เมื่อเร็วๆนี้ มีการปฏิวัติวงการนวัตกรรมทางด้านพลังงานขึ้นในบ้านเรา นั่นคือการที่ ปตท.กรุ๊ป ได้รับการรับรองในการ เปิดจดทะเบียนธุรกิจพลังงานทั้งในและต่างประเทศ ที่จะลงทุนด้านพลังงาน ซึ่งเป็นประเทศแรกและแห่งแรกในอาเซียน มุ่งไปสู่การเป็น ฮับ ด้านพลังงานในภูมิภาคนี้
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์ที่มีตลาดน้ำมันขนาดใหญ่ ประเทศไทยก็กำลังปรับทิศทางและเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางทางด้านพลังงาน มีการเน้นเรื่องของพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน ในสัดส่วนที่มากขึ้น จะเห็นจากนโยบายส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น
นอกจากเรื่องของสิ่งแวดล้อมแล้ว การกระจายความเจริญไปสู่ชุมชน ก็เป็นเป้าหมายของรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่รอการอนุมัติมาเป็นแรมปี
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ได้ลงมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา ตามแนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนฯ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 กำหนดกรอบการรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ที่ 1,933 เมกะวัตต์ ในปี 2563-2567 โดยจะเริ่มที่ 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์ โดยรับซื้อจากโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ
ทั้งนี้ จะมีการเปิดประมูลแข่งราคากัน ที่เพดานราคา 4.2-4.8 บาทต่อหน่วย ในส่วนของภาคเอกชนที่เสนอโครงการ จะได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์ อาทิ การให้หุ้นบุริมสิทธิ ร้อยละ 10 ให้กับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้กับโรงไฟฟ้า หรือประโยชน์อื่นตามที่ตกลงกัน ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมต่อไป
กระทรวงพลังงานจะมีเป้าหมายในการรับซื้อตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม โครงการโรงไฟฟ้าประเภทเร่งด่วน หรือ Quick Win กำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ที่มีอยู่เดิมในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จะแปลงเป็น โรงไฟฟ้าขยายผล ด้วยการเปิดประมูล นำโควตาจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm ที่ถูกยกเลิกเพราะเกินกำหนดการลงนามซื้อขายมาเป็นโรงไฟฟ้าขยายผลแทน
ไม่เกินต้นปี 2564 จะมีการออกเอกสารเชิญชวน ประมาณเดือน มี.ค. ปี 2564 จะรู้ผลว่าเอกชนรายใดจะชนะการประมูล ทั้งหมดนี้จะต้องลุ้นว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เป็นโครงการนำร่อง ถ้าประสบความสำเร็จก็จะเดินหน้าต่อไป เพราะคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือคนในชนบท ที่จะสร้างรายได้ และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ที่ผ่านมาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน หรือโรงไฟฟ้าสหกรณ์มีปัญหาเรื่องของการแทรกแซงจากภายนอก ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แตกต่างจากโรงไฟฟ้าชุมชนในต่างประเทศ ที่ปล่อยให้คนในชุมชนช่วยกันบริหารจัดการ นอกจากสร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว รัฐยังจะได้ประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมเต็มเม็ดเต็มหน่วย.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th