ข้อเสนอแนะต่อบทบาทนโยบายภาครัฐเพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ข้อเสนอแนะต่อบทบาทนโยบายภาครัฐเพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย

Date Time: 14 ธ.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • งานเสวนา “Industry Transformation” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ประกอบการ นักวิชาการ และนักวิเคราะห์ และให้ได้ข้อเสนอแนะแนวทางช่วยเหลือและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างหลากหลาย

Latest

“พิชัย”หวังดึงทัพลงทุนญี่ปุ่นกลับไทย  โชว์วิสัยทัศน์บนเวทีฟอรั่มใหญ่ หนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ในห้วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดงานเสวนา “Industry Transformation” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ประกอบการ นักวิชาการ และนักวิเคราะห์ และให้ได้ข้อเสนอแนะแนวทางช่วยเหลือและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างหลากหลาย

วันนี้จึงขอตกผลึกข้อเสนอแนะสำคัญที่ได้จากการเสวนาต่อบทบาทนโยบายภาครัฐมาถ่ายทอดและชวนคิด ดังต่อไปนี้ครับ

การทบทวนและปฏิรูปกฎหมาย เพื่อลด ละ เลิกกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็น ล้าสมัย ไม่สะดวก สร้างภาระต่อการบังคับใช้และการปฏิบัติ (regulatory guillotine) : เป็นข้อเสนอแนะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมส่วนมากต่างเรียกร้องเป็นเสียงเดียวกัน โดยเฉพาะการปรับปรุงและพัฒนาระเบียบ กฎเกณฑ์ และแนวปฏิบัติที่ส่วนใหญ่มีลักษณะไม่ยืดหยุ่น ก่อให้เกิดภาระต่อภาครัฐในการบังคับใช้ และสร้างภาระต่อผู้ประกอบการในการปฏิบัติตาม

การสร้างเวทีการแข่งขันที่เป็นธรรม (fair competition) : จะช่วยให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้ผู้เล่นไม่สามารถกดดันคู่แข่งโดยใช้อำนาจเหนือตลาดได้ โดยภาครัฐสามารถออกและบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองการแข่งขันและมีมาตรการจูงใจให้ธุรกิจนอกระบบหรือผิดกฎหมายเข้ามาแข่งขันในระบบอย่างเป็นธรรมได้ ทั้งนี้ เวทีการแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 มิติ ได้แก่ 1) การแข่งขันกับผู้เล่นต่างชาติ อาทิ ธุรกิจต่างชาติขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจไทย โดยส่วนหนึ่งยอมขาดทุนเพื่อขยายส่วนแบ่งตลาด 2) การแข่งขันกันระหว่างผู้เล่นในไทย อาทิ การเปิดโรงแรมและที่พักโดยไม่มีใบอนุญาต ทำให้เกิดปัญหาอุปทานส่วนเกิน (oversupply) ในอุตสาหกรรมโรงแรมและที่พัก

การสร้างความตระหนักรู้ในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไทย (brand awareness) : ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพทัดเทียมกับบริษัทต่างชาติได้ แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางนัก โดยเฉพาะอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา ซึ่งหากภาครัฐช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าไทย จะช่วยลดการพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศได้ในที่สุด

การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนา (research collaboration) : เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถรับการสนับสนุนทุนวิจัยจากภาครัฐได้ ขณะที่การวิจัยไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ที่ผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนสูงเพียงอย่างเดียว แต่สามารถวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นฐานอื่นๆ รวมทั้งพัฒนากระบวนการผลิตสินค้า (process) ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

การบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนั้นๆ ไว้ที่ระบบเดียว (single window data platform) : ภาครัฐสามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่มีอยู่แล้วของหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นระบบ พร้อมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูลได้ อาทิ ข้อมูลทางการเกษตรอย่างครบวงจร ข้อมูลพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว

การยกระดับฐานะทางสังคมของแรงงานประเภท 3D ให้สูงขึ้น พร้อมกับการเร่งพัฒนาทักษะแรงงาน : แรงงานไทยยังคงเลือกงานและไม่ต้องการทำงานหนักประเภท 3D คือ งานสกปรก (dirty) งานอันตราย (dangerous) และงานยาก (demanding หรือ difficult) ดังนั้น ภาครัฐสามารถอุดหนุนหรือหาแนวทางเพื่อยกฐานะและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้สูงขึ้นแก่แรงงาน เพื่อให้แรงงานไทยเต็มใจทำงานเหล่านี้.

สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ