขตพัฒนาพิเศษสงอัน โดยวางเป้าหมายที่จะใช้เงินหยวนดิจิทัลแทนเงินสดทั้งหมดในอนาคต ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าหยวนดิจิทัลอาจสั่นคลอนสถานะของดอลลาร์สหรัฐที่ครองความเป็นเจ้าสกุลเงินของโลกมานานหลายทศวรรษ และเป็นสัญญาณว่าถึงเวลาของยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวแล้ว
สำหรับประเทศไทย มีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้ว ซึ่งออกโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทดลองใช้เงินดิจิทัลแล้วภายใต้ "โครงการอินทนนท์"
โดยเริ่มจากสร้างระบบต้นแบบโดยใช้เทคโนโลยี BlockChain เพื่อให้บริการการโอนเงินระหว่างธนาคารในประเทศ (Wholesale) รวมถึงบริการการโอนเงินไปยังสถาบันการเงินในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และรวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ (Corporate) เช่น เอสซีจี (SCG) โดยจะมีการให้บริการกับประชาชนเป็นการทั่วไป (Retail) ในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตามท้ายที่สุด การจัดทำสกุลเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลาง (CBDC) ไม่ว่าจะในรูปแบบใด การวางสมดุลที่เหมาะสมในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของระบบ การพิสูจน์ตัวตน และกลไกของกฎหมายกำกับดูแล เป็นเรื่องที่ผู้กำกับตรวจสอบไม่อาจมองข้ามได้.