ในบทความก่อนๆ เราเคยมีการพูดถึงแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ที่วิกฤติ COVID-19 จะทิ้งผลกระทบไว้กับเศรษฐกิจไทย ซึ่งเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องค่อยๆ จัดการกับแผลเป็นเหล่านี้ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับบริบททางธุรกิจและเศรษฐกิจหลัง COVID-19
นอกจากเรื่องของแผลเป็นแล้ว COVID-19 ยังจะเป็นตัวเร่งสำคัญหนึ่ง ร่วมกับสงครามการค้าและเทคโนโลยี รวมถึงการเร่งตัวของการใช้ digital technology ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตของโลก (global supply chain rearrangement) ซึ่งมีการคาดกันว่าส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนเพื่อลดความเสี่ยงการกระจุกตัวของฐานการผลิต
คำถาม คือ บริษัทที่จะย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนซึ่งมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และเล็ก และเป็นบริษัทจากหลายประเทศจะย้ายฐานการผลิตไปที่ไหน ภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะได้รับประโยชน์
จากการศึกษาของ SCB EIC ก็พบว่า เวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลบวกจากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องด้วยความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านต้นทุนค่าแรง การพัฒนาทุนมนุษย์ ที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กับจีน สิทธิประโยชน์ทางภาษี ข้อตกลงทางการค้ากับนานาประเทศ และโครงสร้างการส่งออก
ดังนั้น EIC จึงยังคงมุมมองทางบวกต่อเศรษฐกิจเวียดนามในระยะกลาง สำหรับไทย แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องเร่งยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดกันมานานแล้วแต่อาจจะยังไม่ค่อยได้ทำ (execute) กันมากเท่าที่พูด แต่มาถึงจุดนี้เราช้าไม่ได้แล้ว และ EIC ขออนุญาตชี้ถึงสัญญาณน่ากังวล 5 ข้อ เปรียบเทียบระหว่างเวียดนาม และไทยที่บ่งชี้ว่าเราต้องรีบพัฒนา
สัญญาณแรก : มูลค่า FDI เข้าเวียดนามเติบโตสูงและเข้าลงทุนในภาคการผลิตเป็นหลัก ในขณะที่ FDI เข้าไทยค่อนข้างผันผวน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ลงทุนหลักในไทยยังขยายการลงทุนในเวียดนามมากขึ้นในระยะหลัง
โดยในระหว่างปี 2010-2018 FDI เข้าเวียดนามเติบโตสูงและเข้าลงทุนในภาคการผลิตเป็นหลัก (59% ของ FDI รวม) ขณะที่ FDI เข้าไทยค่อนข้างผันผวนและเข้าลงทุนในภาคบริการเป็นส่วนใหญ่ (59% ของ FDI รวม) ในแง่ของประเทศผู้ลงทุน ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศผู้ลงทุนหลักในไทยได้เริ่มขยายการลงทุนในเวียดนาม
ในปี 2010 FDI จากญี่ปุ่นเข้าไทย (4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) มีมูลค่าสูงกว่า FDI เข้าเวียดนาม (1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ถึง 4.2 เท่า แต่ในปี 2018 สัดส่วนดังกล่าวกลับลดลงเป็น 1.4 เท่า (FDI จากญี่ปุ่นเข้าไทยรวม 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ FDI จากญี่ปุ่นเข้าเวียดนามรวม 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
นอกจากนี้ ในช่วงปี 2017-2018 ความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐฯ ส่งผลให้จีนเข้ามาลงทุนในเวียดนามมากขึ้น (มูลค่า FDI รวม 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ไทยได้รับเงินลงทุนจากจีนน้อยกว่าเกินครึ่ง (0.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
สัญญาณที่สอง : เวียดนามได้พัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกอย่างมีนัย ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างการส่งออกของเวียดนามได้พัฒนาขึ้นทั้งด้านความหลากหลายและความซับซ้อนของสินค้า รวมทั้งเพิ่มความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าหลัก ดัชนีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ (Economic Complexity Index: ECI) ของเวียดนามได้เริ่มขยับเข้าใกล้ของไทยมากขึ้น เนื่องมายอดการส่งออกสินค้าหลักที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีและสินค้าที่มีความซับซ้อนสูง โดยในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างการส่งออกของเวียดนามได้มีการพัฒนาด้านความหลากหลายของสินค้า และความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าส่งออกหลัก สะท้อนจากอันดับ ECI
ศูนย์วิจัย Harvard Growth Lab ที่ปรับขึ้นในระหว่างปี 2010-2018 (จากอันดับ 70 ในปี 2010 เป็น 52 ในปี 2018) บ่งชี้ว่าสินค้าส่งออกเวียดนามมีความหลากหลายและแพร่หลายมากขึ้น ในขณะเดียวกัน อันดับ ECI ของไทยไม่ได้ปรับขึ้นมากนักในช่วงที่ผ่านมา (จากอันดับ 26 ในปี 2010 เป็น 22 ในปี 2018)
สัญญาณที่สาม : ช่องว่างระหว่างค่าแรงไทยและเวียดนามมีแนวโน้มลดลงในระยะข้างหน้า เนื่องจากกำลังแรงงานในไทยลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับผลิตภาพแรงงานเวียดนามที่เติบโตสูงขึ้น ไทยมีต้นทุนค่าแรงต่อหน่วย (ULC) ต่ำกว่าเวียดนาม สะท้อนว่าไทยมีประสิทธิภาพด้านแรงงานเทียบกับต้นทุนที่สูงกว่า
อย่างไรก็ดี กำลังแรงงานไทยเริ่มหดตัวลงตั้งแต่ปี 2012 ตรงข้ามกับเวียดนามซึ่งกำลังแรงงานยังคงขยายตัวต่อเนื่อง (เติบโตเฉลี่ย 1.3% ต่อปีในช่วงปี 2010-2019) นอกจากนี้ ผลิตภาพแรงงานไทยยังเติบโตเพียง 3% ในปี 2019 ขณะที่ผลิตภาพแรงงานเวียดนามเพิ่มขึ้น 8.2%
สัญญาณที่สี่ : ความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามด้านทักษะทางวิชาการและวิชาชีพ คาดว่าจะพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ในบรรดาประเทศกลุ่มอาเซียน เวียดนามมีดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index: HCI จัดทำโดย World Bank) สูงเป็นอันดับ 2 ที่ 0.69 คะแนน เป็นรองเพียงสิงคโปร์ซึ่งได้ 0.88 คะแนน
ขณะที่ไทยรั้งอันดับ 4 ที่ 0.61 คะแนน โดยเวียดนามมีคะแนน HCI นำหน้าไทยมากในด้านคุณภาพผลสำเร็จทางการศึกษา สะท้อนจากคะแนนสอบซึ่งแปลงเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก (Harmonized test score) โดยไทยได้ 427 คะแนน
ขณะที่เวียดนามได้ 519 คะแนน ซึ่งความต่างของคะแนนข้างต้นส่งผลให้เวียดนามมีตัวเลขจำนวนปีการศึกษาเมื่อปรับด้วยความรู้ที่ได้จริงจากการเรียน (Learning-adjusted school year) สูงกว่าไทยเช่นกัน คือ 10.7 ปีต่อ 8.7 ปี หรือพูดง่ายๆ ว่า ภายใต้สภาพความเป็นอยู่เดียวกัน นักเรียนชาวเวียดนามอายุ 17 ปี มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพมากกว่านักเรียนไทยอยู่ 2 ปี
ในส่วนของทักษะด้านวิชาชีพ เวียดนามมีจำนวนแรงงานที่ผ่านการเรียนรู้ทักษะวิชาชีพ 4.7 ล้านคน (8.2% ของแรงงานทั้งหมด) มากกว่าจำนวนแรงงานทักษะวิชาชีพชาวไทยซึ่งอยู่ที่ 3.6 ล้านคน (9.2% ของแรงงานทั้งหมด)
สำหรับด้านอุดมศึกษา ไทยมีสัดส่วนแรงงานระดับอุดมศึกษาสูงกว่าเวียดนาม แต่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของแรงงานกลุ่มดังกล่าวถือวุฒิการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูด FDI ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
ทั้งนี้จากข้อมูลของ UNESCO เผยว่ามีชาวเวียดนามเพียง 29% เท่านั้นที่เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในปี 2016 เทียบกับ 49% ในไทย อย่างไรก็ดี แม้ว่าไทยจะมีสัดส่วนประชากรที่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยสูงกว่า
แต่ข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของไทยเผยว่ามีเพียง 23% เท่านั้นที่จบการศึกษาวิชาเอกในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือวิศวกรรมในปี 2019 โดยส่วนใหญ่จบการศึกษาด้านอื่นนอกเหนือจากด้านวิทยาศาสตร์
สัญญาณที่ห้า : เวียดนามมีข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมประเทศคู่ค้ามากกว่าไทย แม้ล่าสุดทั้งไทยและเวียดนามจะได้เข้าร่วมข้อตกลงทางการค้า RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) แต่โดยรวมเวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ที่มีผลบังคับใช้กับคู่ค้ารวม 51 ประเทศ ซึ่งมากกว่าไทยซึ่งมีข้อตกลงการค้ากับ 17 ประเทศถึง 3 เท่า
นอกจากข้อตกลงการค้าแล้ว FTA แบบพหุภาคีในระยะหลัง เช่น RCEP CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership และ EVFTA (EU-Vietnam FTA) มีตัวบทด้านการลงทุนโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้ในระยะข้างหน้า ซึ่งไทยเป็นสมาชิกแค่เพียง RCEP เท่านั้น
ประเทศไทยจึงต้องเร่งนำยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง (Execution) ยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเป็นสิ่งจำเป็นที่ได้ผ่านการถกเถียง และวิเคราะห์มาเป็นเวลานานและเป็นวงกว้าง ในด้านผลิตภาพแรงงาน ปัญหาทักษะแรงงานที่ไม่ตรงความต้องการตลาด และคุณภาพการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญในวงสัมมนาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ในช่วง 2-3 ปีล่าสุด การเพิ่มทักษะและปรับเปลี่ยนทักษะแรงงาน (Upskill and Reskill) ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดก็เป็นประเด็นสำคัญในเวทีเสวนาต่างๆ จำนวนมาก ในประเด็นของข้อตกลงทางการค้า ประเทศไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาสนธิสัญญาการค้าใหม่หลายฉบับ แต่ตราบใดที่เรายังไม่ได้นำเอายุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถไปปฏิบัติ หรือบรรลุข้อตกลงทางการค้า ผลประโยชน์จากการศึกษาก็จะไม่เกิดขึ้นจริง
บทความโดย ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ
ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
eic@scb.co.th | EIC Online: www.scbeic.com