ส่องมาตรการจัดการปัญหามลพิษของต่างประเทศ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ส่องมาตรการจัดการปัญหามลพิษของต่างประเทศ

Date Time: 21 ธ.ค. 2563 07:15 น.

Summary

  • ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือฝุ่น PM 2.5 วนกลับมาเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อชีวิตคนเมืองอีกครั้ง แม้ว่าสถานการณ์ฝุ่นในช่วงนี้จะปรับดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่อาจนิ่งนอนใจได้

Latest

“เช่าบ้าน” ดีกว่า ซื้อบ้าน จริงหรือไม่? เมื่อราคาอสังหาฯ นับวันยิ่งแพง คนรุ่นใหม่ ยากจะเป็นเจ้าของ

ธนันธร มหาพรประจักษ์ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือฝุ่น PM 2.5 วนกลับมาเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อชีวิตคนเมืองอีกครั้ง แม้ว่าสถานการณ์ฝุ่นในช่วงนี้จะปรับดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่อาจนิ่งนอนใจได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีแนวทางแก้ไขและบรรเทาปัญหานี้ บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จะขอหยิบแนวทางการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เป็น success case ของนานาชาติมาเล่าให้ท่านผู้อ่านค่ะ

เมื่อพูดถึงประเทศที่สามารถรับมือกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้ดีนั้น ประเทศจีนถือเป็นตัวอย่างอันดับต้นๆ ที่สามารถจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างอยู่หมัด โดยสาเหตุของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในจีนส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ จีนวางแผนแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเน้นไปยังต้นตอของฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะการลดมลพิษที่เกิดจากรถยนต์และภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบ เช่น การตั้งมาตรฐานยานพาหนะและการปล่อยมลพิษในภาคอุตสาหกรรมที่เข้มงวด โดยมีรถยนต์เก่าที่ถูกกำจัดไปกว่า 20 ล้านคันและโรงงานกว่า 6 หมื่นแห่งที่ถูกปิดไปหรือต้องปรับตัวให้ได้ตามมาตรฐาน การใช้ระบบป้ายทะเบียนเลขคู่-เลขคี่ของรถยนต์ที่วิ่งบนถนน และการสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนเป็นการชั่วคราวในเมืองที่มีปัญหาหมอกควัน เป็นต้น ภายใน 5 ปีหลังรัฐบาลจีนเริ่มแก้มลพิษทางอากาศอย่างจริงจังในปี 2556 ความรุนแรงของ PM 2.5 ลดลงมากถึง 25% ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ปัญหารุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

อีกประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา PM 2.5 คือ เกาหลีใต้ ที่เน้นการแก้ปัญหามลพิษที่ต้นตอของฝุ่น PM 2.5 เช่นกัน โดยปัญหาฝุ่นละอองในเกาหลีใต้มาจากการใช้ถ่านหินและควันรถยนต์ สำหรับมาตรการที่ทางการเลือกมาใช้นั้นมีตั้งแต่การห้ามรถยนต์ดีเซลรุ่นเก่าที่จดทะเบียนก่อนปี 2558 เข้ามาวิ่งในกรุงโซล การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคเลิกใช้รถยนต์ประเภทนี้เป็นการถาวร การเตรียมปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 ตลอดจนจำกัดการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนอยู่ที่ 80% เพื่อลดการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ โดยรัฐบาลเกาหลีใต้คาดว่า แผนที่วางเอาไว้จะสามารถลดปริมาณฝุ่นละอองได้ถึง 35% ภายในปี 2567

มองไปยังนอกภูมิภาคเอเชีย หลายเมืองใหญ่ในยุโรปมุ่งเน้นการลดมลภาวะทางอากาศผ่านกลุ่มนโยบายที่ชื่อว่า Clean Air Policy Package ที่เข้มข้น โดยในกรุงลอนดอนไม่ได้ห้ามรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษวิ่งเข้าเมือง แต่เจ้าของรถต้องเสียเงินประมาณ 5 หมื่นบาทต่อวันเป็นการชดเชยที่สร้างมลพิษให้กับเมือง นอกจากนี้ยังเน้นการเพิ่มจำนวนรถประจำทางที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้าแปลงรถประจำทางทั้งหมดเป็นรถไฮบริด (ใช้ทั้งระบบน้ำมันและไฟฟ้า) ภายในสิ้นปี 2564 ขณะที่เยอรมนีเน้นการสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถสาธารณะเพื่อลดปัญหาฝุ่นควันจากรถยนต์โดยไม่เก็บค่าโดยสาร รวมถึงสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างจริงจังเหมือนอีกหลายประเทศในยุโรป อย่างไรก็ดี จากรายงานคุณภาพอากาศของสหภาพยุโรป ปัญหามลพิษทางอากาศยังคงมีอยู่ในบางพื้นที่ยุโรป แต่ถือว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น

คงถึงเวลาที่ไทยต้องมุ่งมั่นแก้ไขอย่างจริงจัง มิเช่นนั้นปัญหา PM 2.5 ก็จะเหมือนกับฝันร้ายที่วนเวียนกลับมาในทุกๆสิ้นปีค่ะ

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ