GC ชู “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ขับเคลื่อนโลก สมดุลทรัพยากรและความยั่งยืน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

GC ชู “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ขับเคลื่อนโลก สมดุลทรัพยากรและความยั่งยืน

Date Time: 14 ธ.ค. 2563 05:01 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • เมื่อโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ ถึงเวลาที่เราต้องร่วมมือกันเพื่อวันพรุ่งนี้...มาร่วมพลังขับเคลื่อน Circular in Action จากแนวคิด สู่การปฏิบัติจริง

Latest


“เมื่อโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ ถึงเวลาที่เราต้องร่วมมือกันเพื่อวันพรุ่งนี้...มาร่วมพลังขับเคลื่อน Circular in Action จากแนวคิด สู่การปฏิบัติจริงบนเวทีของ GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together”

“สโลแกน” ของงานสัมมนาใหญ่ประจำปีครั้งที่ 2 ของบริษัท ปตท.โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในฐานะผู้นำเอาแนวคิดการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มาประยุกต์ใช้ภายใต้หลักการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ในแนวคิด GC Circular Living หรือ Circular Economy ที่สามารถบูรณาการหลักการปฏิบัติเข้าสู่ทุกกระบวนการในการดำเนินธุรกิจได้

รวมถึงการจัดทำโครงการต่างๆ ที่มุ่งเน้นให้เกิดการปฏิบัติได้จริง สร้างความร่วมมือ และต่อยอดขยายผลได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมสามารถจะตอบโจทย์การดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

อย่างไรก็ตาม การนำเอาแนวคิด และหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ หรือปฏิบัติได้จริงเพื่อสร้างความร่วมมือต่อยอด และขยายผลได้อย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องเชื่อมั่นในหลักการของการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีความมั่นคงของการดำเนินการและเป้าหมายที่ชัดเจน

โดย GC มีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จากกระบวนการผลิตลงให้ได้ 20% ภายในปี ค.ศ.2030 ที่สำคัญ ต้องลดความเข้มข้นของการปล่อย GHG ต่อหน่วยการผลิตลง 52% ภายในปี ค.ศ.2050 ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการผลิต

บทบาทผู้นำทางความคิด GC สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเทของแรงกาย แรงใจ และแรงเงิน จำนวนมาก GC เชื่อมั่นว่า “แนวทางสู่ความยั่งยืนเป็นคำตอบของอนาคต ซึ่งนอกเหนือจากการสนับสนุนให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน GC จะต้องเริ่มเดินหน้าตัวตนเองก่อน

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท GC กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ให้ครอบคลุมถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั้งหมด

โดย GC ยังคงทำหน้าที่ผู้นำหลักที่มีทิศทาง ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการขยายขอบเขตการดำเนินงานบริษัทออกไปสู่คุณค่าทางอ้อม โดย GC ต้องเข้าไปมีส่วนลงทุน และสนับสนุน การนำเทคโนโลยีแบบใหม่มาพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก

นอกจากนั้น เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยังต้องมีอีกองค์ประกอบคือ Responsible Caring ในการคิดค้น พัฒนา และออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำขยะพลาสติกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การก่อสร้าง ยานยนต์ ที่เลือกใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาลงเพื่อลดพลังงาน และประหยัดต้นทุน

ส่วนองค์ประกอบสุดท้ายที่จำเป็นต้องมีคือ Loop Connecting ซึ่งหมายถึงการสร้าง และขยายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมทั้งบรรดาผู้มีส่วนได้เสียเพื่อขยายผลสำเร็จ และเชื่อมต่อธุรกิจให้ครบวงจร

จาก 3 องค์ประกอบสำคัญเหล่านี้ ยังต้องมีปัจจัยที่จะนำพาเป้าหมายไปสู่ความสำเร็จอีก 4 ปัจจัย คือ 1.Thought Leader 2.Innovation 3.Business Model และ 4.Ecosystem และในงาน GC Circular Living Symposium 2020 นี้ GC ได้นำมารวมไว้ในงานซึ่งจัดขึ้นที่สยามพารากอนทั้งหมดแล้ว

Thought Leader คือ การนำผู้นำความคิด นวัตกร และนักธุรกิจจากทั่วโลก มาร่วมแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ แนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” เพื่อขับเคลื่อนโลกด้วยกัน 2.Innovation นวัตกรรมจะช่วย สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มีสินค้าที่ผลิตด้วยแนวคิด Circular Economy ออกมาได้จริง 3.Business Model หรือการออกแบบธุรกิจสามารถพึ่งพาตนเองได้ และ 4.Ecosystem การสร้างระบบนิเวศเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนสามารถอยู่ร่วมกันได้

งานซึ่ง GC จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 นี้ มุ่งเน้นเอาแนวคิดสู่การปฏิบัติจริงตามหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน มาปรับใช้ตั้งแต่ในชีวิตประจำวัน จนถึงการดำเนินธุรกิจในงาน GC Circular Living Symposium 2020 จึงเชิญผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้จากผู้นำองค์กร และผู้ขับเคลื่อนหลักการจากหลากหลายวงการทั่วโลกกว่า 40 คน ทั้งในด้านวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน การบริหารจัดการขยะอัจฉริยะ นวัตกรรมการรีไซเคิล และอัพไซคลิง รวมถึงการผสานทักษะของชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ

ขณะเดียวกัน ยังได้เรียนรู้แนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์สุดสร้างสรรค์จำนวนมาก ตลอดจนถึงการใช้นวัตกรรม และความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 การเปลี่ยนไอเดีย เป็นธุรกิจในรูปแบบ SMEs/Startups ทั้งหมดเพื่อตอกย้ำว่า Circular Living คือ แพลตฟอร์มที่สามารถตอบทุกโจทย์ และสามารถสร้างสมดุลเพื่อความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยจุดประกายความคิดในการดำเนินธุรกิจแบบหมุนเวียน

ของที่ระลึก “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” “ความสำเร็จที่จับต้องได้”

จากงานสัมมนา ซึ่งเป็นการส่งต่อการถอดบทเรียน “สร้างสมดุลเพื่อความยั่งยืน ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน” ของ GC เราได้รับการถ่ายทอด “แนวคิดจากคนรุ่นใหม่”...ในวันที่โลกต้องการสมดุลเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนตามแบบฉบับ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งได้เริ่มลงมือต่อ “จิ๊กซอว์ตัวแรก” เพื่อต่อยอดถึง “จิ๊กซอว์” ตัวต่อๆ ไปไม่รู้จบ

น.ส.ชิดชนก ชิดชอบ ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าที่ระลึก สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งวันนี้รับหน้าที่ช่วยดูแลสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ดอย่างเต็มตัว เป็นหนึ่งใน “คนรุ่นใหม่” ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสินค้าของที่ระลึกของสโมสรบุรีรัมย์ฯ ซึ่งผลิตด้วยกระบวนการ Recycle และ Upcycling พลาสติกนั้น ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากบรรดาแฟนบอล โดยเฉพาะในส่วนของเสื้อบอล

โดยงานสัมมนาที่ผ่านมา น.ส.ชิดชนก ได้ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “Living the Circular Life” การมีส่วนร่วมของชุมชนแบบองค์รวม น.ส.ชิดชนก กล่าวว่า แนวคิดหลักคือการเติบโตร่วมกันของธุรกิจ และชุมชน ซึ่งกว่าที่จะสร้างให้คนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีความรัก และมีความเชื่อว่าหากร่วมมือร่วมใจกันก็จะพัฒนาจังหวัดให้เจริญขึ้นได้ และสามารถสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมนุมได้ ซึ่งจุดนี้ก็ใช้เวลาอยู่พอสมควร

มาวันนี้พี่น้องชาวบุรีรัมย์ทุกคนก็ได้ทำให้เห็นแล้วว่า หากมีความเชื่อและมุ่งมั่นที่จะทำ ร่วมแรงร่วมใจกันทำออกมาก็จะสำเร็จได้

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ทางสโมสรบุรีรัมย์ฯ ให้ความสำคัญคือเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมองว่าหากทุกคนปล่อยปละละเลย ก็จะเป็นปัญหาที่จะตามแก้ไขยากในอนาคต ยกตัวอย่าง ในจังหวัดบุรีรัมย์เองจะให้ความรู้กับชาวบ้านว่า เราควรมีการจัดการกับขยะที่บ้านอย่างไรได้บ้าง

ส่วนการต่อยอดสู่โครงการนี้ ร่วมกับ GC นั้น น.ส.ชิดชนก กล่าวว่า สโมสรบุรีรัมย์ฯได้ร่วมพัฒนาเสื้อฟุตบอลจากเส้นใยของขวดพลาสติก (PET) ซึ่งก็ใช้เวลาศึกษาอยู่พักใหญ่ ว่าจะทำอย่างไรให้มีคุณภาพเทียบเส้นใยผ้าได้ ซึ่งในที่สุดก็สำเร็จออกมาเป็นเสื้อทีมบุรีรัมย์ฯได้สำเร็จ โดยได้พัฒนาผลิตออกมาเป็นทั้งเสื้อที่นักกีฬาใส่ลงทำการแข่งขัน และเสื้อเชียร์ เสื้อทีม ที่จำหน่ายเป็นของที่ระลึกอีกด้วย

“ความยากในช่วงแรกๆ คือจะทำอย่างไร ที่จะลบความคิด ความรู้สึกของคน ในเรื่องของการนำขยะพลาสติกกลับมา Recycle และ Upcycling ให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่นำมาหมุนเวียนให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

แต่เมื่อผ่านเวลานั้นมาแล้ว “เสื้อฟุตบอลคอลเลกชันของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “คุณภาพของเสื้อนั้นไม่ด้อยไปกว่าการใช้วัตถุดิบจากเส้นใยผ้า โดยคุณสมบัติของเสื้อที่ผลิตจากขวดพลาสติก ให้ความรู้สึกสวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี ผ้าไม่ได้แข็งกระด้าง ผ้าแห้งเร็ว ซึ่งแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้ ก็จะพัฒนาเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆออกมาอย่างต่อเนื่อง”

“การที่เราจะเลือกใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์อะไรในเวลานี้ ควรหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยคนซื้อก็ต้องตั้งสติให้ดี ว่าซื้อไปแล้วเราใช้ประโยชน์สิ่งของนั้นจริงหรือไม่ มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด ถือเป็นการเริ่มถามที่ตนเองก่อน เป็นการสร้างจิตสำนึกให้ตนเอง ซึ่งหากทุกคนมีความรู้สึกเช่นนี้แล้ว ก็เชื่อว่าจะรับมือกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆได้” น.ส.ชิดชนกกล่าว

“สามพรานโมเดล” ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้เชิญ คนรุ่นใหม่อย่าง นายอนัฆ นวราช ผู้อำนวยการ ปฐม ออร์แกนิก ลิฟวิ่ง ที่ลงมือพัฒนาชุมชนในพื้นที่สามพราน จ.นครปฐม ให้มีความแข็งแกร่ง สามารถดูแลตนเองได้

“เมื่อเร็วๆนี้ ปฐม ออร์แกนิกฯได้ร่วมมือกับทาง GC โดยการไปช่วยพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดระยอง ให้รู้จักและหันมาทำการเกษตรในรูปแบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ผลที่ตามมาคือสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรนั้นๆได้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้”

ทั้งนี้ “เกษตรอินทรีย์” เป็นการเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี หรือพูดง่ายๆ คือการทำการเกษตรด้วยกรรมวิธีทางธรรมชาติ ทำให้ได้ผลผลิตที่ปลอดสารเคมี เป็นตัวเลือกที่ดีของผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านอาหารการกิน และรักสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันทิศทางของผู้บริโภคทั่วโลกก็ต่างหันมาให้ความสำคัญจุดนี้กันมากขึ้น

“ปฐม ออร์แกนิกฯ” ได้ริเริ่มพัฒนาพื้นที่ในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม จนเกิดเป็น “สามพรานโมเดล” มาแล้วกว่า 10 ปี เริ่มจากที่เราเป็นคนลงมือทำก่อน เพื่อทำให้คนอื่นๆ รู้ว่าทำแล้วเกิดผลอย่างไร ซึ่งปัจจุบันก็ได้เปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีการทำเกษตรอินทรีย์ และเรียนรู้ระบบวงจรฟาร์ม สำหรับผู้ที่สนใจในด้านการเกษตรต่างๆ

โดยผลิตภัณฑ์ที่ปฐม ออร์แกนิกฯ จำหน่ายจะเน้นเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ กลุ่มออร์แกนิก เป็นหลัก โดยเป็นการผลิตเอง ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าสินค้าทุกชิ้นมีคุณภาพแน่นอน ภายในปฐม ออร์แกนิกฟาร์ม ยังมีการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปให้ได้เรียนรู้ และนำกลับไปปฏิบัติจริงได้ที่บ้าน อาทิ การเรียนรู้กระบวนการทำเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่ประเภทของดิน การผสมดินปลูก การเก็บเมล็ดพันธุ์ การเพาะต้นกล้าในเปลือกไข่

รวมถึงกิจกรรมพิเศษตามฤดูกาล โดยนำผลผลิตในฟาร์มมาแปรรูปเป็นอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ไข่เค็มพอกโคลน คั่วชาสมุนไพร ตุ๊กตาฟาง ขนมจาก เป็นต้น และมีกิจกรรมเก็บผักทำอาหาร สำหรับครอบครัวนักท่องเที่ยวที่อยากมีกิจกรรมพิเศษร่วมกัน เช่น การเก็บผักออร์แกนิกสดๆมาปรุงอาหาร ผ่านเตาถ่านแบบโบราณ

ปฐม ออร์แกนิก ฟาร์ม ยังมีสอนให้เรียนรู้ในเรื่องการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ โดยเศษอาหารทุกส่วนจะถูกนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อหล่อเลี้ยงต้นไม้ต่อไป ซึ่งถือเป็นการวนสู่วัฏจักรของเกษตรอินทรีย์ เราจะพัฒนาระบบที่สามารถตรวจได้ว่า ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร มาจากสวนไหน เกษตรกรคนใดปลูก วัตถุดิบที่ได้เป็นอย่างไร เป็นการสร้างความสบายใจให้ผู้บริโภคตรวจสอบในสินค้านั้นๆได้

“สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่การเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเป็นการทำงานทั้งระบบตั้งแต่ ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ มีการรับซื้อผลผลิตการเกษตร สมุนไพร จากเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งนี้ก็จะทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายเกษตรกรที่แข็งแกร่ง สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้”

และในช่วงประมาณต้นปี 2564 จะเป็นโมเดลใหม่เกิดขึ้น คือการร่วมมือกันระหว่างจังหวัดนครปฐมกับระยอง เพื่อพัฒนาประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่และประเทศชาติ โดยจะเป็นการดึงจุดเด่นจุดแข็งของแต่ละพื้นที่ ว่าใครแกร่งในเรื่องใด มาแชร์ความรู้ให้กัน และร่วมกันลงมือทำสิ่งต่างๆให้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้

“ส่วนตัวผมมองว่าต้องเริ่มที่ตนเองก่อน จากนั้นก็ขยายไปสู่การหาพันธมิตรที่มีแนวคิดเดียวกัน โดยอย่างของปฐม ออร์แกนิกฯ กลุ่มพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่คือพันธมิตร จากนั้นก็ค่อยๆขยายความร่วมมือกันกับพันธมิตรอื่นๆ เพื่อช่วยกันต่อยอดความสำเร็จในอุดมการณ์ที่มีร่วมกันต่อไป” นายอนัฆกล่าว

***********

และบทสรุปที่ได้ “พลาสติก” จะไม่ใช่ผู้ร้าย หรือตัวร้ายอย่างที่ทุกคนคิดอีกต่อไป หากมนุษย์เรารู้จักใช้อย่างมีสติ และจัดการในรูปแบบที่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน การเติบโตอย่างยั่งยืน และเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถทำได้จริงเพียงต้องใช้ “ความร่วมมือ” อย่างจริงจัง ซึ่งสร้างผลดีทั้งกับบริษัท ชุมชน ประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือ “ตัวเราเอง”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ