ทำไมเมืองไทยหมดเสน่ห์ลงทุน?

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทำไมเมืองไทยหมดเสน่ห์ลงทุน?

Date Time: 3 ธ.ค. 2563 05:03 น.

Summary

  • ทำไม เมืองไทยหมดเสน่ห์ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ? เป็นคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่งในยามนี้ โดยเฉพาะ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนที่จะสายเกินไป

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ทำไม เมืองไทยหมดเสน่ห์ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ? เป็นคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่งในยามนี้ โดยเฉพาะ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนที่จะสายเกินไป ในช่วง 6 ปี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ครองอำนาจ รัฐบาลออกไปโรดโชว์เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ มีการริเริ่มโครงการ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ แต่นักลงทุนต่างชาติก็ไม่เข้ามาลงทุนเสียที

ฤาประเทศไทยจะหมดเสน่ห์ในสายตาของนักลงทุน? เป็นคำถามที่ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ รองหัวหน้าสายงานวิจัย บล.เกียรตินาคินภัทร ถามในบทความที่ลงในหนังสือ OPTIMISE ฉบับเดือนตุลาคม 2563

ดร.พิพัฒน์ ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิไปกว่า 260,000 ล้านบาท มองผิวเผินอาจเป็นไปได้ว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่นักลงทุนต่างชาติไม่ได้เพิ่งมาทิ้งหุ้นไทยตอนมีโควิด-19 ถ้าดูตัวเลขย้อนกลับ นักลงทุนต่างชาติเริ่มขายทิ้งหุ้นไทยมาตั้งแต่ปี 2013 (พ.ศ.2556 ปีที่ กปปส. ชุมนุมขับไล่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จน นำไปสู่การปฏิวัติของ คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ) โดยยอดขายสะสมในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาสูงกว่า 900,000 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติลดลงจาก 37% ในปี 2556 เหลือ 26% ในปัจจุบัน นักวิเคราะห์เก็งมาปีแล้วปีเล่า นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาซื้อหุ้นไทยอีก แต่ต้องเจอความผิดหวังมาตลอด

ประเด็นที่น่าคิดก็คือ อะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ไทยหมดความน่าสนใจในสายตาของนักลงทุนต่างชาติกันแน่? เพราะการตัดสินใจของนักลงทุนระหว่างประเทศที่มีทางเลือกลงทุนทั่วโลก สามารถสะท้อนถึงศักยภาพการเติบโตของประเทศหนึ่งๆได้

ดร.พิพัฒน์ ระบุว่า ตัวเลขที่น่าเป็นกังวลยิ่งกว่าก็คือ การลงทุนโดยตรงของต่างชาติในไทย ที่เรียกว่า FDI (Foreign Direct Investment) ที่กำลังปรับตัวลดลงเรื่อยๆเช่นกัน ในอดีตไทยถือเป็นประเทศจุดหมายปลายทางของบริษัทข้ามชาติอันดับต้นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ แต่ระยะหลังมานี้เริ่มเปลี่ยนไป ช่วงปี 2001– 2005 ไทยเคยมีสัดส่วนการลงทุนราว 44% ของ FDI ที่เข้ามาในอาเซียน แต่สัดส่วนนี้ลดลงเรื่อยๆ จนปี 2016–2018 เหลือเพียง 14% เท่านั้น ตามหลัง เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สาเหตุนี้น่าห่วงยิ่งกว่าต่างชาติขายหุ้นเสียอีก

ผมเปิดดูข้อมูล BOI 9 เดือนแรกปีนี้ไทยมี FDI เพียง 118,504 ล้านบาท –29% จากปีก่อน ที่น้อยอยู่แล้ว เป็นเงินต่างชาติ 100% เพียง 59,700 กว่าล้านบาท ที่เหลือร่วมทุนกับไทย แต่ 6 เดือนแรกปีนี้เวียดนามดูดเงิน FDI ไปแล้ว 15,670 ล้านดอลลาร์ รวม 478,000 ล้านบาท

ดร.พิพัฒน์ ได้ตั้งคำถามชวนคิดว่า “ทำไมเมืองไทยไม่ “เนื้อหอม” เหมือนเก่า” โดยให้ย้อนดูตัวเลขเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยลดการลงทุนจากไทย จีดีพีไทยโตเพียง 3% จากที่เคยโต 5% หลังวิกฤติต้มยำกุ้งจนถึงปี 2012 เป็นประเทศที่โตต่ำสุดในกลุ่มอาเซียน 5 กำไรบริษัทจดทะเบียนก็ลดลงเกือบ 30% เมื่อเทียบกับปี 2556 ในขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียลดลงเพียง 12% และตลาดสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 35% ในเวลาเดียวกัน

ดร.พิพัฒน์ ระบุเหตุผลจากการวิเคราะห์สรุปได้ว่า สาเหตุหลัก มาจากผลตอบแทนที่ต่ำ จากการที่ตลาดในประเทศไม่โต การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ประชากรที่ลดลง ความเหลื่อมล้ำรายได้ที่สูง กฎเกณฑ์ที่ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการแข่งขันเสรี ธุรกิจรายใหญ่ใช้ประโยชน์จากนโยบายรัฐ แม้ไม่ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพก็ยังเติบโตได้เรื่อยๆ ฯลฯ เหล่านี้คืออุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ประเทศไทยไม่มีเสน่ห์ในสายตานักลงทุนต่างชาติ

ความไร้เสน่ห์เหล่านี้ เกิดขึ้นในช่วง 6–7 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ผลงานใครไปไล่ดูได้ ถ้ารัฐบาลไม่รีบแก้ไขด่วนที่สุด อีกไม่กี่ปีไทยก็จะถูก เวียดนาม ทิ้งห่างไปจนไม่เห็นฝุ่นแน่นอน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ