กฤษฎีกาตีความกฎหมายให้ใคร? เพื่ออะไร?

Economics

Thailand Econ

ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวประชาสัมพันธ์

Tag

กฤษฎีกาตีความกฎหมายให้ใคร? เพื่ออะไร?

Date Time: 9 ธ.ค. 2563 10:43 น.

Summary

  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งหากสืบย้อนไปอาจกล่าวได้ว่า ต้นกำเนิดของสำนักงานฯ

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งหากสืบย้อนไปอาจกล่าวได้ว่า ต้นกำเนิดของสำนักงานฯ มีมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงมี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน” ขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ เพื่อเป็นองค์กรถวายคำปรึกษาแก่พระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดิน การร่างกฎหมาย และการพิจารณา เรื่องที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อน และได้มีการปรับปรุงโครงสร้าง อำนาจ หน้าที่ ตามยุคสมัยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

คนทั่วไปมักรู้จักสำนักงานฯ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมาย หรือที่เรียกกันว่า “ตีความกฎหมาย” ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญ นอกเหนือจากภารกิจด้านการร่างกฎหมาย แต่มีน้อยคนที่จะทราบว่าสำนักงานฯ ไม่ได้รับพิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายหรือตีความกฎหมายให้กับทุกคน ทุกหน่วยงาน หรือทุกเรื่อง การพิจารณาให้ความเห็นต้องเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าด้วยการรับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมายของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยมีความมุ่งหมายของการให้ความเห็นทางกฎหมาย ดังนี้

๑) เป็นการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติราชการของหน่วยงานของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นกรณีที่ไม่เข้าใจตัวบทกฎหมาย หรือเป็นการขอให้วินิจฉัยแนวทางในการปฏิบัติราชการให้เป็นไปโดยถูกต้อง
๒) เป็นการวางระเบียบปฏิบัติราชการ
๓) เป็นการวินิจฉัยข้อโต้แย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐให้เป็นที่ยุติ

สำหรับผู้ที่จะขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมายได้ ได้แก่

๑) คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี
๒) กระทรวง ทบวง กรม
๓) รัฐวิสาหกิจ
๔) คณะกรรมการซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเฉพาะเรื่อง โดยผ่านทางกระทรวง ทบวง กรม ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการนั้นๆ
๕) ผู้ว่าราชการจังหวัด เฉพาะปัญหาตามกฎหมายที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่ต้องปฏิบัติหรือรับผิดชอบ
๖) คณะผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือประธานสภาท้องถิ่น เฉพาะปัญหาตามกฎหมายที่คณะผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือประธานสภาท้องถิ่น มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ หรือรับผิดชอบ
๗) ผู้ซึ่งคณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี เห็นสมควรให้ขอความเห็นทางกฎหมายเป็นการเฉพาะราย

แล้วเรื่องใดบ้างที่จะรับไว้หรือไม่รับพิจารณา

เรื่องที่จะรับไว้พิจารณา จะต้องเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือเป็นการให้ความเห็นเกี่ยวกับการกู้เงินต่างประเทศและการออกพันธบัตร

เรื่องที่ไม่รับไว้พิจารณา ได้แก่
๑) เรื่องที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนการบริหารราชการแผ่นดิน
๒) เรื่องที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีความเห็นไว้แล้ว
๓) เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล
๔) เรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสถาบันอื่นอยู่แล้วตามกฎหมาย และคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า สมควรให้มีการดำเนินการตามขั้นตอนอื่นก่อน เพื่อประโยชน์แก่การบริหารราชการแผ่นดิน
๕) เรื่องซึ่งหากให้ความเห็นแล้วจะมีผลกระทบในทางการเมืองหรือการต่างประเทศ

การให้ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นการวินิจฉัยเฉพาะในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายและเฉพาะประเด็นที่หน่วยงานของรัฐ ผู้รับผิดชอบกฎหมายได้หารือเท่านั้น ไม่วินิจฉัยนอกประเด็น โดยในการให้ความเห็น ทางกฎหมายนั้น จะเป็นการให้ความเห็นทางกฎหมายที่อยู่บนพื้นฐานของหลักกฎหมาย และความเห็นนั้นเป็นการให้คำปรึกษา ไม่ใช่การวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีอย่างศาล และที่สำคัญการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกายึดหลักความเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมายเป็นประการใดแล้ว ให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๒


Author

ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวประชาสัมพันธ์